การรับมือจากวิกฤตโลกร้อนในปี 2025 ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก และความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นปัญหาเร่งด่วน ซึ่งจากรายงานของโครงการสังเกตการณ์โลกแห่งสหภาพยุโรป (Copernicus Climate Change Service) ซึ่งระบุว่าปี 2568 อุณหภูมิพื้นผิวอากาศสูงกว่าระดับก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.75 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อเนื่องตลอดสองปีที่ผ่านมา
ที่น่ากังวลคือ อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในหลายภูมิภาคทั่วโลกยังคงสูงผิดปกติ ส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศ น้ำท่วม ภัยพิบัติที่เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ประเทศไทย ปัญหาการน้ำท่วมภัยพิบัติที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ส่งผลให้เกิดความเสียหาย และต้องใช้งบประมาณในการเยียวยาจำนวนมาก
ในปี 2567 รัฐบาลอนุมัติงบกลาง 3,045 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติงบเพิ่มเติมอีก 5,000 ล้านบาท สำหรับเยียวยาผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความเสียหายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
แม้ไทยจะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติจากผลกระทบโลกร้อน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการออกแบบนโยบายในเชิงป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน มีเพียงมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาหลังเหตุการณ์อุทกภัย ทำให้เกิดความเสียหายและงบประมาณในการเยียวยาเพิ่มมากขึ้น
การผลักดันในเชิงนโยบายในเชิงป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบจากโลกร้อนจึงเป็นสิ่งจำเป็น และในบางพื้นที่ มีการย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติซ้ำซาก จนไม่อาจอยู่อาศัยได้
ธิดา ไชยปะ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มศึกษาวิจัยพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ 3 ประเทศ คือไทย กัมพูชา เวียดนาม ภายใต้ชื่อโครงการ Towards just and sustainable land allocation for Southeast Asia’s farmers displaced by climate change โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการทำวิจัยจาก International Development Research Centre: IDRC ประเทศแคนาดา เพื่อผลักดันการออกแบบนโยบายเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่นแปลงสภาภภูมิอากาศ
เหตุผลที่เลือกศึกษาใน 3 ประเทศ เนื่องจากพบว่าเกิดภัยพิบัติ จากผลกระทบความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change ) บ่อยครั้งขึ้น ทำให้ในแต่ละปีภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณเยียวยาในการฟื้นฟูจำนวนมาก ซึ่งการศึกษาครั้งนี้มีระยะเวลาศึกษา 3 ปี นับจากปี 2567-2570
ธิดา ไชยปะ
ธิดา บอกว่า อยากทำให้ภาครัฐตื่นตัวออกแบบนโยบายในเชิงป้องกันมากกว่าการฟื้นฟู เยียวยา เพราะพบข้อมูลในแต่ละปี ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเยียวยาหลังภัยพิบัติสูงมาก ทำให้เราควรมีการใช้เทคโนโลยี เพื่อมาใช้คาดการณ์ พยากรณ์ล่วงหน้าได้ในระยะยาวเวลานาน ๆ ว่าพื้นที่ไหนในประเทศจะเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ เพื่อร่วมทำงานกับชุมชนก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติ
“เชียงราย -เชียงใหม่ -นครศรีธรรมราช” พื้นที่เสี่ยง
พื้นที่ศึกษาวิจัย จะเลือกพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมซ้ำซากใน 3 ประเทศ โดยในประเทศไทย ภาคเหนือ คือ แม่สาย เชียงราย ส่วนภาคใต้ คือ นครศรีธรรมราช ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดมีพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
สาเหตุที่เลือก จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช เนื่องจากพบว่าเป็นพื้นที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี และมีพื้นที่ภาคเกษตรจำนวนมาก โดยการศึกษาวิจัยครอบคลุมในหลายอำเภอ เช่น อ.เมือง อ.ปากพนัง และ เวียงป่าเป้า จ .เชียงราย อ.เมือง เชียงใหม่
เร่งทำ GIS MAP สแกนหาพื้นที่เสี่ยงภัย
สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้พึ่งเริ่มศึกษาวิจัย และมีระยะเวลาศึกษา 3 ปี โดยในประเทศไทยมีความคืบหน้ามากที่สุด ขณะที่อีก 2 ประเทศ คือเวียดนาม และ กัมพูชา ยังมีปัญหาความยากลำบากในการหาทีมวิจัยในพื้นที่
ส่วนความคืบหน้าในประเทศไทย อยู่ในขั้นตอนการทำ แผนที่ GIS เพื่อดูพื้นที่เสี่ยงภัย จัดทำแผนป้องกันในอนาคต โดยได้เข้าไปร่วมหารือกับ 20 หน่วยงานภาครัฐเพื่อหาข้อมูลพื้นที่เสี่ยงในการจัดทำโครงการเรียบร้อยแล้ว
“ งานวิจัยในประเทศไทยมีความคืบหน้ามากกว่า 2 ประเทศ โดยได้เริ่มทำแผนที่ GIS เพื่อจะดูว่าในอนาคตอีก 10 ปี 20 ปี หรือมากกว่า 50ปีข้างหน้ามีพื้นที่ไหน ที่มีความเสี่ยงจะเจอภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม เพราะที่ผ่านมาเราจะมีข้อมูลในอดีต เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ทำให้ไม่มีผลในการออกนโยบายในเชิงป้องกัน”
พื้นที่ “ท่วมซ้ำซาก”ชุมชน อาจต้องย้ายถิ่น
สำหรับพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจนต้องอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย โดยไม่สมัครใจ เนื่องจากเกิดภัยพิบัติ เช่น กรณีบ้านห้วยขาบ หมู่ที่ 7 ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการโยกย้ายทั้งหมู่บ้านเนื่องจากภัยพิบัติดินถล่มและฝนตกหนัก ทำให้ไม่สามารถอยู่ได้ทั้งหมู่บ้านต้องอพยพ ไปยังพื้นที่ว่างเปล่าที่รัฐจัดหาให้ ส่วนอีกกรณี คือ หมู่บ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีปัญหาภัยพิบัติหลายครั้ง แต่พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะไม่ย้ายถิ่นไปยังพื้นที่อื่น
“ การแก้ปัญหาหลังเกิดภัยพิบัติทำให้เกิดความเสียหาย และต้องใช้งบประมาณในการแก้ไขจำนวนมาก โครงการศึกษาวิจัยจึงต้องการลงพื้นที่เพื่อศึกษา และจัดทำแผนเคลื่อนย้ายผู้คนก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติ เพราะไม่อยากให้เป็นวัวหายแล้วล้อมคอก หลังเกิดเหตุการณ์แล้ว”
“ชุมชนเสี่ยง”ไม่ย้าย ความท้าทายที่ต้องอธิบาย
ความท้าทายที่ ธิดา พบคือ ปรากฎการณ์ trap population ที่ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย น้ำท่วมซ้ำซาก ไม่ต้องการย้ายจากถิ่นฐาน แม้จะเผชิญกับภัยธรรมชาติทุกปี แต่ยังต้องการอยู่ที่เดิม
“ปรากฏการณ์นี้น่าสนใจมาก เพราะเราได้สำรวจข้อมูลภาคครัวเรือน กลุ่มเปราะบางที่ชุมชนเกษตรกรรมในนครศรีธรรมราช คำตอบส่วน ใหญ่ คือ ไม่อยากย้ายออก เลือกที่จะปรับตัว ด้วยเหตุผลต่างต่างนา ๆ ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องไปวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าอะไรคือสาเหตุที่ทําให้เขาไม่ยอมย้าย แม้จะภัยพิบัติทุกปี”
