คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอความเห็นกรณีปัญหามลภาวะทางอากาศในพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ต่อการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 โดยมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาหลังจากปัญหาเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
กสม. ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหามลภาวะทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ และพะเยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา โดยที่ปัญหาดังกล่าว ได้ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิของประชาชนที่จะมีสุขภาพที่ดีและมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ
โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่าสูงเกินมาตรฐานต่อเนื่องหลายปี และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2566 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวม
จากการเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ระหว่างปี 2563-2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศสะสม 2.64 ล้านคน โดย 3 อันดับแรก อยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัญหามลภาวะทางอากาศดังกล่าว มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนใน วงกว้างและควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
จากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ พบว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ยังมีข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ เช่น การติดตามและควบคุมคุณภาพอากาศและ จุดความร้อนยังขาดการรวบรวมและประมวลข้อมูลอย่างเป็นระบบ การถ่ายโอนหน้าที่ในการควบคุมไฟป่าให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังขาดความชัดเจนในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเพื่อการแก้ไขปัญหาไม่เพียงพอ
การประชุมครม.เมื่อ 24 ตุลาคม 2566 มีมติรับทราบข้อเสนอแนะ กรณีปัญหามลภาวะทางอากาศในพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ตามที่ กสม. เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สธ. สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว
ทั้งนี้ ให้ ทส. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก สลค. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทส. รายงานว่า ได้ประชุมหารือเพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของ กสม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 มีความเห็นว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. ในเรื่องดังกล่าวมีความเหมาะสมในหลักการ และเป็นการศึกษาที่ครอบคลุมในหลายมิติ ส่วนใหญ่สอดคล้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566
นอกจากนี้ ทส. ได้ร่วมกับ กษ. ขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่ง จากห้ามเผาเด็ดขาดไปสู่การบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร ในการเปลี่ยนไฟเลวให้เป็นไฟดีและจากไฟดีให้เป็นไฟจำเป็น ซึ่งมีผลการพิจารณาสรุปในภาพรวมได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
ให้ศึกษาปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการกระจายอำนาจการบริหารจัดการสถานการณ์ไปยัง อปท. และดำเนินการขจัดอุปสรรคดังกล่าว เพื่อให้ อปท. สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ปรับปรุงกระบวนการการจัดสรรงบประมาณให้ อปท. เพื่อให้ได้รับเงินอุดหนุนโดยตรงสำหรับภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าที่เพียงพอ รวมทั้งพิจารณาเพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565
การกระจายอำนาจในการบริหารจัดการสถานการณ์ไฟป่าไปยัง อปท.มีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจ ขอบเขตการถ่ายโอนภารกิจ ขั้นตอน/วิธีปฏิบัติ ระยะเวลาดำเนินการและท้องถิ่นที่รับการถ่ายโอนไว้อย่างชัดเจนแล้วและได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภายหลังจากการถ่ายโอนภารกิจแล้ว อปท.จะมีอำนาจในการควบคุมไฟป่าตามภารกิจที่ได้รับถ่ายโอน ตลอดจนสามารถจับกุม ปราบปรามผู้กระทำผิดความผิดฐานเผาป่าภายในเขตพื้นที่ อปท. ที่รับผิดชอบได้ ปัจจุบันมีการถ่ายโอนภารกิจไปยัง อปท. แล้ว ร้อยละ 99 โดยมี อปท. เพียงร้อยละ 1 ยังไม่สามารถรับการถ่ายโอนภารกิจเนื่องจากยังไม่มีความพร้อม รวมทั้ง อปท.ที่รับการถ่ายโอนภารกิจแล้วยังไม่สามารถปฏิบัติภารกิจด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิผลเนื่องจากขาดแคลนเจ้าหน้าที่และงบประมาณ
การจัดสรรงบประมาณให้ อปท.เพื่อให้ได้รับเงินอุดหนุนโดยตรงสำหรับภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าที่เพียงพอ สงป. ได้จัดสรรงบประมาณให้กับ อปท. สำหรับภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2567 ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและ สงป. มีแผนจัดสรรงบประมาณให้ อปท.โดยตรง โดยจะเริ่มในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2572 อปท.ทุกหน่วยงานจะเป็นหน่วยรับงบประมาณโดยตรงทั้งหมด
ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เช่น กรมป่าไม้ จำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพให้กับ อปท. อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความรู้ และทักษะในการปฏิบัติภารกิจในการป้องกันและควบคุมไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยและงบประมาณสำหรับดำเนินงาน สงป. ต้องพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ อปท. โดยตรงอย่างเพียงพอซึ่งอาจพิจารณาในเชิงพื้นที่ นอกจากนี้ ต้องพิจารณางบประมาณที่อาจซ้ำซ้อนกับหน่วยงาน รวมถึงอาจนำผลสัมฤทธิ์ที่ผ่านมาเพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้วย
พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ได้แบ่งระดับการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยเป็น 2 ระดับ คือ ระดับนโยบาย (ส่วนกลาง) และระดับพื้นที่ (จังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น) โดยระดับนโยบายมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และระดับพื้นที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้อำนวยการจังหวัด โดยกลไกการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาควิชาการ
ทบทวนนโยบายห้ามเผาเด็ดขาด
โดยพิจารณาความเหมาะสมในการบริหารจัดการมลภาวะทางอากาศที่คำนึงถึงบริบทเชิงพื้นที่และความจำเป็นของประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ตลอดจนพัฒนาแอปพลิเคชันในการจัดการและควบคุมการเผาป่าหรือพื้นที่เกษตรกรรมให้สามารถใช้งานได้สะดวกมีประสิทธิภาพ และมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
กษ. ได้วางแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2566/2567 โดยให้ดำเนินการเชิงรุก และเปลี่ยนนโยบายห้ามเผาเด็ดขาดเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มจากการบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร และการจัดการแปลงที่ปลอดการเผามุ่งสู่มาตรฐาน GAP เพื่อเพิ่มสินค้าคาร์บอนต่ำและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผ่านแนวทาง 3R ประกอบด้วย
- Re-Habit: ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนนิสัย/พฤติกรรม การปลูกพืชเป็นการปลูกแบบไม่เผา
- Replace with High value crops : ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนชนิดและวิธีการปลูกพืชบนพื้นที่สูง จากพืชที่ยังใช้ระบบการเผา
- Replace with Alternate cops : ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนชนิดและวิธีการปลูกพืชบนพื้นราบ โดยเน้นการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์ต่อดิน ซึ่งสามารถลดการเผา ลดการใช้น้ำและลดปัญหาข้าวราคาตกต่ำเพื่อลดปัญหาฝุ่นควันภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนภายใต้มาตรฐาน GAP PM2.5 Free โดย กษ. จะมีนโยบายให้เกษตรกรได้รับสิทธิพิเศษเป็นค่าตอบแทนรวมถึงสถาบันเกษตรกรที่รวบรวมผลผลิตที่ไม่เผาด้วยและจะขอความร่วมมือภาคเอกชนให้รับซื้อผลผลิตที่ไม่เผาในราคาที่สูงกว่า รวมทั้งจะสนับสนุนให้เกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกทั้งในพื้นที่สูงและที่ราบให้ได้รับเงินทุนสนับสนุนช่วงรอเก็บเกี่ยว และจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วพร้อมทั้งจัดหาตลาดรองรับผลผลิต
ทส. ได้จัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 ภายใต้กรอบแนวคิดในการกำหนดพื้นที่แบบมุ่งเป้าโดยระบุพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่เกษตรที่ไฟไหม้ซ้ำซาก สร้างกลไกการทำงานให้ภาคเอกชนสนับสนุนในการแก้ไขปัญหา เพื่อลดข้อจำกัดด้านงบประมาณ จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อสั่งการลงสู่ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษแบบถาวร ปรับปรุงแก้ไขกฏ/ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้เข้มข้นจากระดับภูมิภาคอาเซียนไปสู่ระดับทวิภาคี ใช้การสื่อสารเชิงรุก ตรงจุด ต่อเนื่อง บ่อยครั้ง
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ (ทสจ.เชียงใหม่) ในฐานะตัวแทนในระดับพื้นที่นำเสนอการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนนโยบายห้ามเผาเด็ดขาด โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง กำหนดเขตการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและเขตควบคุมการเผาของจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566
ในปี พ.ศ. 2564 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) กรมควบคุมมลพิษ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่เชียงราย ได้ร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงแอปพลิเคชัน Burn Check เพื่อลดฝุ่นละอองจากการเผาและผลกระทบต่อสุขภาวะผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยแอปพลิเคชัน Burn Check ได้พัฒนาแล้วเสร็จและได้ทดสอบระบบในพื้นที่ในปลายปี 2564 พร้อมทั้งได้ถูกใช้งานจริงในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือในช่วงปลายปี 2564
ในปี พ.ศ. 2565 สทอภ. ได้จัดฝึกอบรมการใช้งานแอปพลิเคชัน Burn Check ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกเพื่อให้สามารถใช้งานระบบได้อย่างถูกต้องและสามารถถ่ายทอดให้เกิดการขยายผลการใช้งานระบบสู่ชุมชน รวมทั้งกรมควบคุมมลพิษ ได้ประสานขอความร่วมมือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการประชาสัมพันธ์พร้อมกับขยายการใช้งานแอปพลิเคชัน Burn Check ให้ทั่วประเทศ
ในปัจจุบัน สทอก. และกรมควบคุมมลพิษยังคงทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในการจัดอบรมให้กับจังหวัดที่มีความประสงค์จะใช้แอปพลิเคชัน Burn Check และในการพัฒนาต่อยอดแอปพลิเคชัน Burn Check โดยมีแผนงานปรับปรุงระบบให้เข้าถึงประชาชนและสามารถใช้งานได้ง่ายขึ้นรวมถึงเล็งเห็นโอกาสของเกษตรกรในการสร้างรายได้จากเศษวัสดุทางการเกษตรจึงได้พัฒนาโมดูลการซื้อขายเศษวัสดุทางการเกษตร (เพิ่มเติม) เพื่อเป็นทางเลือกแทนการเผา เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กลับมาสู่ชุมชน ลดการเผา ลดปัญหาฝุ่นละอองทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ได้อย่างยั่งยืน
จัดทำตัวชี้วัดที่ใช้ร่วมกัน
ให้พิจารณาจัดทำตัวชี้วัดที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกันเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงแก้ไขการบริหารจัดการมลภาวะทางอากาศภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีและสะท้อนกลไกการทำงานแบบมีส่วนร่วมรวมทั้งกำหนดค่าเป้าหมายหรือความสำเร็จที่สามารถวัดผลได้ ดังนี้
- ด้านกฎหมายและนโยบาย เช่น การปรับปรุงระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายไปยังระดับพื้นที่ การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหา การจัดทำงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ร่วมกับชุมชน
- ด้านกระบวนการ เช่น การถ่ายโอนภารกิจจากหน่วยงานส่วนกลางไปยัง อปท. การสร้างความร่วมมือการสื่อสารทำความเข้าใจ การเพิ่มจำนวนเครือข่ายแก้ไขปัญหา การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและอาสาสมัคร
- ด้านผลลัพธ์ เช่น การพัฒนาและประเมินผลการนำเข้าข้อมูลที่ใช้ในการบริหารจัดการมลภาวะทางอากาศ การแสดงจุดความร้อน จุดเผาไหม้ สัดส่วนพื้นที่ที่เกิดไฟป่าหรือไฟในพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนวันหรือช่วงเวลาที่ค่ามาตรฐาน PM2.5 อยู่ในเกณฑ์เตือนภัยหรืออาจมีผลกระทบต่อสุขภาพที่ลดลง หรือจำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินหายใจของแต่ละพื้นที่ลดลงจำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินหายใจในแต่ละพื้นที่
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำตัวชี้วัดที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกันในประเด็นการลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 ในด้านกฎหมายและนโยบายด้านกระบวนการ และด้านผลลัพธ์ รวมทั้งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ กสม. แล้ว
มีการกำหนดตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง เช่น ระดับความสำเร็จของการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่วิกฤต ระดับความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา PM2.5 ของภาคคมนาคม จำนวนพื้นที่ที่ใช้ผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ในการติดตาม วางแผนเพื่อทำให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และไม่เกิน 10 ไมครอน (PM1.0) เฉลี่ยรายปีลดลง และความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมติดตามคุณภาพอากาศและมลพิษ
มีการกำหนดตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้อยละของจำนวนเครือข่ายภาคประชาชนในการป้องกันและควบคุมไฟป่าที่ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับดีมาก ร้อยละของ อปท. ที่จัดกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา PM2.5 ระดับความสำเร็จของคณะผู้แทนไทยในการผลักดันประเด็นการแก้ไขปัญหาจากหมอกควันข้ามแดนในกรอบประชุมอาเซียนระดับความสำเร็จของกิจกรรมในการดำเนินการของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางและกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติและพัฒนา Think Tank เมืองเชียงใหม่และเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือสู้ ฝุ่นควัน
มีการกำหนดตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าเฉลี่ยรายปีของปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือลดลง ร้อยละที่ลดลงของจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ร้อยละของจังหวัดเสี่ยงที่มีการเฝ้าระวังและการจัดการความเสี่ยงต่อสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษอากาศ สัดส่วนจำนวนเที่ยว การเดินรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และร้อยละของปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบเผาในการผลิตน้ำตาลทราย
ที่มา: ทำเนียบรัฐบาล