ไทยเผชิญปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฝุ่นดังกล่าวล้วนเกิดจากการเผาไร่เกษตร ไฟป่า และควันรถยนต์ ซึ่งสถานการณ์นี้มีแนวโน้มจะแย่ลงมากกยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนแล้ว ยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปอย่างสูญเปล่าอีกด้วย
ในเวทีเสวนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการจัดการอากาสสะอาด” ของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ได้เปิดเผยข้อมูลของ ธนาคารโลก (WHO) ที่ประเมินมูลค่าต้นทุนจาก PM2.5 ต่อสุขภาพในประเทศต่าง ๆ เมื่อปี 2563 พบว่า ไทยติดอันดับที่ 20 ของโลก จาก 180 ประเทศ มูลค่าความเสียหายต่อสุขภาพอยู่ที่ 45,334 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 3.89% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ฝุ่นยังสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับสังคม เช่น ค่าใช้จ่ายรักษาอาการป่วย สูญเสียโอกาสการทำงานจากการลาป่วย สูญเสียร่างกายที่แข็งแรงจากการสะสมมลพิษในร่างกาย เสียค่าใช้จ่ายซื้อหน้ากากป้องกันฝุ่น ซื้อเครื่องฟอกอากาศในบ้าน และสูญเสียความสุขในการดำเนินชีวิต
รองศาสตราจารย์ วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า จากงานวิจัยในปี 2562 ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 17,379 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นครัวเรือนละ 6,124.99 บาทต่อปี ซึ่งถ้าไทยมีอากาศที่สะอาด ครัวเรือนก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้
ทั้งนี้เสนอให้มีการจัดการอากาศสะอาดตามแนวคิด BCG ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ควบคู่ไปกับศาสตร์แห่งพระราชา คือ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยปลูกไม้ใช้สอย ไม้กิน ไม้เศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ในการรองรับชลประทาน การซับน้ำ อุดช่วงไหล่ตามร่องห้วยให้รับน้ำฝนอย่างเดียว และได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมถึงควรส่งเสริมให้ชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับป่ามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าด้วยเช่นกัน
ส่วนอีกแนวคิด BCG คือ นำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมมาใช้ เช่น จ่ายค่าตอบแทนบริการระบบนิเวศน์ โดยกลุ่มคนที่ดูแลระบบนิเวศน์จะต้องได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่าจากกลุ่มคนที่หาผลประโยชน์จากระบบนิเวศ ซึ่งจะทำให้มลพิษลดลง และอากาศสะอาดขึ้น รวมถึงได้ฟื้นฟูรักษาระบบนิเวศน์
การจูงใจให้เกษตรกรลดการเผาไร่ รัฐบาลควรส่งเสริมการทำคาร์บอนเครดิต ด้วยวิธีจัดตั้งโครงการเปิดรับเกษตรกรเข้าร่วม และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับซื้อคาร์บอนเครดิต โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเป็นผู้ตรวจสอบและออกคาร์บอนเครดิตให้เกษตรกร
สนับสนุนให้มีการรวมแปลงและเศรษฐกิจแบ่งปันสำหรับเกษตกรรายย่อย ผ่านการส่งเสริมตลาดเช่าบริการเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงเครื่องจักรดังกล่าวได้ในราคาที่ไม่แพงและทั่วถึงทุกพื้นที่ ซึ่งจะช่วยจูงใจให้ลดการเผาไร่
ข้อท้าทายฝุ่นที่รัฐบาลต้องจริงจัง
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยยังคงมีความท้าทายจำนวนมากในการจัดการฝุ่นละอองอย่างจริงจังที่ต้องได้เร่งแก้ไข ประกอบด้วย
1. การขยายตลาดรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเศษใบไม้ในป่า ให้มีเพียงพอกับเกษตรกรทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีเพียงการทำในเชิงต้นแบบเท่านั้น ซึ่งควรคิดในเชิงธุรกิจที่จะสามารถขยายผลออกไปได้ด้วย
2. ขยายการเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงการเกษตร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัยในราคาที่ยอมรับได้
3. ความขัดแย้งในตัวนโยบายรัฐบาลที่จะเปลี่ยนผ่านสู่อากาศสะอาด เพราะบางนโยบายไม่ได้ส่งเสริมอากาศสะอาด เช่น มาตรการแจกเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งให้ทุกคนไม่ว่าจะเผาหรือหรือไม่เผาที่นา หากรัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหาฝุ่น ก็ควรแจกเงินแบบมีเงื่อนไขที่จะช่วยลดฝุ่น หรือตั้งเป้าหมายลดการเผาไร่นา
4. ขาดเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อจูงใจคนก่อมลพิษให้เปลี่ยนผ่านไปสู่อากาศสะอาด เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านอากาศสะอาดมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ดังนั้นการจะจูงใจให้คนเริ่มต้นลดการก่อมลพิษอีกทางหนึ่งก็คือ ต้องหาเครื่องมือหรือกลไกลช่วยลดต้นทุนให้กับคนก่อมลพิษได้แบบยั่งยืน
5. ช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้น้อยในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่อากาสสะอาด เพราะทุกการเปลี่ยนผ่านผู้มีรายได้น้อยมักจะได้รับผลกระทบก่อนเป็นลำดับแรก เช่น เกษตรกร เป็นต้น
6. ขาดหน่วยงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาฝุ่นให้มีประสิทธิภาพ โดยกรมควบคุมมลพิษ มีหน้าที่เสนอนโยบายและควบคุมมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในประเทศ แต่ไม่มีอำนาจสั่งการหน่วยงานอื่น หรือสั่งงานข้ามกระทรวงได้
7. งบประมาณเพื่อใช้ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อากาศสะอาดมีไม่เพียงพอ และไม่มีความต่อเนื่อง รวมถึงไม่ทันต่อสถานการณ์ ดังนั้นควรจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาฝุ่นให้เพียงพอ และทันต่อสถานการณ์
โดยในร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. ได้กำหนดให้จัดตั้งกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ เพื่อใช้เป็นงบประมาณเปลี่ยนผ่านไปสู่อากาศสะอาด แต่ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชนฉบับนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ และจะต้องผ่านการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฏร
เสนอตั้งเครื่องกรองฝุ่นยักษ์
ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอให้มีการใช้นวัตกรรมหอฟอกอากาศขนาดใหญ่ ชื่อ “ฟ้าใส” (Fahsai) มีลักษณะการทำงานคล้ายเครื่องฟอกอากาศในบ้านที่ใช้กันในปัจจุบัน โดยจะดูดอากาศเข้าเครื่องและพ่นออกมาพร้อมกับละอองน้ำ สามารถฟอกอากาศได้ 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (m²/h) ใช้น้ำ 50 ลิตรต่อวัน และใช้พลังงานประมาณ 600-3,000 วัตต์ต่อชั่วโมง รัศมีครอบคลุมพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่าขนาด 1 สนามฟุตบอล ซึ่งเครื่องดังกล่าวมีราคาประมาณ 5 ล้านบาทต่อเครื่อง
ถ้ามีหากติดตั้งเครื่องดังกล่าวจำนวน 10,000 เครื่องในพื้นที่ที่มีอากาศหนาแน่นทั่วกรุงเทพมหานคร รองเลขาธิการ ส.อ.ท. เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเมือง และสามารถช่วยลดต้นทุนทางเศรษฐกิจได้จำนวนมาก แต่จะทำอย่างไรให้ทุกคนเห็นประโยชน์จากเรื่องนี้ ดังนั้นนอกจากภาคเอกชนจะช่วยกันทำแล้ว ภาครัฐจะต้องช่วยจุดเริ่มต้นในการคิดด้วย เพื่อให้ผู้คนตระหนักและเห็นคุณค่าของอากาศสะอาด
การจายอำนาจท้องถิ่น
ในชุมชนที่อาศัยอยู่กับป่า เริ่มตระหนักถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ในพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากผู้ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเข้ามาหาประโยชน์ในพื้นได้ทำลายป่าไม้ และสร้างผลกระทบให้กับชุมชน นิกร เต๋จ๊ะแยง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า ปัจจุบันป่าไม้ถูกทำลายจากการที่รัฐให้สัมปทานเอกชนเข้าไปหาผลประโยชน์ สร้างความไม่เป็นธรรมกับคนในพื้นที่ เพราะได้รับผลกระทบจากป่าถูกทำลายจนเกิดความแห้งแล้งในพื้น ซึ่งในตำบลแม่ทาเหนือ มี 5 หมู่บ้าน 11 ชุมชนที่ต้องพึ่งพาน้ำจากภูเขามาใช้อุปโภคบริโภค และทำการเกษตร
ทาง อบต.แม่ทาเหนือ จึงเริ่มประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และทำข้อตกลงไม่ให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น จากนั้นจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้าน และตั้งกองทุนที่ดินระดับตำบล เพื่อให้ชาวบ้านสามารถกู้เงินนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเกษตรได้
นอกจากนี้ยังมีการสร้างความเข้าใจให้กับชุมชน ส่งเสริมให้ทำการเกษตรที่ลดการเผามากขึ้น โดยเปลี่ยนจากทำไร่หมุนเวียนเป็นปลูกพืชผักอินทรีย์ปลอดสารพิษ และนำวัสดุจากป่าพืชไปแปรรูป เพื่อลดการเผาสร้างอากาศที่สะอาด
อย่างไรก็ตาม การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นก็มีส่วนสำคัญ นายก อบต.แม่ทาเหนือ ระบุว่า รัฐบาลควรจะต้องให้อำนาจบริหารจัดการแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่เช่นนั้นก็จะแก้ปัญหาในพื้นที่ลำบาก
ยกตัวอย่าง ตำบลแม่ทาเหนือ เกิดโรคระบาดในสัตว์ องค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่นมีหน้าที่ป้องกันและควบคุมโรคระบาด แต่ไม่มีอำนาจประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ของโรคระบาด และเมื่อแจ้งกรมปศุสัตว์ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้ยังคงมีการขนย้ายสัตว์ในพื้นที่ ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อโรคกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศในชุมชน อำนาจการจัดการอยู่ที่กรมควบคุมมลพิษทั้งหมด ไม่ใช่องค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- นับถอยหลังร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด คาดประกาศใช้ปี 68
- เปิดโครงสร้าง ‘บ้านหลังใหม่’ จัดการอากาศสะอาด
- กสม.เสนอกระจายอำนาจ คุมไฟป่าแก้ฝุ่นควันภาคเหนือ