ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 21 ส.ค. 2567 ยังคงมีมติไม่เป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อเนื่อง เพราะ กนง. ส่งสัญญาณในการประชุมรอบที่แล้วว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาว อีกทั้งสามารถรองรับความเสี่ยงด้านบวกและด้านลบได้ในระดับหนึ่ง
ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ การสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน การเข้าสู่สังคมสูงอายุและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งนโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพขยายตัวต่ำลง
ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มยังอยู่ในระดับต่ำ แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% ในไตรมาส 4 ปี 2567 โดยส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2567 อยู่ที่ราว 0.8%
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้น้ำหนักว่า กนง. จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ไปตลอดทั้งปีนี้ แต่ก็มองความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในไตรมาส 4 ปี 2567 มีสูงขึ้น
เนื่องจาก ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed (เฟด) อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่เคยคาดไว้ โดยล่าสุดตลาดมองว่า เฟด อาจปรับลดดอกเบี้ยถึง 100 basis points (1%) ในปีนี้ หลังตัวเลขตลาดแรงงานและเงินเฟ้อออกมาอ่อนแรงลง ซึ่งคงส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เผชิญแรงกดดันให้มีแนวโน้มอ่อนค่า และค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า
ประกอบกับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ท่ามกลางความเสี่ยงที่มากขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลง สะท้อนจากดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังปรับลดลงต่อเนื่อง
ด้าน วิจัยกรุงศรี คาดการณ์เหมือนกันว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ในการประชุมวันที่ 21 ส.ค. นี้ และมีแนวโน้มที่จะตรึงไว้ในช่วงเหลือของปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567
ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวเข้าสู่ระดับศักยภาพ และอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ประเมินไว้ ซึ่ง ธปท.กล่าวถึงความจำเป็นในการใช้นโยบายแบบเจาะจงเป้าหมาย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาคการผลิตที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง และเผชิญการแข่งขันจากต่างประเทศที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ความเห็นดังกล่าวของ ธปท. บ่งชี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นนโยบายผ่อนคลายแบบวงกว้าง จึงยังไม่น่าจะเป็นเครื่องมือหลักในการหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้
สำหรับ อัตราเงินเฟ้อแม้จะขยับขึ้นเข้าใกล้ขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย ธปท. ที่ 1-3% แต่ วิจัยกรุงศรี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. อาจชะลอลง เนื่องจากผลของฐานที่สูงในเดือนเดียวกันกับปี 2566
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ วิจัยกรุงศรียัง คงคาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2567 ไว้ที่ 0.7% โดยแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอน และการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาพลังงานในประเทศที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ล่าสุดทางการขยายเวลาตรึงเพดานราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 33 บาทต่อลิตร จนถึงสิ้นเดือน ต.ค. นี้
ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, วิจัยกรุงศรี
กนง.เพิ่มน้ำหนักคงดอกเบึ้ย มีมติ 6 ต่อ 1
27 ปีลอยตัวค่าเงินบาท โจทย์เศรษฐกิจยิ่งยุ่งยาก
ส่องประเทศพัฒนาแล้ว ทำไมหนี้ครัวเรือนไทยจึงน่ากลัว