ธนาคารโลก (World Bank) รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ในเดือนก.ค. 2567 คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) จะขยายตัวร้อยละ 2.4 ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.9 ในปี 2566 แต่ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เมื่อเดือน เม.ย. ที่ร้อยละ 2.4 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐในช่วงต้นปีที่น้อยกว่าคาดการณ์
ในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เพิ่มขึ้นหลังจากความล่าช้าในช่วงต้นปี
ทั้งนี้การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแต่การเติบโตจะเป็นไปอย่างช้า ๆ นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่า การส่งออกสินค้าจะฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ในด้านการท่องเที่ยวคาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนการเกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงกลางปี 2568 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในภูมิภาคที่ร้อยละ 0.7 ในปี 2567 ซึ่งต่ำกว่าช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานลดลง
ขณะที่หนี้สาธารณะของไทย ธนาคารโลก คาดว่ายังคงอยู่ในระดับเสถียรภาพ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นไปที่ร้อยละ 64.6 ต่อจีดีพี ในปี 2568 และการขาดดุลการคลังจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 ของจีดีพี เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณกลับมาเป็นปกติ ประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลัง เพื่อส่งเสริมการบริโภค ซึ่งสอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลางของรัฐบาล
เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า ตอนนี้หนี้สาธารณะไทยยังอยู่ในกรอบของการรักษาเสถียรภาพการคลัง (เพดานร้อยละ 70 ต่อจีดีพี) แต่ธนาคารโลกได้ปรับขึ้นมาที่ร้อยละ 64.6 ต่อจีดีพี เพราะสะท้อนปัจจัยกดดันจากสังคมผู้สูงอายุที่มากขึ้น และมาตรการช่วยเหลือของรัฐในช่วงโควิด-19 ส่วนมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตยังคงมีความไม่ชัดเจน แต่ก็ยอมรับว่ามาตรการนี้ส่งผลต่อหนี้สาธารณะในระยะปานกลาง
เราปรับขึ้นไปถึง 64.6% ต่อจีดีพี สะท้อนว่ามีแรงกดดัน มีความต้องการจากสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น แล้วก็ล่าสุดเป็นการชะลอตัวของจีดีพีในช่วงที่ผ่านมา แล้วก็มีเรื่องมาตรการโควิดก็เลยทำให้หนี้สูงขึ้นจากปรมาณ 40% กว่าไปถึง 65% ที่ยังมีความไม่แน่นอนก็คือเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งน่าจะส่งผลต่อหนี้สาธารณะในระยะปานกลาง ซึ่งยังไม่ได้รวม ปัจจุบันหนี้สาธารณะก็ยังอยู่ในกรอบการรักษาเสถียรภาพการคลังประมาณ 70%
ธนาคารโลก คาดว่าในอนาคตรัฐบาลจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสังคมและการลงทุนภาครัฐที่สูงขึ้น เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ
อ่านเพิ่มเติม: ฐานะการคลังเสี่ยงสูง รายจ่ายรัฐเพิ่มจากสังคมสูงอายุ
จากข้อมูลในปี 2666 ไทยกำลังเผชิญปัญหาเด็กเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่อง เหลือ 5.18 แสนคน ในขณะที่มีผู้สูงอายุมากถึง 13 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า ในปี 2581 ไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 20 ล้านคน
ปัจจุบันไทยมีมาตรการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสวัสดิการทางการเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากจน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ภายใต้ความต้องการขั้นพื้นฐาน แต่การที่จำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ก็จะทำให้รัฐต้องหางบประมาณที่มากขึ้น เพื่อนำมาดูแลผู้สูงอายุ
จากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ฯธนาคารโลก เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นความท้าทายที่สำคัญของฐานะการคลัง เพราะต้องหางบประมาณที่มากขึ้น เพื่อใช้ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งสิ่งที่อยากเสนอ คือ รัฐบาลควรเพิ่มรายได้ด้านภาษี เพื่อนำงบประมาณไปใช้ดูแลผู้สูงอายุ ลงทุนในเศรษฐกิจไทย และโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากไทยยังมีพื้นที่ทางการคลังเหลือเพียงพอที่จะสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้นอีก เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีด้านสุขภาพ เป็นต้น
เกียรติพงศ์ ยอมรับ การขึ้นภาษีทำได้ยาก แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องทำ เพราะต้องเลือกว่าจะลงทุนในประเทศไทยอย่างไร โดยใช้งบประมาณ และใช้รายได้ของประชาชน แต่ถ้าไม่เริ่มทำจะส่งผลต่อฐานะการคลังแย่ลง กระทบการเติบโตเศรษฐกิจไทย ซึ่งตอนนี้รัฐบาลสามารถเริ่มทำได้ทันทีเแบบค่อยเป็นค่อยไปได้ เช่นเริ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
“ถ้าเกิดไม่ทำ เป็นไปได้ว่าฐานะการคลังก็จะค่อย ๆ เสื่อม และก็เศรษฐกิจอาจจะชะลอ เพราะว่าไม่ได้มีการลงทุนที่เพียงพอ”