ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงกลายเป็นวาระสำคัญระดับโลก ประเทศต่าง ๆ และองค์กรข้ามชาติจึงมุ่งเป้าการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยบริษัทที่ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตสิ่งแวดล้อมและสังคมทั่วโลก ดังนั้นการปรับตัวสู่การผลิตสีเขียวที่ต้องทำควบคู่ไปกับการรักษาความเป็นธรรมในการเปลี่ยนผ่านจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับบริษัทเหล่านี้
รศ.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายงานผลการวิจัยในงานสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2567 ครั้งที่ 45 เรื่อง “เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยื
งานวิจัยชิ้นนี้ได้ใช้ข้อมูลหลักของ WBA (World Benchmarking Alliance) ที่มีการประเมินและจัดอันดับบริษัทต่าง ๆ ในระดับโลก เพื่อตรวจสอบว่ามีการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการจัดการผลกระทบต่อสังคมในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพไปถึงระดับไหน
การเก็บข้อมูลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากรายงานความยั่งยืน และรายงานประจำปีของบริษัท ใน 462 บริษัททรงอิทธิพลทั่วโลก ใน 5 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซ ยานยนต์ อาคาร และการขนส่ง ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในจำนวนนี้มีบริษัทไทย 2 แห่งรวมอยู่ด้วย ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
สำหรับการวิเคราะห์ผ่านเกณฑ์สำคัญ ได้แก่ คะแนนการเปลี่ยนผ่านสู่การลดคาร์บอน (ACT) คะแนนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (JT) และคะแนนด้านสังคมพื้นฐาน (CS) นอกจากนี้ยังใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ ได้แก่ จำนวนพนักงาน รายได้ การเป็นเจ้าของ ปีที่ก่อตั้ง GDPต่อหัว และดัชนี Gini ของประเทศที่บริษัทตั้งอยู่
อุตฯยานยนต์ลดก๊าซเรือนกระจกได้ดี
การวิเคราะห์พบว่า บริษัททรงอิทธิพลทั่วโลก มีคะแนนการเปลี่ยนผ่านสู่การลดคาร์บอน (ACT) เฉลี่ยอยู่ที่ 14.43 (จากคะแนนเต็ม 60) แสดงให้เห็นว่าบริษัททรงอิทธิพลทั่วโลก สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 24% ของคะแนนเต็ม โดยภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ สามารถทำคะแนนได้ดีกว่าภาคส่วนอื่น ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่ทำแนนได้ต่ำ คือ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้เมื่อเทียบในระดับภูมิภาค ยุโรปและเอเชียสามารถทำคะแนนได้สูงสุด ส่วนตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือทำคะแนนได้ต่ำที่สุด นอกจากนี้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทำคะแนนได้ดีกว่าบริษัทนอกตลาดฯ และบริษัทเอกชนทำคะแนนได้ดีกว่าบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วย
ของประเทศไทย 2 บริษัท ที่เรามีข้อมูลอยู่ สำหรับ ปตท. ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ทำได้ดีมากขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มขึ้นจากในปี 2021 ที่ 4.7 เป็น 10.6 ในปี 2023 ในขณะที่ กฟผ.เพิ่มขึ้นนิดหน่อยจาก 3.8 เป็น 4.1 ส่วนของการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ของ ปตท. ก็ลดลงจาก 3.7 เป็น 1.3 ซึ่งตรงนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่ามีความเข้มงวดมากขึ้นในการประเมิน อย่างไรก็ตามยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมดในตัวอย่างที่เราทำการศึกษา และ กฟผ.ยังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องของแนวทางที่ไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม
ขณะที่คะแนนเฉลี่ยของคะแนนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (JT) ของบริษัททรงอิทธิพลทั่วโลก เฉลี่ยอยู่ที่ 1.70 (จากคะแนนเต็ม 20) หรือคิด 8.5% ของคะแนนเต็ม แสดงให้เห็นว่าบริษัทส่วนใหญ่ยังมีคะแนนต่ำในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม แต่ก็มีหลายบริษัทที่ยังพยายามไม่ปลดพนักงานออก และคอยอัพสกิลรีสกิล (Upskill-Reskill) ส่วนในด้านการดูแลคุ้มครองสวัสดิการทางสังคม การดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม ความพยายามผลักดันกฎหมาย รวมถึงนโยบายที่จะมุ่งไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม คะแนนเหล่านี้ยังอยู่ในระดับต่ำมาก
สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีคะแนนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (JT) มากสุด คือ ไฟฟ้า ในขณะที่อาคารและขนส่ง มีคะแนนต่ำสุด นอกจากนี้เมื่อเทียบในระดับภูมิภาคพบว่า ยุโรปและเอเชียกลางทำคะแนนได้สูงสุด ขณะที่ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ มีคะแนนต่ำสุด ทั้งนี้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็ทำคะแนนได้ดีกว่าบริษัทนอกตลาดฯ และบริษัทเอกชนทำคะแนนได้ดีกว่าบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วย ยกเว้นภาคขนส่ง
ทั้งนี้เมื่อดูว่า บริษัทขนาดใหญ่ มีจำนวนพนักงาน และรายได้ที่เยอะ จะสามารถที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าบริษัทขนาดเล็กหรือไม่ และบริษัทที่เปิดกิจการมานานแล้วจะลดการปล่อยก๊าซฯได้มากกว่าบริษัทที่เปิดใหม่หรือไม่ ซึ่งผลการจำลองที่ออกมาก็พบว่ามีความสัมพันธ์ในระดับต่ำ และไม่มีความชัดเจนว่าแบบใดดีกว่ากัน ยกเว้นอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีความสัมพันธ์ในระดับปานกลาง ในทิศทางที่ว่า “บริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ ถ้าเป็นบริษัทใหญ่รายรับเยอะ หรือว่ามีจำนวนพนักงานเยอะ ก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้มากกว่าบริษัทขนาดเล็ก แล้วก็บริษัทในยานยนต์ที่มีอายุมากกว่าสามารถจัดการในเรื่องของความเป็นธรรมได้ดีกว่า”
การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมช่วยลดก๊าซเรือนกระจก
เมื่อศึกษาไปถึงความสัมพันธ์ระหว่าง การเปลี่ยนผ่านสู่การลดคาร์บอน (ACT) และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (JT) ผ่านการทำแบบจำลอง พบว่า บริษัทที่มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมเพิ่มขึ้น จะช่วยส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้น แต่ประโยชน์มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาคาร ไฟฟ้า และการขนส่ง แตกต่างกับอุตสาหกรรมยานยนต์ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในช่วงแรก กลับลดประสิทธิภาพลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่จะค่อย ๆ ดีขึ้น เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมที่สูงขึ้น
ยกตัวอย่าง บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยมานาน มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งแรงงานราว 7 แสนคน และบริษัทซัพพลายเออร์อีกหลายพันแห่ง จึงเป็นสาเหตุให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า จึงทำได้ค่อนข้างช้า เพราะต้องคอยรักษาห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดไว้ด้วย แตกต่างค่ายรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังของจีน และสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปแบบดั้งเดิม จึงมีต้นทุนที่ไม่สูงมาก และเปลี่ยนผ่านไปได้ง่ายกว่า
ความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อลดการปล่อยก๊าซฯ
สรุปภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกาใต้ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในขณะที่ตะวันออกกลาง แล้วแอฟริกาเหนือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แย่กว่า
นอกจากนี้ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมาก กลับทำคะแนนในด้านการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม มากกว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย และประเทศที่ร่ำรวยสามารถทำคะแนนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมได้ดีกว่าประเทศที่มีรายได้น้อยกว่า ขณะเดียวกันยังพบว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1. แนวทางนโยบายเฉพาะภาคอุตสาหกรรม
- ภาคอาคาร ไฟฟ้า และการขนส่ง ควรเน้นการรักษาแรงขับเคลื่อนในการปรับปรุงคะแนน JT ตั้งแต่ระยะแรก โดยพัฒนานโยบายที่ส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างความเข้มแข็งให้กับความก้าวหน้าที่ทำได้แล้ว
- ภาคยานยนต์และน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ภาครัฐควรเข้ามาช่วยในการอุดหนุน หรือสนับสนุนด้านกฎหมาย เพื่อสนับสนุนให้บริษัทสามารถทำการเปลี่ยนผ่านได้ราบรื่นและรวดเร็วมากขึ้นน
2. แนวทางนโยบายเฉพาะบริษัท
- บริษัทขนาดเล็กและกลาง ควรได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางการเงิน การสร้างขีดความสามารถ และการให้ทรัพยากรในการดำเนินงานที่ยั่งยืน นอกจากนี้ควรสนับสนุนการร่วมมือระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เพื่อแบ่งปันความรู้และนวัตกรรมในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน
- บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ควรสร้างนโยบายที่เน้นความสำคัญของความรับผิดชอบทางสังคมและการบริหารจัดการที่เป็นธรรมเพื่อเพิ่มคะแนน JT และ ACT
3. แนวทางนโยบายเฉพาะประเทศและภูมิภาค
- ควรลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศและภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรและการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม พร้อมทั้งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศในการ ถ่ายทอดความรู้และสร้างความเข้มแข็งในความสามารถด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่า ดังนนั้นการแลกเปลี่ยนความรู้ก็จะเป็นประโยชน์ รวมไปถึงภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จดีกว่าภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป ก็สามารถเป็นบทเรียนที่ดีให้กับภูมิภาคอื่น ๆ ได้
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอน ต่ำอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมและความยั่งยืนให้กับสังคมและ สิ่งแวดล้อมในอนาคต
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง