“ภูเก็ต” มีปัญหาหลายอย่างที่รอให้นายก อบจ. คนใหม่ เข้ามาจัดการ ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะล้นเมือง การจราจรติดขัด ภัยพิบัติ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ตามไม่ทันการเติบโตของเมือง
Policy Watch – The Active ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดเวทีสาธารณะครั้งที่ 2 ในพื้นที่ภาคใต้ ช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสื่อสารความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น การกระจายอำนาจ และการใช้งบประมาณท้องถิ่น พร้อมไปกับการเปิดพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนความต้องการ และความคาดหวังต่อการเลือกตั้ง อบจ. ผ่าน “Policy Forum ครั้งที่ 28 : เลือก อบจ. เลือกอนาคตท้องถิ่น จ.ภูเก็ต”
ถึง “ภูเก็ต” จะเล็ก แต่งบฯ อบจ.ไม่เล็กนะ
จากการรวบรวมข้อมูล “งบประมาณ” ที่ปรากฏในข้อบัญญัติงบประมาณ และข้อมูลรายได้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยสถาบันพระปกเกล้า, คณะรัฐศาสตร์ จุฬามหาวิทยาลัย และ Rocket Media Lab
สันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการบริหาร Rocket Media Lab ชี้ประเด็นที่น่าสนใจว่า “ภูเก็ต” เป็นจังหวัดที่มีงบประมาณ อบจ.มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาค รวมปีละ 1,478.56 ล้านบาท เป็นรองแค่ “สุราษฎร์ธานี”
โดย อบจ.ภูเก็ต หาเงินได้จาก
- ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และใบอนุญาต 32 ล้านบาท (62.75%)
- รายได้จากทรัพย์สิน 89 ล้านบาท (23.84%)
- ภาษีอากร 71 ล้านบาท (12.58%)
- อื่น ๆ เช่น รายได้เบ็ดเตล็ด และ รายได้จากทุน 56 ล้านบาท (0.83%)
ทั้งนี้ อบจ.ภูเก็ต เก็บรายได้จาก “ค่าธรรมเนียมบำรุงท้องถิ่นจากโรงแรม” ได้สูงที่สุดในประเทศ อยู่ที่ 238.32 ล้านบาท ขณะที่ สุราษฎร์ธานี, ชลบุรี, เชียงใหม่ และกระบี่ เก็บได้ 68.04, 47.16, 46.42 และ 36.83 ล้านบาท ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่า อบจ.ภูเก็ตพึ่งพิงรายได้หลักจาก “อัตราค่าการเข้าพักโรงแรม” หรือ “การท่องเที่ยว” ก็ว่าได้
ส่วนการใช้จ่ายของ อบจ.ภาคใต้ บรรณาธิการบริหาร Rocket Media Lab เปิดเผยว่า สี่อันดับแรก แยกออกเป็น อุตสาหกรรมและโยธา 2,896 ล้านบาท (29.53%) บริหารงานทั่วไป 1,700 ล้านบาท (17.34%) สาธารณสุข 1,398 ล้านบาท (14.26%) และการศึกษา 1,228 ล้านบาท (12.53%)
ขณะที่ อบจ.ภูเก็ต เน้นการใช้จ่ายงบประมาณไปที่ สาธารณสุข 374 ล้านบาท (25.50%) การศึกษา 302 ล้านบาท (20.61%) บริหารงานทั่วไป 184 ล้านบาท (12.54%) ศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ 152 ล้านบาท (10.40%) และ อุตสาหกรรมและโยธา 109 ล้านบาท (7.48%) ซึ่งแตกต่างกับการใช้จ่ายของภูมิภาคอย่างสิ้นเชิง
เมื่อเจาะจงไปที่งบก่อสร้างสาธารณูปโภค อบจ.ภูเก็ต ก็ใช้งบแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้เช่นเดียวกัน โดยเน้นไปที่ การก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างกว่า 238.91 ล้านบาท รองลงมาคือ การจัดทำโครงการ 1.52 ล้านบาท และการจัดการการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม 240,000 บาท ซึ่งไม่มีการใช้งบไปกับ การสร้างถนน ไฟฟ้า ประปาและระบบน้ำเพื่ออุปโภค สะพาน และการจราจร เหมือนจังหวัดอื่น ๆ ในภูมิภาค
แต่งบของ อบจ.ภูเก็ตในการสร้างสาธารณูปโภค กลับครอบคลุมพื้นที่ตำบลเพียง 58.82% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่ามีนของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 80% ชวนให้ฉุกคิดว่า ทั้งที่ภูเก็ตยังต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและการจราจรหนาแน่น แต่งบประมาณที่ใช้ในการจัดการเรื่องเหล่านี้น้อยมาก หรือไม่มีเลย เป็นเพราะอะไร?
