จากรายงาน กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหาภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เผยแพร่รายงาน ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส ที่ 3 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 – 2567 (เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566) โดยการวิเคราะห์ ถึง แนวโน้มสภาวะเอลนีโญ (El Niño) และผลกระทบต่อปริมาณน้ำภายในประเทศ
รายงานดังกล่าว ระบุว่า สถานการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มจะคงสภาวะที่เรียกว่า ‘เอลนีโญรุนแรง’ ลากยาวไปจนถึงเดือนมีนาคม 2567 ก่อนอ่อนลงจนเข้าสู่สภาวะเอลนีโญระดับอ่อน และเข้าสู่สภาวะปกติในเดือนมิถุนายน 2567
สำหรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2567 สามารถแบ่งได้เป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ดังนี้
- อุณหภูมิสูง เสี่ยงเกิดไฟป่า ปัญหาหมอกควัน
โดยคาดการณ์ว่าอุณหภูมิทั่วประเทศ จะสูงกว่าปกติ เฉลี่ย 26.2 – 29.9 องศาเซลเซียส ค่ากลางอยู่ที่ 27.6 องศาเซลเซียส (จากค่าปกติ 24.7 – 28.4 องศาเซลเซียส และค่ากลาง 26.1 องศาเซลเซียส) ในช่วงเวลาดังกล่าว คลื่นความร้อนจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจก่อให้เกิดภัยธรรมชาติ อาทิ การเกิดไฟป่า ตลอดจนปัญหาฝุ่น PM 2.5 และหมอกควัน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลเกษตร
- ฝนตกน้อย น้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
ขณะที่ปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศจะมีค่าต่ำกว่าปกติ คือ อยู่ที่ 11.3 – 95.7 มิลลิเมตร และมีค่ากลางอยู่ที่ 43.3 มิลลิเมตร (จากค่าปกติ 20.6 – 92.8 มิลลิเมตร และค่ากลาง 51.1 มิลลิเมตร) ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการปรับตัวลดลงของปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีมากถึงร้อยละ 75 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งยังส่งผลต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนทั่วประเทศ และอาจประสบปัญหาให้ปริมาณน้ำใช้การได้จริง (Useable Water Supply) ไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้น้ำของประชาชน (Useable Water Demand) หรือกล่าวได้ว่า “ประสบปัญหาภัยแล้วชัดเจน”
โดยมีข้อเสนอว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดำเนินการจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่มีสัดส่วนการใช้น้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของการใช้น้ำทั้งประเทศ ขณะที่ภาคบริการ และภาคการผลิตอุตสาหกรรม มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 12.0 และร้อยละ 8.0 ตามลำดับ
ปริมาณน้ำใช้ได้ปี 66 ต่ำกว่าปีที่แล้งที่สุด
ข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ณ วันท่ี 31 ตุลาคม 2566 พบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนท่ัวประเทศอยู่ที่ 56,220 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 79.26 ของปริมาตรความจุอ่างเก็บน้ำ ซึ่งต่ำกว่าช่วงเวลาเดี่ยวกันในปี 2561 ช่วงก่อนเกิดภัยแล้งในปี 2562 โดยมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 57,743 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 81.41 ของปริมาตรความจุอ่างเก็บน้ำ
ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้จริงทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 46.08 ของความจุน้ำใช้การได้จริง ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 48.22 ของความจุน้ำใช้การได้จริง ในปี 2561
ปริมาณน้ำ 4 ภาค ของไทยที่น้ำน้อยกว่าปี 61
- ภาคตะวันออก มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 1,075 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 70.96 ของความจุน้ำใช้การได้จริง) ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 89.44 ของความจุน้ำใช้การได้จริงในปี 2561
- ภาคใต้ ปริมาณน้ำใช้การได้จริง 4,162 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 50.79 ของความจุน้ำใช้การได้จริง) ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 61.59 ของความจุน้ำใช้การได้จริงในปี 2561
- ภาคตะวันตก ปริมาณน้ำใช้การได้จริง 9,215 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 34.64 ของความจุน้ำใช้การได้จริง) ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 41.26 ของความจุน้ำใช้การได้จริงในปี 2561
- ภาคเหนือ ปริมาณน้ำใช้การได้จริง 10,746 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 43.29 ของความจุน้ำใช้การได้จริง) ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 51.31 ของความจุน้ำใช้การได้จริงในปี 2561
อย่างไรก็ตามยังมีพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงสูงกว่าปี 2561 เนื่องจากเป็นพื้นที่ฝนตกชุกและมีน้ำท่วมในหลายจังหวัด ได้แก่
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำใช้การได้จริง 6,340 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 75.76 ของความจุน้ำใช้การได้จริง) ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 38.59 ของความจุน้ำใช้การจริงในปี 2561
- ภาคกลาง ปริมาณน้ำใช้การได้จริง 1,146 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 80.76 ของความจุน้ำใช้การได้จริง) ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 60.11 ของความจุน้ำใช้การได้จริงปี 2561
ดังนั้นจึงจะต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์และข้อมูลปริมาณน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อการบริหารจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง รวมทั้งการวางระบบเตือนภัยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยแล้ง รวมถึงมาตรการรับมือเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน
แหล่งอ้างอิง