การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ของโลกมีความแปรปรวนอยู่แล้ว แต่กิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญในการเร่งให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้นนับตั้งแต่หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมปี 1950 เป็นต้นมา ส่งผลให้ธารน้ำแข็งลดลง ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเกิดสภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงและถี่มากขึ้น
นักวิทยาศาตร์ได้มีการเก็บข้อมูลทั่วโลกพบว่าตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส ส่วนไทยอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส โดยภาคกลางและภาคตะวันออก อุณหภูมิเพิ่มเยอะที่สุด และนอกจากจะพบว่ากลางวันร้อนขึ้นแล้ว กลางคืนก็อุ่นมากขึ้นเช่นกัน
ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่าน ไทยมีจำนวนวันที่ฝนตกแนวโน้มลดลง และระยะเวลาฝนตกก็สั้นลง แต่ระดับความแรงของฝนกลับเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพายุมีแนวโน้มเกิดขึ้นลดลง แต่พายุระดับความรุนแรงดีเปรสชันขึ้นไปกลับเพิ่มขึ้น
เมื่อมองไปในอนาคต มีการจำลองสถานการณ์สภาพภูมิอากาศของไทย มีแนวโน้มที่แย่ลง สภาพอากาศสุดขั้วจะกระจายไปทั่วประเทศมากขึ้น หรือร้อนมากขึ้น และยาวนานขึ้น อีกทั้งฝนจะตกน้อยลงแต่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ไทยเสี่ยงเผชิญน้ำท่วมฉบับพลัน สลับกับภัยแล้ง หรือ เผชิญกับสภาพอากาศที่สุดขั้วมากขึ้นนับจากนี้เป็นต้นไป
ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยกับสภาพอากาศสุดขั้ว
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยผลวิจัยถึงความเสี่ยงที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยสามารถแบ่งตามช่องทางการส่งผ่านผลกระทบได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.ความเสี่ยงทางกายภาพ เช่น ภัยแล้ง อุณหภูมิสูง น้ำท่วม 2.ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เช่น นโยบายการคลัง-การเงิน กฎหมาย การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ทุกคนต้องปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
ด้านภาคการผลิตละบริการ โดยเฉพาภาคเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เนื่องจากจำเป็นต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่เหมาะสมในการผลิต หากอุณหภูมิแปลี่ยนแปลงจะกระทบการเพาะปลูกพืชทุกขนิด โดยอ้อย ข้าว ข้าวโพดได้รับผลกระทบมากสุด รวมไปถึงการเลี่ยงสัตว์เลี้ยง การทำประมง และเพราะเลี้ยงสัตว์น้ำ สุดท้ายจะทำให้รายได้เกษตรกรลดลง และราคาผลผลิตทางการเกษตรและอาหารก็จะปรับตัวสูงขึ้น
ในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจในภาคเกษตร จากการคำนวณความเสียหายตั้งแต่ปี 2554-2558 มีแนวโน้มสะสมตั้งแต่ 0.61-2.85 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 17,912-83,826 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังพบว่าแต่ละพื้นที่ในไทยได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน โดยเกษตรกรที่อยู่ในเชตชลประทานมีโอกาสได้รับผลกระทบน้อย เพราะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ ส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานมีโอกาสได้รับผลกระทบมากสุด เพราะต้องพึ่งพาฝนเพียงอย่างเดียว จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากเกษตรกรไทยส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานทั้งสิ้น
ด้านภาคอุตสาหกรรมการผลิต ก็ได้รับผลกระทบที่หลากหลาย โดยน้ำท่วมจะสร้างความเสียหายให้กับเทคโนโลยีเครื่องจักร อุปกรณ์ และสินค้าในโรงงาน อีกทั้งกระทบห่วงโซ่อุปทานในด้านวัตถุดิบ การขนส่งสินค้า และระบบโลจิสติกส์ ขณะที่ภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องพึ่งพาน้ำปริมาณมาก เช่น ใช้น้ำหล่อเย็น หรือใช้น้ำเป็นวัตถุดิบอย่างโรงงานกระดาษ เป็นต้น ส่วนอากาศที่ร้อนขึ้น จะทำให้ประสิทธิภาพแรงงานลดลงซึ่งจะมีผลต่อภาคการผลิต การก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการกำหนดราคาคาร์บอนด์ คือ มาตรการการคิดต้นทุนตามปริมาณคาร์บอนที่แฝงอยู่ในสินค้า โดยราคาคาร์บอนที่เหมาะสมจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้มีการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะส่งผ่านให้โรงงานมีภาระต้นทุนสูงขึ้น นอกจากนี้ยุโรปเริ่มใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) สินค้าที่ส่งไปขายในยุโรปต้องปรับปรุงตามเกณฑ์ที่กำหนด อีกทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย ก็กำลังเตรียมออกมาตรการด้านคาร์บอนเช่นเดียวกัน