“อยากให้ทุกคนใช้ข้อมูลนี้ไปถามผู้สมัครนายก อบจ.ในพื้นที่ว่า เห็นข้อมูลแล้วเป็นอย่างไร เราอยากได้สิ่งนี้มากขึ้น คุณจะทำให้เราได้ไหม โยกงบส่วนที่เป็นปัญหาไม่ได้มากแต่งบมาก ไปอยู่ในส่วนที่มีปัญหามากแต่งบน้อยได้หรือไม่ และเราต้องใช้คำตอบของเขา เป็นตัวการในการตัดสินใจเลือก นายก อบจ. และ ส.อบจ.ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้”
สันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการบริหาร Rocket Media Lab
อบจ.คนกลางเชื่อมโยง “ส่วนกลาง-ท้องถิ่น”
นอกจากงบประมาณ “อบจ.ภูเก็ต” ที่มีจำนวนค่อนข้างสูงในภาคใต้ อีกโอกาสทองของจังหวัดคือรัฐบาลกำลังมองว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของพวกเขาในการผลักดันให้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวแนวหน้าของประเทศ ส่งผลให้ “แพทองธาร ชินวัตร” จัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เป็น 7,550 ล้านบาท จากปี 2566 ในยุค “เศรษฐา ทวีสิน” 3,890 ล้านบาท
แต่งบประมาณจากส่วนกลาง ไม่ได้รวมถึงการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้เติบโตทันเมืองที่กำลังขยายตัว เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ การดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะของคนในจังหวัดที่ดี ทั้งที่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องพัฒนาไปควบคู่กัน เพื่อความยั่งยืน
สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า จึงมองว่าโจทย์ใหญ่ของ อบจ.ภูเก็ตตอนนี้ จึงไม่ใช่แค่ “การบริหารงานให้มีประสิทธิภาพทั่วไป” เท่านั้น แต่ต้อง “บริหารงบฯ อย่างแม่นยำ” ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นอย่าง เทศบาล, อบต. รวมถึงยังต้อง “มีทักษะการบูรณาการ” มีความกล้าที่จะต่อรองกับอำนาจส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น และ “ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์” เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดที่มีความเฉพาะตัว
“โจทย์วันนี้ในการเลือก ‘นายก อบจ.’ จึงต้องครบเครื่องมาก แล้วก็ต้องได้คนที่มีทีมงานที่จะช่วยกันพา อบจ.บรรลุภารกิจยาก ๆ แบบนี้ให้ได้”
สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
5 ความท้าทายอนาคตภูเก็ต ขนส่งสาธารณะ–สิ่งแวดล้อม–ภัยพิบัติ–บริการสุขภาพ–การท่องเที่ยว
จากการทำงานด้านพัฒนาเมืองมา 9 ปี ทำให้ ไวทฑ อุปัติศฤงค์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด มองเห็นความท้าทายสำคัญคือ “ข้อมูลเมือง” ที่แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างเก็บ ขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานกลาง กับเทศบาลข้างเคียง
“ยกตัวอย่างถ้าเรามีข้อมูลที่มากพอ ปัญหารถติดที่คนภูเก็ตเผชิญมาอย่างยาวนาน อาจแก้ไขได้ ถ้านำข้อมูลความหนาแน่นของประชากร มาจัดสรรเส้นทางรถขนส่ง กำหนดจุดจอด หรือนำข้อมูลค่าครองชีพมากำหนดค่าโดยสาร”
ไวทฑ อุปัติศฤงค์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด
แต่ตอนนี้ระบบขนส่งสาธารณะอยู่ภายใต้การดูแลของ 3 หน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่ได้บูรณาการกรทำงานร่วมกัน หน่วยงานหนึ่งดู “เส้นทาง” อีกหน่วยดู “ป้ายจุดจอด” และหน่วยสุดท้ายดู “ศาลาพักรถ” กลายเป็นปัญหาว่าทำไมเส้นทางเดินรถ หรือจุดจอดรถสาธารณะถึงไม่เหมาะสม ขณะที่ค่าเดินทางก็แพง
ในฐานะที่เห็น อบจ. สามารถเข้าร่วมได้ทุกองค์ประชุม จึงอยากให้ อบจ.ช่วยเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานเหล่านี้ พร้อมหาวิธีลดค่าโดยสารให้เหลือ 15 บาท และเด็กนักเรียน ผู้สูงอายุ จ่ายแค่ครึ่งหนึ่ง เหมือนอย่างไต้หวัน เพราะไม่เพียงแต่จะลดปัญหาการจราจรหนาแน่น ยังลดอุบัติเหตุทางถนน และลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
ด้าน จตุรงค์ คงแก้ว รองคณบดีฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหารถติดสะสมอาจกลายเป็นภัยพิบัติกระทบสุขภาพและคุณภาพชีวิตได้ในไม่ช้าก็เร็ว
“เรากำลังกินบุญลูกหลานอยู่นะ สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของภูเก็ต เราพูดแยกไม่ได้เลย ถ้ารถยังติดอยู่ คาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นต่อไป อาจกลายเป็น PM 2.5 แต่โชคดีที่ภูเก็ตเป็นเมืองชายทะเล จึงยังไม่เจอปัญหาคุณภาพอากาศ”
จตุรงค์ คงแก้ว รองคณบดีฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
เช่นเดียวกับ “ปัญหาน้ำเน่าเสีย” ที่พบว่า ตั้งแต่ปี 2559 – 2567 ระดับน้ำดี ของภูเก็ตต่ำกว่า พังงา และ กระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเหมือนกัน และภูเก็ตยังเป็นจังหวัดเดียวที่ทุกปีจะมีค่าประเมินคุณภาพน้ำอยู่ในระดับเสื่อมโทรม
นอกจากนี้ยังมี “ปัญหาขยะล้นเมือง” ที่ยังแก้ไม่ตกและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งในแต่ละวันโรงเตาเผาขยะแห่งเดียวของจังหวัด ต้องรองรับขยะสูงถึง 1,100 ตันต่อวัน ขณะที่ศักยภาพของเตาเผาอยู่ที่ 700 ตันต่อวันเท่านั้น ส่งผลให้ส่วนที่เหลือต้องนำไปฝังกลบ
หากไม่เร่งจัดการระบบจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มมูลค่าจากขยะอินทรีย์ ซึ่งจัดการยากและมีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณขยะทั้งหมดในแต่ละวัน ให้กลายเป็นหัวเชื้อหรือปุ๋ย ฯลฯ ของเสียที่จัดการไม่หมดเหล่านี้ อาจสะสมจนล้นไหลออกมาปนเปื้อนลงสู่ทะเล สร้างผลกระทบเกินกว่าจะคาดเดาได้
“จตุรงค์” ยังฝากถึง อบจ. เรื่องการรับมือภัยแล้ง น้ำท่วม และดินถล่ม ที่มีให้เห็นอยู่ทุกปีตั้งแต่ปี 2557 ว่าเกิดอะไรขึ้นกับภัยพิบัติเหล่านี้ จะแก้ปัญหาหรือป้องกันได้อย่างไร เพราะหลายคนในภูเก็ตตอนนี้เริ่มชินชาและคิดว่าเป็น “New Normal” แล้ว โดยเสนอให้ อบจ. “จัดทำศูนย์ข้อมูลกลางภูเก็ต” ยกตัวอย่าง เช่น รวบรวมข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี เพื่อให้คนภูเก็ตได้เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมดินถล่มได้
“ภารกิจใดที่ อบจ.ทำได้ อยากให้ลุย แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าอยู่ในขอบเขตของกฎหมายและหน้าที่ของท่านหรือไม่ ก็อยากให้ อบจ.ช่วยระดมพล ช่วยคนภูเก็ตระดมทุนหาฉันทามติร่วมในเรื่องนั้น ๆ”
จตุรงค์ คงแก้ว รองคณบดีฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
แม้สัดส่วนประชากรในภูเก็ต ที่มีประมาณ 400,000 คน จะมีบ้านอยู่เกือบ 300,000 หลัง หรือคิดเป็น 1 คน เกือบจะมีบ้าน 1 หลัง แต่ความสุของพวกเขากลับอยู่แค่ 75 – 76 หน่วยเท่านั้น ประเด็นการผ่อนคลายเครียด โรคจิตเวช ไปจนถึงการเสพยาเสพติด จึงไม่ควรมองข้าม เกียรติศักดิ์ โชติวงศ์พิพัฒน์ รองนายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดภูเก็ต ได้ชวนมองปัจจัยปัญหาที่กระทบสุขภาพของคนภูเก็ต ที่ปัจจุบันพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 1 คน มีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่เพิ่มวันละ 9-10 คน เป็นเบาหวานรายใหม่วันละ 6 เส้นเลือดในสมองแตก เสียชีวิต วันละ 1 คน ชี้ให้เห็นว่า “การคัดกรองโรค” ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร และโรคติดไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่จริงแล้วป้องกันได้ไม่ยาก แค่ลดหวาน เค็ม มัน และออกกำลังกาย
รวมถึงปัญหาจากโรคติดต่อยังมีให้จัดการและเตรียมพร้อมอีกเยอะ เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม อุจจาระล่วง และวัณโรค ต้องมีแผนรับมือที่ดี เพื่อไม่กระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในอนาคต
ขณะเดียวกันเรื่องอุบัติเหตุทางถนน พบว่าผู้เสียชีวิต 95% ขับขี่มอเตอร์ไซค์และไม่สวมใส่หมวกกันน็อก ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องสูญเสียจากเหตุการณ์นี้ด้วย ดังนั้นถ้าอยากให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวซ้ำ จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง
อย่างไรก็ดี ถ้าดูอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต ซึ่ง รศ.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ยกขึ้นมากล่าวถึง จะพบว่า ภูเก็ตมีค่าเฉลี่ยการเจริญเติบโตต่อปีเนี่ยประมาณ 6.7 ตลอด 10 ปีก่อนโควิด แต่หลังจากโควิด กลายเป็นนักมวยคนเดียวที่ลำบากแสนสาหัสถึงขนาดไม่มีนมให้ลูกกิน GDP ทางเศรษฐกิจหดกัว 2 ปีซ้ำซ้อน ก่อนในปี 2565 จะฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด จึงเป็นธรรมดาที่จะมีปัญหามากมายตามมา
อย่าว่าแต่เข้ารอบลึก เวทีประลองครั้งนี้คนภูเก็ตกำลังจะน็อกด้วยซ้ำ จากปัญหาสะสม และอัตราการกลับมาท่องเที่ยวซ้ำของนักท่องเที่ยว ลดลงอย่างน่าใจหาย ที่สำคัญโควิดคือหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่า อนาคตไม่แน่นอน และไม่ใช่ครั้งแรกที่คนภูเก็ตต้องเจอภาวะจนเฉียบพลัน เราเคยเจอมาแล้วและอาจเจออีก
“ถ้ารัฐบาลคือค่ายมวย คนภูเก็ตคือนักมวย และ อบจ. คือพี่เลี้ยงนักมวย หลังจากโควิด เราขึ้นชกในสถานการณ์ที่รองเท้าขาด นวมขาด งบที่มีอยู่ 1,400 ล้าน ไม่พอ พี่เลี้ยงนักมวยคนไหนที่จะมีวิธีเจรจากับค่ายมวย ให้จัดสรรงบให้เรา ให้เขารู้ว่าเรากำลังจะแพ้น็อกบนเวที ถ้ายังเจอปัญหาขยะ รถติด สะสม ภัยพิบัติซ้ำซาก”
รศ.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
นายก อบจ.คนใหม่ต้องเร่งแก้ปัญหานี้ แม้อาจไม่จบภายใน 4 ปี แต่สำคัญอยู่ที่วางแผนอะไรให้กับเรา ชีวิตที่ 1 คือเหมืองแร่ ชีวิตที่ 2 คือการท่องเที่ยว แล้วชีวิตที่ 3 ของคนภูเก็ตจะเป็นอย่างไรต่อไป
“คนภูเก็ต” ขอมีส่วนร่วมพัฒนาจังหวัด
ขณะเดียวกันคนภูเก็ตที่มาร่วมฟังเสวนา มีความคาดหวังและความต้องการฝากส่งต่อถึงว่า “นายก อบจ.คนใหม่” สรุปออกมาได้ดังนี้
- ขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใช้งบประมาณประจำปีของ อบจ.
คนในจังหวัดคือคนที่รู้ดีที่สุด จึงอยาก อบจ.เปิดพื้นที่ให้คนภูเก็ตสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจใช้งบประมาณของ อบจ.ได้ เพื่อให้การพัฒนาเมืองตรงจุดและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน
- ภาษีโรงแรมต้องจัดเก็บอย่างเป็นธรรม และมีสิทธิประโยชน์ตอบแทนผู้ประกอบการ
“ภาษีโรงแรม” ที่จัดเก็บได้ทุกวันนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าครบถ้วนหรือไม่ เพราะเชื่อว่าน่าจะจัดเก็บได้มากกว่านี้ หรือมีบางคนเสีย บางคนไม่เสียอยู่หรือเปล่า อบจ.จึงควรเข้ามาตรวจสอบและดูแลให้การจัดเก็บภาษีมีความเป็นธรรม และในฐานะที่เป็นรายได้หลักของจังหวัดจึงอยากให้มีสิทธิประโยชน์บางอย่างตอบแทนให้ผู้ประกอบการมีกำลังใจ หรืออำนวยความสะดวก ให้พวกเขาสามารถพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
- การเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของ “คนจนเมือง”
ที่ผ่านมาการรักษาพยายามบาลของ “คนจนเมือง” ต้องส่งหนังสือถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก่อน ซึ่งใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์ จึงอยากให้ อบจ.ช่วยหาทางออกให้คนจนเมืองสามารถเข้ามาใช้สิทธิได้อย่างทั่วถึง ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ต้องรอนาน
- ความปลอดภัยในสถานศึกษา
มีข่าวปรากฏให้เห็นว่าครูกระทำอนาจารเด็กเพิ่มขึ้น จึงอยากให้ อบจ. เชื่อมโยงการทำงานกับสถานศึกษาและกระทรวงสาธารณสุขที่จะวางแผนให้เด็ก ๆ มีความปลอดภัยอย่างแท้จริง
- ประชากรแฝงเพิ่มขึ้น คนในท้องถิ่นตกงาน
ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามา เกิดปัญหาประชากรแฝงเข้ามาแย่งงาน คนในท้องถิ่นตกงาน
วิสัยทัศน์ผู้สมัครนายก อบจ.ภูเก็ต และการตอบรับความคาดหวังของ ปชช.
เรวัต อารีรอบ ผู้สมัคร นายก อบจ.ภูเก็ต มองว่า การท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของภูเก็ต เมื่อก่อนมีจุดขายเป็น “SEA SAND SUN” แต่ปัจจุบันอาจไม่เพียงพอแล้ว ต้องพัฒนาให้เป็น “Wellness Center” เพื่อสร้างรายได้ให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น
แต่ในฤดูกาลท่องเที่ยว ปัญหาขยะล้นเมือง ก็เป็นผลกระทบตามมา แต่ถ้าเริ่มให้เด็กเรียนรู้เรื่องการกำจัดขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นขยะที่มีสัดส่วนที่เยอะที่สุดและจัดการยาก มาทำเป็นปุ๋ย หัวเชื้อทางการเกษตร จะช่วยลดปริมาณขยะลงได้มาก แถมยังสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังค่านิยมรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ตั้งแต่ยังเล็ก
ส่วนการขยายเส้นทางการเดินทางและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ “เรวัติ” มองว่า “รถไฟฟ้า” จะเป็นอีกทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดที่ดี
ด้านสาธารณสุข ต้องสานต่อโครงการ “อยู่ที่ไหนก็ใกล้หมอ” และ “อบจ.คลายทุกข์” ให้คนภูเก็ตเข้าถึงการป้องกัน รักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพในทุกมิติได้อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งสนับสนุนให้สร้างสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต
ทั้งนี้เห็นความสำคัญในการเชื่อมโยงกับส่วนกลางและหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ เชื่อว่าด้วยภูเก็ตเปรียบเสมือนห่านที่ออกไข่ทองคำให้กับประเทศ ถ้านำข้อเสนอต่าง ๆ ไปพูดคุยกับหน่วยงานใด เชื่อว่าคงไม่ยากที่พวกเขาจะเห็นด้วย และตั้งใจว่าจะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขยับแนวทางการแก้ปัญหาไปสู่ความเป็นจริงให้สำเร็จ
ขณะที่ นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล ผู้สมัคร นายก อบจ.ภูเก็ต คิดว่า ก่อนจะเริ่มต้นทำอะไร อบจ.จะต้องกลับมาทบทวนการใช้งบประมาณว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ ถ้ายัง ต้องปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของประชาชน
ในเรื่องการจัดการขยะต้องเริ่มที่ต้นตอ ส่งเสริมการจัดการขยะอินทรีย์ ดึงดูดชุมชนให้มีส่วนร่วมในการลดและรีไซเคิลขยะ
ขณะที่การขนส่งสาธารณะ จะต้องจัดทำเส้นทางการเดินรถให้ทั่วถึง มีแพลตฟอร์มให้เช็กระยะเวลาที่รถจะมาถึง และต้องควบคุมราคาให้เป็นธรรม
ระบบสุขภาพ เพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ใกล้ชิดประชาชน ให้สามารถตรวจคัดกรองโรค และรักษาโรคที่ไม่ซับซ้อนได้ เพื่อลดภาระโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ที่ทุกคนไม่ว่าป่วยเป็นอะไร มากน้อยขนาดไหน จะต้องตรงไปก่อนเสมอ รวมถึงสร้างระบบ “Health Score” เป็นแรงจูงใจให้กับประชาชนในการดูแลสุขภาพ โดยอาจมอบสิทธิประโยชน์ เป็นส่วนลดค่าอาหาร
ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว นอกจากพัฒนาให้เป็น “Wellness Center” ยังอยากให้พัฒนาเป็น “Education Hub” และสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยเฉพาะกีฬาทางน้ำ ซึ่งเป็นจุดเด่นของภูเก็ต
ด้าน ศรีเทพ อุดมลาภ นายก อบจ.ภูเก็ต แสดงเจตนารมณ์ว่า จะหยุดทุนผูกขาด ล้างบางคอร์รัปชัน ลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิวัติการศึกษา และพัฒนาเมืองให้เป็นที่หนึ่งการท่องเที่ยวโลก ด้วยตัวเองไม่เกรงใจนายทุน จึงเชื่อว่าทุกนโยบายตัวเองจะสามารถทำได้จริง
ระบบขนส่งสาธารณะ จะเพิ่มการขนส่งทางเรือ เพื่อลดปัญหารถติดบนท้องถนน และควบคุมราคาโดยสาธารณะไม่ให้เกิน 10 – 20 บาทได้
การจัดการขยะล้นเมือง ต้องทำ “ขยะให้กลายเป็นเงิน” โดยอาจแจกถุงขยะ 7 วัน ให้คนภูเก็ตทุก ๆ เดือน เพื่อสร้างรายได้ และเพิ่มแรงจูงใจให้กับพวกเขา
ด้านสาธารณสุข มองว่า ถ้าเอางบฯมาโฆษณาให้คนดูแลสุขภาพ ตั้งแต่อนุบาล รวมถึงคุณครู ต้องจัดอาหารมื้อกลางวันที่ถูกหลักโภชนาการให้เด็ก เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพจะซึบซับตั้งแต่เยาว์วัย และพวกเขาอาจเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ครอบครัว หันมาออกกำลังกายด้วยได้
สุดท้ายนี้ต้องสนับสนุนให้ ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว สามารถจัดทำโรงแรม โฮมเสตย์ ได้อย่างสะดวก และรวดเร็วขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้บุคลากรการแพทย์ มีรายได้ที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดให้มาทำงานร่วมกับ ส่วนกลาง หรือ อบจ. มากขึ้น โดยไม่จำเป็นหันไปหาสถานพยาบาลของเอกชน เพื่อแก้ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอในพื้นที่
ทั้งหมดนี้แม้จะสะท้อนถึงปัญหา ความต้องการ และความคาดหวังของคนภูเก็ต ต่อว่าที่นายก อบจ. และ ส.อบจ.ของพวกเขา แต่สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าบริบทแต่ละพื้นที่มีปัญหาเฉพาะของตัวเอง ประชาชนในพื้นที่คือคนที่รู้ดีที่สุด และคือผู้ที่จะกำหนดอนาคตของท้องถิ่นและประเทศ ผ่านการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
โจทย์ที่สำคัญต่อจากนี้ จึงอยากชวนให้ลองใช้ข้อมูลข่าวสารของจังหวัด และการบริหารจัดการงบประมาณของ อบจ. มาติดตามและตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้นำท้องถิ่น ว่าสิ่งเหล่านี้กำลังบอกอะไร และตลอดระยะเวลา 4 ปีนับจากนี้ จังหวัดเราใช้งบประมาณสอดคล้องกับการแก้ปัญหาที่เราต้องการหรือไม่