ศาสตราจารย์มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ วิพากษ์หลายนโยบายของรัฐบาลไม่สมเหตุสมผล โดยเห็นว่าคนไทยจำเป็นต้องสนใจนโยบาย เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับทุกคน ขณะที่เตือนฝ่ายดำเนินนโยบายว่าต้องชี้แจงให้คนเข้าใจ โดยเฉพาะบางนโยบายถึงทางตันก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าทำไมถึงทำไม่ได้
Policy Watch มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษในช่วงเวลาที่จะครบ 1 ปีของรัฐบาลภายใต้แกนนำอย่างพรรคเพื่อไทย โดยมีเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมา ศาสตราจารย์มิ่งสรรพ์ ซึ่งได้ติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด มีมุมมองต่อนโยบายรัฐบาลที่น่าสนใจ ดังนี้
ทำไมคนไทยต้องให้ความสำคัญนโยบายสาธารณะ
นโยบายสาธารณะเกี่ยวข้องกับชีวิตคน เพราะ 1.ประชาชนเป็นคนจ่ายภาษี จึงควรจะรู้ว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ 2.นโยบายสาธารณะกระทบต่อชีวิตเราตั้งแต่ลืมตาตื่น เดินไปเข้าห้องน้ำเจอยาสีฟัน ก็เป็นนโยบายเกี่ยวกับสินค้า ผู้บริโภค เดินออกจากบ้านขึ้นรถเมล์ก็เป็นนโยบายความปลอดภัย เพราะฉะนั้นนโยบายอยู่ในทุกสิ่งที่เราทำ ถ้าเราไม่สนใจ วันหนึ่งตื่นขึ้นมาก็จะค้นพบว่าเราไม่ชอบนโยบายไหน เรากินข้าวเรายังกลัวเจอข้าวเก่า 10 ปี เลย เราต้องเข้าใจนโยบายสาธารณะ มันกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยในชีวิตเรา
เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่ว่า:
- เราเป็นเจ้าของเงิน คุ้มค่าหรือไม่
- ถ้าไม่คุ้มค่า เราจะเสียเงินเปล่า
- เราเสียโอกาสที่เราจะเอาเงินดังกล่าวไปทำสิ่งที่ดีกว่า
นโยบายสาธารณะอยู่รอบตัวเราหมด นโยบายเป็นเรื่องของรัฐบาล มันไม่ใช่ นโยบายเป็นเรื่องของเรา เพราะในที่สุดเราเป็นคนที่เจ็บปวดเมื่อมีอะไรเกิดขึ้น เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่มีนโยบายสาธารณะที่จะจัดการฝุ่นดังกล่าว เทศบาลทำได้เพียงพ่นน้ำ เป็นการเยียวยาชั่วคราว ทำไมไทยถึงจัดการ PM 2.5 ไม่ได้ เพราะต้องมองปัญหาเป็นระบบ แต่ไทยกลับมองแยกเป็นเรื่อง ๆ “ไม่มีเงิน แจกเงิน ไม่มีสนามบิน แจกสนามบิน”
แต่จริง ๆ เศรษฐกิจเราไม่ตาย แต่เลี้ยงไม่โต จะทำยังไง วิเคราะห์ตรงนี้ก่อน เสร็จแล้วมาดูว่าเราต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 อย่างนะ 1.แจกเงินให้กับคนจนมาก ๆ 2.ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้เปลี่ยนโครงสร้างในระยะยาว อธิบายให้ประชาชนฟังว่า เราได้ศึกษาเราเป็นอย่างนี้ ประชาชนเขาให้อภัยนะ ถ้ารัฐบาลมีการศึกษาและอธิบายให้ฟังว่าทำแบบไหนไม่ได้ แม้ไปสัญญาแล้วว่าจะทำ แต่ไปค้นพบว่ามันไม่ถูกต้อง ก็ไม่ต้องทำ แต่เราต้องอธิบาย ถ้ารัฐบาลอธิบายดี ๆ ประชาชนก็พอเข้าใจ
ทำไมต้องนโยบายประชานิยม?
ปัญหานโยบายประชานิยมของเรา เป็นนโยบายระยะสั้นส่วนใหญ่ เพราะเป็นนโยบายทางการเมือง และเอาไว้ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ผ่านมา 20 ปี ไม่ตาย แต่เลี้ยงไม่โต เราต้องแก้ปัญหาตรงนี้ บางเรื่องก็แก้ไม่ได้ บางเรื่องก็แก้ได้
เวลากระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่รัฐบาลต้องการนำมากระตุ้นระยะสั้น ในขณะที่นักวิชาการบอกว่าต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้มีผลิตภาพการผลิตที่เก่งขึ้น ตามทันโลกมากขึ้น
รัฐบาลเพิ่งเข้ามาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา (2566) และงบประมาณก็ออกมาช้า ซึ่งไทยเจอวิกฤต 2 เด้ง คือ 1.หลังพ้นโควิด-19 ทุกอย่างยังชะลอตัว และ 2.มีปัญหาในภาคส่งออก เมื่องบประมาณออกมาช้า จึงดูเหมือนว่าไทยต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
ทำไมต้องเน้นเรื่องการแจกเงิน
การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน อาจจำเป็นสำหรับคนที่มีรายได้ต่ำ เพราะแทบไม่มีกิน โรงงานก็ปิด คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าจำเป็นที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะของการให้บริโภคมากขึ้น แต่การบริโภคของไทยไม่จำเป็นต้องกระตุ้นด้วยการแจกเงิน
เมื่อปีที่ผ่านมา การบริโภคไทยเติบโต 8% แต่รายได้เติบโต 1.5% จะนำเงินที่ไหนมา ถ้ารายได้โตเท่านี้ หมายความว่าเราต้องไปกู้มา ฉะนั้นปัญหาใหญ่ต้องแก้ในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ แต่ว่าพอดีมาซ้อนกับคนกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหา รายได้ตกต่ำ หรือตกงาน ถ้ารัฐบาลจะแจกเงินให้คนเหล่านี้ก่อน ดิฉันคิดว่าไม่มีใครว่าอะไร และใช้เงินไม่เยอะมาก แต่การใช้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็อยากให้กระตุ้นแบบเศรษฐเติบโต ไม่ใช่จีดีพีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเหมือนกับไฟไหม้ฟาง จุดปั๊ปมันก็ดับไป
คิดว่าการเมืองทำตามที่หาเสียงได้ไหม?
จริง ๆ รัฐบาลยังคงสามารถให้ประชาชนทั้งหมดตามที่โฆษณาได้ แต่อาจจะต้องเพิ่มเงื่อนไขบางอย่าง เช่น เกษตกรเกี่ยวข้าวเสร็จรัฐบาลช่วย 1,000 บาท แล้วบอกชาวบ้านห้ามเผา และเมื่อต้นข้าวงอกขึ้นมาใหม่ก็แจกอีก 1,000 บาทก็ได้ และชาวบ้านก็จะไม่เผา ทั้งนี้อาจจัดงบประมาณบางส่วนซื้อรถแทรกเตอร์ให้กับหน่วยงานท้องถิ่นนำไปไถแปลงเกษตรให้กับชาวบ้าน ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งการทำอย่างนี้จะช่วยแบ่งคนที่ควรช่วยเหลือเป็นกลุ่ม ๆ
อย่างเด็ก 16-18 ปี ก็ไม่อยากให้ได้เงิน 10,000 เพราะกลัวไปดาวน์มอเตอร์ไซต์ และผ่อนไม่ไหว กลายเป็นปัญหารถมือสองล้นตลาด ทำไมไม่ให้เป็นส่วนลดไปเรียน หรือจ้างงานวันหยุด หรือจ้างไปเรียน เกี่ยวกับไอที เอไอ ช่างซ่อมที่กำลังขาดแคลน
ส่วนถ้าคนที่เงินเดือนต่ำกว่า 20,000 บาท ดิฉันมองว่าควรแจกเงิน เพราะตอนนี้เขาค่อนข้างแย่ ยิ่งไม่มีงานทำต้องแจกก่อน แต่ถ้าเกิน 20,000-30,000 บาท ได้ครึ่งหนึ่ง และ 30,000-50,000 บาท ได้ 30%
ถ้าเป็นแบบนี้จะช่วยดึงเงินจากคนที่มีเงินอยู่ออกมากระจายเข้าระบบให้มากขึ้น เพราะเขามีเงินแต่ไม่รู้จะใช้ยังไง หุ้นก็ซื้อไม่ได้ตกลงทุกวัน จึงคิดว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่ถ้ารัฐบาลพยายามอีกนิดหนึ่ง เข้าใจว่ารัฐบาลพยายามรักษาสัญญา สัญญาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าจะค่อย ๆ ทำ จริง ๆ หากรัฐบาลทำตามที่ดิฉันแนะนำ จะทำได้เร็วกว่านี้มาก เพราะมันปล่อยไปในท่อที่มีอยู่แล้ว มีเงินบางอย่างที่โยกเข้ามาได้ ทำทีละกลุ่ม แต่สัญญาว่าทุกคนจะได้รับการดูแลหมด ก็น่าจะดีกว่า
แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตมีความเสี่ยงแค่ไหน?
ปัญหาของดิจิทัลวอลเล็ต คือ เราอยู่ในสังคมที่ตอนนี้มีความเสี่ยงสูงมาก เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม โรคระบาด ทุก 10-20 ปี มันจะมา และถ้ามันเกิดขึ้น เราจะทำอย่างไร เราไม่มีช่องว่างทางการคลังที่เราจะใช้ คือ เราเทหมดหน้าตัก แล้วยังไปกู้มากอีก ทุกวันนี้งบประมาณของเรา แค่จ่ายเงินเดือน สวัสดิการผู้สูงอายุ มันหมดแล้ว ไม่เหลือเงินลงทุน และดิจิทัลวอลเล็ตก็ไม่กู้มา หนี้สาธารณะมันก็สูงขึ้น เพราะฉะนั้นความฝันที่จะเป็นประเทศก้าวหน้า มีการลงทุน มันก็ไม่มี กล่าวคือ
- เสียโอกาสที่จะลงทุน
- ทำให้ความเสี่ยงเราสูงขึ้นไปอีก เพราะไม่มีเงินรองรับที่จะสามารถแก้ไขปัญหา ถ้ามันเกิดขึ้น
มันจึงเป็นนโยบายที่ดิฉันคิดว่า ถ้าทำแบบที่พรรคเพื่อไทยว่า แจกเงินไปไม่ต้องคิดอะไรมาก มันอันตรายต่ออนาคตของเรา แต่ถ้าแจกแค่ 15 ล้านคนแรก แจกไปเลย แล้วคนที่เหลือก็ยังแจกอยู่ แต่แจกให้เขาปรับโครงสร้างหนี้ได้ ตอนนี้ธุรกิจ SMEs แย่มาก ปิดโรงงานจำนวนมาก ส่งออกไม่ได้ ทำยังไงให้คนเหล่านี้สามารถจ้างงานได้ ให้ 10,000 บาทก็กินได้อย่างประหยัดมากสุด 2 เดือน แต่ถ้าไปช่วย SMEs ให้จ้างงานได้ 20-30 คน ก็จะอยู่ได้นานกว่า อาจไม่ใช่แจกเงินตรง ๆ เช่น ลดหย่อนหนี้ เพื่อให้โรงงานเขาอยู่ได้ เพราะฉะนั้นต้องใช้ความสามารถในการจัดการค่อนข้างเยอะ มันไม่ง่ายเหมือนแจกเงินคนทุกคน ๆ ละ 10,000 บาท
ประเทศไทยไม่มีแอปพลิเคชั่นขนาดใหญ่ เหมือนในต่างประเทศ และยังสามารถทำเงินได้ ซึ่งไทยมีเพียงแอปเป๋าตัง ต้องต่อยอดให้สามารถทำมาค้าขายได้ในอนาคต ตอนนี้เราเอาจมูกเขาหายใจหมด ใช้แอปฯคนอื่นขายของ เขาไม่ปิดแอป แต่เขาจะขึ้นราคาสินค้าไปเรื่อย ๆ สิ่งนี้มันคือการเพิ่มความสามารถพื้นฐาน และเปลี่ยนโครงสร้างคนไทย
เราต้องมีนโยบายเพื่ออนาคต พรรคการเมืองมองระยะสั้นได้ แต่ต้องมองว่าหากอยากจะอยู่ยาว ก็ต้องอธิบายให้ประชาชนฟังว่าส่วนหนึ่งที่จะทำเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และอีกส่วนหนึ่งจะแก้นิสัย เพื่อแก้โครงสร้างระยะยาวมากขึ้น
นโยบายอะไรที่รัฐบาลนี้ทำแล้วดี?
ยกตัวอย่างนโยบายหวยเกษียณ เปลี่ยนนิสัยการออม แทนที่ไปลงทุนหวย เปลี่ยนเป็นการออม อันนี้ใช้ได้ ไม่ใช่ทุกอย่างที่รัฐบาลทำแล้วไม่ดี ข้อสำคัญคือว่าเวลามีนโยบายสาธารณะต้องมีการพูดคุยกัน เนื่องจากรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ต้องใช้โอกาสที่จะมาพูดคุยกับคนในภาคส่วนต่าง ๆ ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง
อย่างเรื่องการท่องเที่ยว ไม่ใช่ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาคิดคนเดียวนะ ไปจังหวัดพะเยาก็จะมีสนามบินพะเยา ไปจังหวัดสุรินทร์ก็จะมีสนามบินสุรินทร์ มันเป็นไปไม่ได้ เราเพิ่งปิดสนามบินเบตง เพราะไม่มีคนบิน จังหวัดพะเยาล้อมรอบด้วย 4 สนามบิน จังหวัดแพร่ก็มีสนามบิน จังหวัดน่านก็มีสนามบิน จังหวัดเชียงรายมีสนามบิน จังหวัดลำปางก็มีสนามบิน มี 4 สนามบินโดยรอบ เดินทางประมาณ 1.30 ชั่วโมง ทำ Feasibility Study ยังไง (ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ) ก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่ามีสนามบิน แค่คิดค่า Feasibility ไปจ้างบริษัทมาทำมันก็เสียเงินโดยใช่เหตุแล้วหลายร้อยล้าน
ดิฉันเสนอนะ จริง ๆ พะเยามีกว้านพะเยา ทำไมเราไม่เอาเงินสัก 200-300 ล้าน แทนการสร้างสนามบิน 4,000 ล้านบาท ไปพัฒนาเมืองพะเยาเรื่องท่องเที่ยว เป็นเมืองกีฬา Wellness City ทำถนนโดยรอบกว้านพะยาว ทำเป็นสวนสาธารณะ ทำให้เป็นเมืองนักฬา เมืองพักผ่อน เมืองคนแก่ และให้เงินมหาวิทยาที่นั่น เพื่อที่เขาจะไปพัฒนา เขามีสอนแพทย์ Wellness City ก็ค่อย ๆ ปั้นขึ้นมา เพื่อให้มีความแตกต่างจากเมืองอื่น ไม่ใช่ทุกเมืองเหมือนกัน ขายของเหมือนกัน ของที่ระลึกเหมือนกัน กล้วยตากเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเมืองที่ถ้าเราจะเล่นกีฬา เราก็ไปที่นั่น และตัวนี้พอเราลงไป 300-400 ล้านเนี่ย คนในพะเยาได้ทันที ทำถนนก่อนอะไรก่อน ถ้าบอกไปทำสนามบิน ใครได้ บริษัทที่ปรึกษาได้ก่อนเป็นร้อยล้าน มันมาไม่ถึงคนพะเยาหรอก
บุรีรัมย์เห็นไหม เขาเป็นเมืองกีฬาไปแล้ว และ F1 (Formula 1) ที่นายกรัฐมนตรีคิด ก็มีตัวอย่างในมาเลเซียที่เขาไม่เวิร์ค อีกอย่าง F1 เราต้องซื้อลิขสิทธิ์ เพื่อให้เขามาเลือกไทยเป็นสนามแข่ง ซึ่งไม่รู้ว่าต้องใช้เงินลงทุนกี่พันล้านบาท และถ้าหากผู้จัดไม่มาเหมือนมาเลเซีย ไทยก็จะขาดทุน คิดแล้วมันไม่คุ้ม
ปัญหาใหญ่ของท่องเที่ยว คือการกระจายรายได้ออกจากเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานครได้เงินจากท่องเที่ยว 34% ไปเลย ในขณะที่บวกอีก 4 จังหวัด เป็น 5 จังหวัดได้ไป 75% บวกอีกรวมกัน 10 จังหวัด เอาไปเลย 80% ที่เหลือไม่ได้อะไรเลย เพราะฉะนั้นเวลาเราเร่งท่องเที่ยวเห็นไหม เมื่อต้นปีเราเร่งท่องเที่ยวได้มาก และคนก็มาเยอะมากนะ ภูเก็ตตะเข็บปริ แต่จังหวัดอื่นเหมือนเดิม เพราะฉั้นเราก็จะเห็นว่าในที่สุดแล้วเงินมันไม่ไหลไปข้างล่าง เงินกระจุกอยู่บางที่ อสังหาฯภูเก็ตขายกันเป็น 100 ล้านบาท ไม่ใช่ว่าเราไม่มีเงินเข้า แต่เราไม่ทำให้โครงวิธีการใช้เงินของเรามันไปหนุนโครงสร้างของเรา ไปหนุนรากหญ้าของเราต่างหาก
นโยบายท่องเที่ยวที่ดีควรเป็นอย่างไร?
ยกตัวอย่างด้านการท่องเที่ยว ต้องดูภาพรวม วิเคราะห์ก่อนว่า จริง ๆ แล้วอะไรเป็นเมืองหลัก เมืองรอง และแต่ละจังหวัดจะเลือกอันไหนก่อน เราไปทำพร้อมกันทั้ง 50 จังหวัดไม่ได้หรอก เมืองหลักเราก็ยังต้องทำนะ เพราะเราไม่ทำแล้วสิ่งแวดล้อมมันจะเสื่อมโทรม ดิฉันมีการศึกษามาเลยว่ามีกี่จังหวัดที่ต้องทำ ต้องลงทุน ไม่งั้นสิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรม และมีกี่จังหวัดที่เอานักท่องเที่ยวมาได้ จริง ๆ ต้องมีการวิเคราะห์ภาพร่วมก่อน แล้วก็มาเลือกเป็นกลุ่มว่าจะพัฒนาอย่างไร ให้เหมาะสมกับศักยภาพของเขา
อย่างกรณี เมืองอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ต้องเป็นเมืองที่ให้คนแวะผ่าน และซื้อของเหมือนโอทอป แต่ไม่มีใครค้างคืนหรอ เพราะมันใกล้กรุงเทพฯแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกเมืองจะต้องเป็นแหล่งท่องเที่ยว มันไม่จำเป็นอย่างงั้น มันต้องคิดภาพรวมให้ออกก่อนว่าการท่องเที่ยวไทยเรามีเป้าหมายอะไร และเมืองไหนจะรับผิดชอบอะไร แต่ละเมืองเขาก็ต้องมีฉากทัศน์ของเขา
ภูเก็ตก็ต้องให้คนภูเก็ตช่วยคิดว่าเขาอยากเห็นเมืองเขาเป็นยังไง แล้วมันก็ต้องมีการลงทุน ปัญหาใหญ่ของภูเก็ตคือเวลาลงสนามบินต้องใช้เวลา 20-30 นาที ถ้ารถติดก็ 1 ชั่วโมง เจาะทางรอด แต่ว่าต้องคิดภาพใหญ่ว่าเราต้องการเป็นอะไรในอนาคต และวางแผนเพื่ออนาคต ตอนนี้ภูเก็ตไม่มีปัญหาดีอยู่แล้ว แต่อนาคตยังไง ภูเก็ตไม่มีน้ำนะ ไม่มีน้ำพอแน่นอน เพราะฉะนั้นจะเอาน้ำมาจากไหน ทั้งหมดนี้ต้องคิด ไม่ใช่ค้นพบว่าวันหนึ่งไม่มีน้ำแล้ว คนตกใจไม่มาหมด ทุกอย่างดิฉันคิดว่าต้องคิดแผนให้รอบคอบ และเป็นแผนที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะบ้านเมืองของเขา
รัฐบาลอย่างมัวแต่หาเสียง รัฐบาลต้องอธิบาย บางอย่างรัฐบาลทำไม่ได้ก็อธิบาย ครั้งแรกฟังไม่เข้าใจ ก็พูดอีก การที่เราจะให้ใครเข้าใจเรา เรามาจากพื้นที่ต่างกัน คิดต่างกัน รายได้ต่างกัน ปัญหาจิตใจต่างกัน ครอบครัวต่างกัน รัฐบาลต้องใจเย็นและก็อธิบาย เวลามีใครบอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้รัฐบาลก็ต้องคิด มีหลายอย่างที่อาจจะเป็นไปได้ และก็มีหลายอย่างที่อาจต้องปรับนิดหนึ่ง เพื่อให้ไปสู่ทิศทางที่ทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น
ทำไมดิจิทัลวอลเล็ตถึงไม่คุ้มค่า?
ตอนนี้เราคิดว่าการใช้เงินแบบ 10,000 บาท แล้วทิ้งให้ทุกคน เขามีผลศึกษาว่า จีดีพีจะขึ้น 0.16% รัฐบาลสัญญาว่าจะให้รายได้เรา 5% แต่ตอนนี้มันไม่ถึง 2% แล้วสั่งไปตั้ง 5 แสนล้านบาท แล้วขึ้นมาแค่ 0.16% มันจะไปช่วยอะไรในการกระตุ้น
เพราะมันรอบเดียว แม้จะกระตุ้นการบริโภค แต่ควบคุมไม่ได้ จริง ๆ รัฐบาลก็เพิ่งจะมาคิดว่า ถ้าซื้อมือถือได้ไหม ถ้าซื้อมือถือได้มันก็ไม่โตนะ แต่ไปโตที่เมืองจีน ถึงได้บอกว่ามันไม่ได้คิด ถ้าคิดนะ ตอนนี้ให้จดทะเบียนร้านโชห่วย ร้านในตลาด อันนี้โอเค เพราะเราอยากให้เข้าได้เงิน แต่ต้องมาคิดว่าถ้าเราช่วยผู้ประกอบการในประเทศ เขาผลิตในประเทศ ใช้วัตถุดิบในประเทศ แล้วไม่ต้องคิดว่าเขาจะผลิตอะไร ใครมีโครงการที่ดี ๆ ก็ให้เงินสนับสนุน ซึ่งจะสามารถสร้างงานได้ต่อเนื่อง แต่อันนี้กระตุ้นการบริโภคครั้งเดียวจบ แต่ถ้าลงทุนในด้านโครงสร้างก็จะสร้างรายได้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่สร้างครั้งเดียวจบ
การกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการบริโภค เราจะใช้ในเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำมาก ๆ เงินฝืดมาก ๆ และใช้เวลาที่เราไม่โตเลย ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ถึงขั้นนั้น แต่เรากำลังจะไปถึงขั้นนั้น ถ้าเราทำตัวเราให้เราไม่มีการเผื่อเหลือเผื่อขาด ไม่มีการลงทุน จริง ๆ หลายเรื่องรัฐบาลกำลังทำอยู่ ตอนนี้เรากำลังหวังนะว่าอาจจะได้การลงทุนจากต่างประเทศ ตอนนี้เขาไปลงทุนทุกประเทศหมด ยกเว้นประเทศไทย เราก็กำลังหวังว่าจะค่อย ๆ กลับมา พวกไอที พวกไมโครซอฟท์ พวกดาต้ายังไม่มา แต่รัฐบาลเขาพยายามเอาคลาวด์ของรัฐบาลเป็นตัวดึงดูด อันนี้ก็จะเป็นนโยบายที่ดี
มองนโยบายลักษณะประชานิยมอย่างไร
นโยบายประชานิยมระยะสั้น เหมาะสมกับปัญหาระยะสั้น ปัญหาเผชิญเหตุที่ต้องใช้เงิน แต่ถ้าหากเป็นปัญหาระยะยาว การใช้เงินแบบไปแจกคนที่เรียกว่าประชานิยมไม่ใช่เรื่องดี โดยประชานิยมไม่ใช่การแจกเงินอย่างเดียว เช่น จำนำข้าว รถคันแรก แม้จะกระตุ้นรายได้มหาศาล แต่หลังจากนั้นมันร่วงแบบสุด ๆ เพราะไม่ได้คิดให้ครบวงจรว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ดังนั้นต้องคิดนโยบายที่มีความยั่งยืน สามารถสร้างรายได้กลับมา เหมือนเกลียวคลื่นที่ไปเรื่อย ๆ แล้วซัดกลับเข้ามา ไม่ใช่เหมือนโยนหินลงน้ำแล้วจบเลย
นโยบายประชานิยมต้องใช้ให้เหมาะสมกับปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ใช้ให้เหมาะสมกับเวลา ปัญหาที่ถูกต้อง นโยบายแต่ละอันจะมีความสัมฤทธิ์ผลในเวลาที่ต่างกัน บางนโยบายใช้แล้วกระตุ้นเร็ว บางนโยบายใช้แล้วกระตุ้นช้า ในช่วงโควิด-19 หลายประเทศก็ใช้นโยบายแจกเงิน เมื่อวิกฤตจบก็เลิกแจกเงิน เพราะไม่ใช่นโยบายสร้างชาติ แต่แก้จนระยะสั้น จากที่ได้พูดคุยกับคนที่มีปัญหา เขาไม่อยากได้เงินเพื่อไปบริโภค แต่อยากจ่ายหนี้ ค่าน้ำ ค่าไฟ มันแย่สุด ๆ แต่การจ่ายหนี้นั้นจะไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ประวัติโดยย่อของศาสตราจารย์มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
สำเร็จการศึกษาปริญญา Bachelor of Economics และปริญญา Doctor of Philosophy (Economic) จาก The Australian National University ประเทศออสเตรเลีย
เคยรับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สังกัดวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
เคยเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติหลายองค์กร เช่น Technical Advisory Committee ของ DANIDA Forest Seed Center, Member of the Board of Trustees ของ ICRAF, Member of Advisory Committee ของ Economy and Environment Program for Southeast Asia (EEPSEA), Regional Committee สำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ของ International Council for Science (ICSU) และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
นอกจากนี้ยังถึงมีผลงานวิชาการและงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การวางแผนสิ่งแวดล้อมและจัดความสำคัญด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย การจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการลุ่มแม่น้ำโขงด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้า ด้านการพัฒนาและการเกษตร และการศึกษาด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
ปัจจุบัน ศ.มิ่งสรรพ์ ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ
เนื้อหาทึ่เกี่ยวข้อง