ด้านภาคท่องเที่ยวของไทยได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับคาร์บอนต่ำ แต่ยังละเลยในด้านความเสี่ยงทางกายภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย โดยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นมีดังนี้
- การเพิ่มขึ้นของความถี่และความรุนแรงของพายุและน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว
- การเกิดภัยแล้งกระทบต่อปริมาณน้ำที่ใช้ในการให้บริการนักท่องเที่ยว
- การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงคลื่นซัดฝั่งอาจสร้างความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่ง
- ไฟป่าส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวอย่างมากโดยเฉพาะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง
- ภาวะความเป็นกรดของน้ำทะเลส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง
- การเปลี่ยนแปลงของนโยบาย กฎหมายและกฎระเบียบส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
- ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ด้านภาคครัวเรือน จะมีกระทบต่อสุขภาพประชาชนในอนาคตมากขึ้น เนื่องจากคลื่นความร้อย ภัยแล้ง และฝนตกรุนแรง ขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง และน้ำท่วมจะส่งผลผู้คนต้องย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย หรืออาจลดทอนความสามารถของผู้คนในการย้ายถิ่นฐาน เพราะสภาพอากาศที่รุนแรงทำให้บางคต้องสูญเสียทุนทรัพย์ในการย้ายถิ่นฐาน นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะส่งผลกระทบต่อรายได้ รายจ่าย สินทรัพย์ และหนี้สินของครัวเรือน โดยเฉพาะภาคเกษตร เพราะแรงงานในภาคเกษตรของไทยมีจำนวนมากถึง 12.62 ล้านคน หรือ 34.1% ของกำลังแรงงานทั้งหมด
ด้านภาคการเงิน ความเสี่ยงทางกายภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ จะทำให้ความเสี่ยงทางการเงินของภาคการเงินสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่องบดุลของสถาบันการเงินทั้งทางด้านสินทรัพย์และหนี้สิน แบ่งเป็น 5 ความเสี่ยง ได้แก่
- ความเสี่ยงด้านเครดิต เนื่องจากโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่สูงขึ้น มูลค่าของหนี้ที่ผิดนัดชำระที่จะสูงขึ้น และหลักประกันจะกลายเป็นสินทรัพย์ด้อยค่า ทีไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
- ความเสี่ยงด้านภาวะตลาด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อทั้งธุรกิจแต่ละแห่งและต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้ราคาหลักทรัพย์เปลี่ยนไป ทั้งราคาของตราสารทุน ตราสารหนี้ และโภคภัณฑ์ ซึ่งราคาตลาดของสินทรัพย์อาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ เช่น ราคาของสินทรัพย์ที่เดิมไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างครบถ้วน
- ความเสี่ยงในการรับประกัน เนื่องจากโอกาสและมูลค่าความเสียหายที่เพิ่มขึ้น
- ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ ที่เกิดจากการดำเนินกิจการโดยตรงของสถาบันการเงิน เช่น การหยุดชะงักของกิจการ และการถูกฟ้องร้อง นอกจากนี้ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำยังส่งผลต่อความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ในการหาแหล่งเงินทุน รวมถึงแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อทดแทนเงินกู้เดิม
ด้านภาคการคลัง โดยจะส่งกระทบต่อการคลังภาครัฐทั้งสินทรัพย์ รายได้ และรายจ่าย สุดท้ายมีผลต่อหนี้สินและความยั่งยืนทางการคลัง ผ่าน 3 ช่องทางหลัก ประกอบด้วย
- สินทรัพย์ของภาครัฐ ภัยพิบัติที่รุนแรง จะสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทำให้ภาครัฐต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เพื่อให้ทนทานต่อภัยพิบัติ และยังมีภาระในการซ่อมแซมทรัพย์สินเหล่านี้
- รายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจมีรายได้ที่ลดลง ทำให้รัฐเก็บภาษีลดลงตามไปด้วย
- รายได้และรายจ่ายภาครัฐผ่านการดำเนินนโยบายการคลัง รัฐยังมีบทบาทในการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบต่างผ่านนโยบายการคลัง โดยรสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการยกเว้นภาษี และการให้เงินอุดหนุนสำหรับกิจกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน และการเก็บภาษีคาร์บอนกับกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศ นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีบทบาทในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านในกรณีที่ภาคเอกชนไม่มีแรงจูงใจ
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหาภาค
การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี (GDP) ในฝั่งอุปสงส์รวม คือ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกสินค้าและการบริการสุทธิ ขณะที่ฝั่งอุปทานรวม คือ ผลิตภาพ ทุนธรรมชาติ ทุนกายภาพ และทุนมนุษย์ (ปริมาณและคุณภาพแรงงานในประเทศ)
เงินเฟ้อมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้าเกษตรกรมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารสด อีกทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำจะกระทบต่อราคาพลังงานให้ราคาสูงขึ้น แต่จากงานศึกษาพบว่าสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติจะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก ยกเว้นราคาอาหารและพลังงานจะต้องพุ่งสูงขึ้นมากและต่อเนื่องจึงจะทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไป
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะขยายช่องว่างมากขึ้น เนื่องจากความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน และความสามารถของธุรกิจและครัวเรือนมนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน โดยความเหลื่อมล้ำรุนแรงเกิดขึ้นในหลายมิติ ทั้งความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท ความเหลื่อมล้ำระหว่างเกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่ ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบการผลิตรายย่อยและรายใหญ่ ความเหลื่อมล้ำระหว่างครัวเรือนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน
สรุปคือคนจนจะมีแนวโน้มได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมีข้อจำกัดทางการเงิน ความรู้ ทักษะ และเทคโนโลยี ซึ่งต่างจากคนรวยจะมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ สามารถรับมือได้ดีกว่า
นอกจากนี้ยังมีผลศึกษาพบว่าสภาพอากาศที่ผิดปกติยังทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวในจังหวัดต่าง ๆ ลดลง 2.28% แต่ผลกระทบต่อแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน โดยจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับกระทบเชิงลบจากสภาพอากาศที่ผิดปกติสูงกว่าจังหวัดอื่นถึง 0.74%
เตือนทุกฝ่ายเร่งปรับตัว-ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นักวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ มองว่า แม้ปัจจุบันไทยจะให้ความสำคัญกับคาร์บอนต่ำ แต่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนจัดการกับความท้าทายและอุปสรรคในการดำเนินงาน ทั้งเป็นองค์ความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยี หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งนำไปสู่บทบาทของภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พ.ร.บ.Climate change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) คล้าย ๆ กับเป็นร่มที่ร้อยเรียงเรื่องเครื่องมือต่าง ๆ แต่ว่า เรื่อง Climate change ไม่อยู่เพียงแค่กระทรวงทรัพยากรเพียงอย่างเดียว จะเห็นเลยว่าที่เล่ามามันจะกระจายไปหลายกลุ่มมาก ๆ อย่างเกษตรก็ต้องเริ่มทำเรื่องของการเตรียมความพร้อมทำยังไงให้ข้าวไทยมันโลว์คาร์บอน เปลี่ยนมาปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งไหม ตรงนี้ไม่ต้องเรื่องของ พ.ร.บ.Climate change เลย อันนี้เป็นสิ่งที่ดำเนินการเริ่มไปได้เลย กระทรวงอุตสาหกรรม อย่าง CBAM (มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของยุโรป) ก็ได้เริ่มมาแล้ว และปี 2026 เขาเอาจริงแล้ว เพราะฉะนั้นภาคอุตสาหกรรมก็น่าจะต้องเริ่มแล้วในการที่จะปรับตัวผู้ประกอบการไทยใน 6 กลุ่มแรกก่อน แต่เป็นพวกอุตสาหกรรมซีเมนต์ เหล็กกล้า ไฮโดรเจน อะไรพวกนี้ ให้เขาพร้อมที่จะรับมือพวก CBAM ท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน โลว์คาร์บอนอย่างเดียวไม่ไหวไหม ควรจะต้องทำเรื่อง Climate change ควบคู่กันไปด้วยหรือเปล่า ตรงนี้คิดว่าในแต่ละหน่วยงานน่าจะต้องเริ่มทำได้เลย ไม่ต้องรอเรื่องของ พ.ร.บ.Climate change
ธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัว เดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero