การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2567 มีมติชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ นำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ต่อไป ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ
แผนการคลังใหม่ มีการปรับเพิ่มงบประมาณปี 2567 เพื่อใช้ดำเนินโครงการโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต กรอบวงเงิน 122,000 ล้านบาท และมีการปรับเพิ่มงบประมาณปี 2568 เป็น 3,752,700 ล้านบาท
แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2531) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 สถานะและประมาณการการคลัง และส่วนที่ 3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
ในปี 2567 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 (ค่ากลางร้อยละ 2.5) และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 0.8
- ในปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 (ค่ากลางร้อยละ 3.0) และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 1.2
- ในปี 2569 และ 2570 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.7 (ค่ากลางร้อยละ 3.2)
- ในปี 2571 และ 2572 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 (ค่ากลางร้อยละ 3.0)
สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 และ 2570 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 -1.9 และช่วงร้อยละ 1.1 – 2.1 ตามลำดับ ส่วนในปี 2571 – 2572 มีแนวโน้มจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.3 – 2.3
สถานะและประมาณการการคลัง
ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567 (ทบทวน) – 2571 เท่ากับ 2,797,000 2,887,000 3,040,000 3,204,000 และ 3,394,000 ล้านบาท ตามลำดับ
ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 (ทบทวน) – 2571 เท่ากับ 3,602,000 3,752,700 3,743,000 3,897,000 และ 4,077,000 ล้านบาท ตามลำดับ
จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2567 (ทบทวน) – 2571 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 805,000 865,700 703,000 693,000 และ 683,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 4.5 3.5 3.3 และ 3.1 ต่อ GDP ตามลำดับ
ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.4 ของ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567 (ทบทวน) – 2571 เท่ากับร้อยละ 65.7 67.9 68.8 68.9 และ 68.6 ตามลำดับ
อ่านเพิ่มเติม: เครดิตไทย “มีเสถียรภาพ” จับตาบริหารหนี้สาธารณะ
เป้าหมายและนโยบายการคลัง
ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง ภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยยังคงยึดหลักแนวคิด “Revival” ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
โดยคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลัง (Fiscal Discipline) อย่างเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังในด้านต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็น ความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และความครอบคลุมจากทุกแหล่งเงินในการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลด และยกเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จำเป็น การปฏิรูปโครงสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังและสร้างกันชนทางการคลัง (Fiscal Buffer) ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็น (Policy Space) ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป
สำหรับเป้าหมายการคลังของแผนการคลังฉบับนี้ ยังคงยึดเป้าหมายตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) ฉบับทบทวน กล่าวคือ รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง
ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม
การจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางฯ จะเป็นแผนแม่บทหลักให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคการคลังของประเทศในด้านต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต