“จากนี้เป็นต้นไป จะไม่มีวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยลดลงอีกแล้ว เรากำลังก้าวเข้าสู่พื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยมีตำราเล่มใดเคยกล่าวไว้มาก่อน” นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ และอดีตรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อดีตรัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวไว้การบรรยายในหัวข้อ “น้ำจะท่วมกรุงเทพ…กี่โมง?”
การบรรบายดังกล่าวเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการตามรอยพระราชา จัดโดย มูลนิธิธรรมดี ร่วมกับองค์กรภาคี ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สมาคมนักเรียนเก่า เอเอฟเอส ประเทศไทย และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)
นายวีระศักดิ์ ให้ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ย้ำว่าในปี 2023 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกข้อมูล โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.45 องศาเซลเซียส
แนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปในปี 2024 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบอุณหภูมิแบบวันต่อวันกับปี 2023 จะพบว่า ปี 2024 อุณหภูมิในแต่ละวันสูงขึ้นทุกวันเมื่อเทียบกับอุณหภูมิในปี 2023 นี่คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่า โลกของเรากำลังร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง
ผลกระทบของภาวะโลกร้อนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ตัวเลขบนเทอร์โมมิเตอร์ แต่ยังส่งผลต่อระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างรุนแรง นายวีระศักดิ์ ยังได้ยกตัวอย่างปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบนิเวศต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ปัญหาปะการังฟอกขาว ที่เกิดขึ้นในปี 2553 และเป็นเสมือนสัญญาณเตือนภัยก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเตรียมรับมือ และช่วยกันรักษาระบบนิเวศน์ทางทะเล
ความท้าทายที่ใหญ่หลวงนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ประเทศไทย แต่เป็นวิกฤตระดับโลก การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือที่เร็วขึ้นส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม และบางประเทศได้เริ่มมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้แล้วเช่นเดียวกัน
นายวีระศักดิ์ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงในระยะยาว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางบางส่วนที่อาจจมหายไปใต้น้ำภายในเพียงไม่กี่ชั่วอายุคน พร้อมกับเตือนว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประเทศไทยจะเผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้ปรากฏการณ์ลานีญาส่งผลกระทบต่อประเทศไทยรุนแรงขึ้น
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นความจริงที่ลูกหลานของเราอาจต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้
ศาสตราจารย์พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “โลกเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน: กลยุทธ์ปรับตัวสู่สุขภาพดีในยุคโลกเดือด” โดยเน้นย้ำว่าปัญหาโลกร้อนล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า หรือการปล่อยมลพิษที่มีสารเคมี และสารก่อมะเร็ง
ดร.พิเชษฐ์ เสนอใช้แนวคิด “ใช้ธรรมชาติ รักษา ธรรมชาติ” เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก เน้นย้ำว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่เพียงช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อน แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของเราโดยตรงอีกด้วย
“วันนี้ วิกฤตโลกเดือดไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นความจริงที่เราทุกคนต้องเผชิญและหาทางรับมือร่วมกัน การตระหนักรู้ ปรับตัว และลงมือทำอย่างจริงจังคือหนทางเดียวที่จะช่วยให้เราและลูกหลานมีอนาคตที่ยั่งยืนบนโลกใบนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องหันมาใส่ใจ และร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่ออนาคตของเรา และโลกใบนี้”