ภาวะโลกร้อนได้ทำให้ทั่วโลกเริ่มตระหนักมากขึ้นถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้เริ่มแก้ไขด้วยวิธีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน
ในประเทศไทยก็มีการส่งเสริมให้พัฒนาไปสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ตัวแปรสำคัญที่จะช่วยในการเปลี่ยนผ่าน ในขณะที่ภาพการเงินนับว่ามีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้เกิดการพัฒนาในทิศทางดังกล่าว
จากความสำคัญของภาคการเงินนี้เอง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือธนาคารพาณิชย์และสมาคมธนาคารไทย ถึงแนวทางการส่งเสริมให้ภาคการเงินมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม
แม้ว่าที่ผ่านมา สถาบันการเงินในไทยได้เริ่มตื่นตัวออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อสีเขียว (green loan) เพื่อสนับสนุนธุรกิจในโลกใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่ ธุรกิจไทยกลับยังคงพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในสัดส่วนที่สูง และไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีขีดความสามารถจำกัดในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ในจังหวะเวลาที่เหมาะสมกับบริบท และเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ความท้าทายธุรกิจโรงแรมไทย
โลกร้อนทุบสถิติ เกิน 1.5 องศาก่อนยุคอุตฯนาน 12 เดือน
สัญญาณเตือนยุคโลกเดือด “ไข้เลือดออก-มาลาเรีย”ระบาดหนัก
ดังนั้น วิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม ธปท.จึงต้องผลักดันผ่านภาคการเงิน โดยให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (D-SIBs) และธนาคารพาณิชย์อื่นที่สนใจ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนให้กับภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถปรับตัวและเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ทั้งในแง่การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หรือกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ รวมถึงการลงทุนเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
โดยตั้งเป้าหมายว่าแต่ละธนาคารจะออกผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มลูกค้าที่พร้อมปรับตัว ในช่วงต้นไตรมาส 3 ของปี 2567 และความร่วมมือของภาคการเงินในโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจในวงกว้างเกิดการปรับตัว
การขับเคลื่อนให้ภาคเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกันและเกิดผลสัมฤทธิ์นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งการกำหนดนโยบายภาครัฐในระดับประเทศที่ชัดเจน การมีกลไกกระตุ้น หรือสร้างแรงจูงใจที่เอื้อให้ภาคการเงินและภาคธุรกิจปรับตัว การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ภาคธุรกิจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและการเงิน โดยสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดจะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการเติบโตด้านเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้อย่างราบรื่น และทันการณ์
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)