ThaiPBS Logo

เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ความท้าทายธุรกิจโรงแรมไทย

23 ก.พ. 256714:59 น.
เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ความท้าทายธุรกิจโรงแรมไทย
  • ธุรกิจโรงแรมทั่วโลกตื่นตัว ยกระดับเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาโลกร้อน
  • สถิติโรงแรมไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชีย
  • ผู้ประกอบการไทยครึ่งหนึ่งแม้จะเริ่มปรับตัว แต่เกือบทั้งหมดยังขาดความเข้าใจในการวัดผลกระทบหรือการจัดทำรายงานความยั่งยืน
  • รัฐบาลควรต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนของธุรกิจโรงแรมไทย
โรงแรมไทยกำลังปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชีย ท่ามกลางกระแสแก้ปัญหาโลกร้อนในหลายประเทศ แม้ไม่ได้มีกฎกติกาบังคับให้โรงแรมต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงาน แต่ก็มีแรงการกระตุ้นในทางอ้อมที่มาจากความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งถือเป็นความท้าทายของธุรกิจ

ท่ามกลางภาวะโลกร้อนที่เริ่มรุนแรงขึ้น จนก่อให้เกิดกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทำให้ทุกธุรกิจทั่วโลกต่างตื่นตัวกันมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจโรงแรมด้วยเช่นกัน จากรายงาน A Net Zero Road Map for Travel and Tourism ของ สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC) พบว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกิจกรรมทั่วโลก และโรงแรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยไม่ถึง 1% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกิจกรรมของโลก

ธุรกิจโรงแรมทั่วโลกตื่นตัว เร่งยกระดับเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แม้โรงแรมจะเป็นธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาจำนวนน้อย และไม่น่าจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่เหตุใดโรงแรมทั่วโลกและไทยจึงต้องรีบตื่นตัวกับเรื่องนี้ ทั้งที่กฎกติกาไม่ได้บังคับให้ธุรกิจต้องเร่งปรับแนวทางการทำธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1. ความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มที่เดินทางเพื่อธุรกิจ การจัดงานประชุมสัมมนาทั้งจากองค์กรต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงในภูมิภาคอเมริกาและยุโรป ของ HRS (Hospitality & Retail Systems) พบว่า กลุ่มตัวอย่างในยุโรกว่า 78% และกลุ่มตัวอย่างในอเมริกาเหนือ 61% ต้องการให้โรงแรมที่บริษัทจะใช้บริการแสดงหลักฐานข้อมูล หรือเอกสารรับรองผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานสากล หรือของแต่ละประเทศ สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ระดับที่ประกาศใช้นโยบายดังกล่าว เช่น Siemens, Microsoft, Amazon และ Ernst & Young

2. การแข่งขันกับหลายแบรนด์ที่เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนแล้ว เช่น โรงแรมเชนรายใหญ่ของโลกมีการประกาศเป้าหมายการลด หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเริ่มมีการปรับมาใช้พลังงานงานหมุนเวียนบางส่วน การปรับเปลี่ยนทั้งด้านฮาร์ดแวร์อย่างการเปลี่ยนเป็นหลอดไฟประหยัดพลังงาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการใช้ไฟและน้ำให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่ในด้านซอฟต์แวร์ ได้แก่ การติดตั้งระบบการบริหารจัดการพลังงาน การติดเซนเชอร์เพื่อบันทึกข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและน้ำ รวมถึงการใช้วัสดุตกแต่งในโรงแรมที่ทำมาจากวัตถุดิบรีไซเคิล (Recycle) และ อัพไซเคิล (Upcycle) การใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการขนส่ง ขณะที่โรงแรมที่สร้างใหม่มีการออกแบบโรงแรมและรูปแบบการบริหารจัดการให้ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

3. พันธมิตรทางการค้าที่ต้องการคู่ค้าที่มีการปรับตัวสู่ความยั่งยืน เช่น ออนไลน์ทราเวลเอเจ้นท์ (OTAs) รายใหญ่เริ่มมีการระบุสถานะของโรงแรมและที่พัก ที่ได้รับการรองรับว่ามีการจัดการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ

โรงแรมในไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินค่าเฉลี่ยในเอเชีย

เมื่อมาดูฝั่งโรงแรมในไทย ยังคงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชียด้วยกัน และผู้ประกอบการโรงแรมไทยที่มีการตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ยังมีจำนวนน้อยราย และจะดำเนินการเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น

จากข้อมูลของ Cornell Hotel Sustainability ณ เดือน ก.พ. 2567 พบว่า โรงแรมในประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการเข้าพักของลูกค้า 1 ห้อง อยู่ที่ประมาณ 0.064 ตันคาร์บอน (tCO2e) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงแรมในภูมิภาคเอเชียที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ประมาณ 0.057 ตันคาร์บอน และเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 0.019 ตันคาร์บอน

แม้ผู้ประกอบการโรงแรมไทยจะสนใจดำเนินการด้านความยั่งยืน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการวัดผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดทำรายงานความยั่งยืน หรือเริ่มดำเนินการจากส่วนที่ใช้เงินลงทุนน้อยและสามารถทำได้ทันที เนื่องจากรายได้ธุรกิจโรงแรมเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19

ผู้ประกอบการโรงแรม 96% ขาดความเข้าใจการวัดผลกระทบ “ปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้ประกอบการโรงแรมไทยกว่า 52.8% มีการปรับตัว เช่น การเปลี่ยนเป็นหลอดไฟประหยัดพลังงาน การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ส่วนกลาง การเปลี่ยนอุปกรณ์และติดตั้งระบบการประหยัดน้ำ การคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล หรือทำเป็นปุ๋ย รวมถึงการลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ซึ่งโรงแรมที่มีการปรับตัวส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ และโรงแรมที่บริหารโดยเชนจากต่างประเทศ

ขณะที่ผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดราว 96.5% ยังขาดความเข้าใจในการวัดผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการจัดทำรายงานความยั่งยืน

ในอนาคตช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ผู้ประกอบการเกือบครึ่งราว 43.8% มีแผนที่จะยกระดับโรงแรมให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีแผนหรือยังไม่แน่ใจมีสัดส่วนมากกว่าครึ่ง เนื่องจากมีความกังวลเรื่องเงินทุน ต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวดีหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 และยังไม่มีความชัดเจนในมาตรฐานการวัด

บทบาทรัฐบาลช่วยดันโรงแรมไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน

เพื่อให้โรงแรมในไทยมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนนั้น จะต้องมีการสนับสนุนอีกมากจากทางหลายฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐที่ควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น การจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล การออกมาตรการทางภาษีชั่วคราวอย่างการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่มีการลงทุน หรือปรับปรุงโรงแรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงภาครัฐควรจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพลังงานทางเลือก หรือพลังงานหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการใช้ในต้นทุนที่ถูกลง

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ คือ ปัญหาที่ไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญและพยายามหาทางรับมือแก้ไข โดยรัฐบาลประกาศสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยในปี 2567 ได้เข้าร่วมประชุม COP29 เพื่อแสดงบทบาทความร่วมมือกับประชาคมโลก

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

ผู้เขียน: