สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินไทยประจำเดือน เม.ย. 2567 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน (MoM) ตามภาคบริการที่ขยายตัว สอดคล้องกับรายได้ภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น +4.4% จากเดือนก่อนหน้า ประมาณ 3 ล้านคนในเดือน เม.ย. ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า หลังเทศกาลถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนสิ้นสุดลง และคาดว่าไทยจะได้แรงส่งจากภาคบริการต่อเนื่องในเดือน มิ.ย.
ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคปรับขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 1.6% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับขึ้นในทุกหมวด เช่น บริการ สินค้าไม่คงทน สินค้าคงทน เป็นต้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น 6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 5.0% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับขึ้นทั้งการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงด้านก่อสร้าง
การส่งออกสินค้าปรับขึ้นหากไม่รวมทองคำเติบโต 8.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 4.8% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งสินค้าปรับขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และสินค้าเกษตรปรับขึ้นค่อนข้างเยอะ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 3.5% จากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวภาคส่งออกเป็นไปตามคาดการณ์ของ ธปท. ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำก่อนหน้านี้ แม้จะมีเรื่องปัจจัยเชิบโครงสร้างฉุดรั้งบางอุตสหกรรม แต่ก็มีบางอุตสาหกรรมที่กลับมาฟื้นเป็นปกติ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร เป็นต้น
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังคงหดตัว 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรายจ่ายการลงทุนของรัฐบาลกลาง 45.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายจ่ายของรัฐบาลกลางตาม พระราชบัญญัติงบประมาณปี 2567 ที่ออกมาล่าช้า แต่ในขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 102.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากเบิกจ่ายการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ด้านตลาดแรงงานภาพรวมปรับดีขึ้น ปัจจัยหลักมาจากภาคบริการจ้างงานเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนผู้ประกันตนมาตร 33 ในประกันสังคมเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่จำนวนผู้รับสิทธิงานปรับขึ้นเล็กน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดการผลิตและการแปรรูป
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยเงินเฟ้อทั่วไปบวก 0.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และบวก 0.54% จากเดือนก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากหมวดอาหารสดตามราคาผักที่ผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศที่ร้อน และเนื้อสุกรที่อุปทานลดลง และจากหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลจากผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่สิ้นสุดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ไม่รวมอาหารสดและเชื้อเพลิง ทรงตัวเท่าเดือนก่อน
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวต่อว่า ธปท.เชื่อว่าเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. จะกลับมาเป็นบวกต่อเนื่อง และขยับเข้าสู่กรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งหากมองไปข้างหน้าคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับสูงขึ้นอีก ธปท.จะจับตาดูอย่างใกล้ชิด
เดี๋ยวเรารอตัวเลขสักอาทิตย์หน้า เราคาดว่าน่าจะเป็นบวก แล้วก็จะกลับเข้าขอบล่าง ทั้งปีเราอาจจะมองแค่ 0.6 แต่ถ้าเราดูในช่วงปลายปีเนี่ย เราจะเห็นตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มกลับเข้าสู่กรอบล่าง เพราะฉะนั้นเราทำนโยบายการเงิน เราดูที่แนวโน้มไปข้างหน้า
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสมดุลโดยดุลการค้าเกินดุล 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลเล็กน้อย 300 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ พันล้านเห
ขณะที่ค่าเงินบาทเดือน เม.ย.เฉลี่ยอยู่ที่ 36.77 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า ราว 2% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งสาเหตุหลักมาจากภายนอก โดยตลาดเลื่อนคาดการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ออกมาดีขึ้น และบางช่วงก็มีความกังวลในเรื่องสงครามในตะวันออกกลางที่อาจยกระดับความรุนแรง ทำให้สินทรัยพ์ต่าง ๆ มีการเคลื่อนย้ายไปที่เงินดอลลาร์
ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนภาคส่งออกยังคงต้องจับตาดูว่าไทยจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของโลกมากหรือน้อยขนาดไหน
นอกจากนี้ยังต้องติดตามผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 และมาตรการภาครัฐที่จะเพิ่มเข้ามา และการฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต รวมถึงความขัดแย้งเรื่องสงครามในต่างประเทศ
สำหรับกรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หรือ จีดีพี ของไทยไตรมาส 1 ปี 67 เติบโต 1.5% ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. ระบุว่า จีดีพีสูงกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ล่าสุด 1% แต่ก็ต้องรอดูพัฒนาการในช่วงไตรมาส 2 ปี 67 เพราะเป็นจุดที่ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มกลับมาเป็นบวก ธปท.อยากจะเห็นเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ธปท.จะปรับประมาณการณ์จีดีพีใหม่ใน 1-2 สัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าไตรมาส 2 จะดีกว่าไตรมาส 1 อย่างไรก็ตามหากดูจากตัวเลขเครื่องมือชี้วัดทั้งหมด เศรษฐกิจไทยน่าจะปรับดีขึ้นต่อเนื่อง แต่จะฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง และส่วนใหญ่กระจุกในพื้นที่ท่องเที่ยว
เป้าหมายนโยบายการเงินปี 67 กรอบเงินเฟ้อ 1-3%
หนี้ครัวเรือนลด “ทางเทคนิค” ต่ำกว่า 91% จากจีดีพีโต
คาดกนง.ลดดอกเบี้ยปลายปี 67 รับเศรษฐกิจชะลอ