ส่วนเหตุผลที่ชุมชนไม่ต้องการย้ายถิ่นฐานมีตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ที่เป็นผู้สูงอายุ ไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะย้ายถิ่น หรือเป็นกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
คำถามใหญ่ ? “ย้าย”แล้วไปไหน
คำถามในเชิงโครงสร้างคือ ย้ายแล้วไปไหน รัฐได้เตรียมที่ดิน หรือ แผนรองรับกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและต้องย้ายถิ่นฐานหรือไม่
ธิดา บอกว่า คำตอบในเชิงโครงสร้างคือ ถ้าให้เขาย้ายแล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหน ดังนั้น ความท้าทายที่อธิบายให้พวกเขาเชื่อว่า สามารถย้ายไปได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเชื่อ กับระบบประเพณีวัฒนธรรมเดิม เช่น ผู้คนที่นับถือที่ดินและ ผีปูย่า การย้ายถิ่นฐานอาจจะทำให้ ผีปู่ ย่า โกรธ จะต้องทำอย่างไรถึงจะให้คนกลุ่มนี้เชื่อว่า การย้ายถิ่นฐานในที่ดินใหม่สามารถพาผีปู่ย่าไปกับเขาได้
“ต้องมีการทำวิจัยเพิ่มเพื่อจะดูว่าอะไรคือสิ่งที่จะทําให้เขาสามารถเก็บความเชื่อเหล่านี้ไว้ได้ เช่น การย้ายไปในที่ดินแห่งใหม่ อาจต้องมีพิธีกรรมอะไรบางอย่างที่ทําให้เขารู้สึกหรือว่าเขายังคงความเชื่อเรื่องผีปู่ย่า และเขายังสามารถพาไปกับตัวเค้าได้ในที่ดินแห่งใหม่”
“ยิ่งปรับตัว” อาจยิ่งสร้างปัญหาใหม่
การย้ายถิ่นฐานของพื้นที่เสี่ยงภัย ถือเป็นหนึ่งในการปรับตัวเพื่อรับมือโลกร้อน แต่ส่วนหนึ่งของการปรับตัว ธิดา มองว่า ต้องเปลี่ยนmindset ของผู้คนที่มองว่ามนุษย์ฉลาด สามารถจัดการธรรมชาติด้วยการใช้เทคโนโลยี เมื่อมีน้ำท่วม ภัยพิบัติ สามารถแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ
แต่กลายเป็น เทคโนโลยีที่นำมาใช้ยิ่งเพิ่มปัญหามากขึ้น เป็น maladaptation ยิ่งปรับตัว ยิ่งทําให้ปัญหาหนักกว่าเดิม เช่น การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ ในแม่น้ำ ทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆตามมาจำนวนมาก
ดังนั้นต้องเปลี่ยน mindset ที่ว่ามนุษย์เราสามารถจัดการกับธรรมชาติผ่านการใช้เทคโนโลยีได้ ซึ่งต้องทำงานเชิงลึกในวิธีคิดของผู้คนมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจการปรับตัวรับมือกับธรรมชาติร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการปรับตัว ในระดับปัจเจกบุคคล เพื่อเอาตัวรอดเกิดขึ้นแล้วและไปเร็วกว่าการปรับของของภาครัฐ เช่น ที่นครศรีธรรมราช เราพบว่าชาวนาในพื้นที่น้ำท้วมซ้ำซาก เขาปรับตัวเลิกปลูกข้าว หันมาปลูกปาล์มน้ำมัน หรือ พืชชนิดอื่นที่ทนน้ำท้วมได้ดีกว่า
“สิ่งที่ต้องศึกษาและทำงานอย่างต่อเนื่องคือ การเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนที่จะในระดับปัจเจกบุคลล ให้เป็น active citizen ที่ต้องหันมาพึ่งพาตัวเองในการปรับตัว ก่อนที่จะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ”
ผศ. ดร. ธิดา ไชยปะ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ความสนใจ:
- Climate change mitigation and adaptation
- Energy transition and energy efficiency
- Sustainability and Sustainable development
บทบาทและงานทางวิชาการ ติดตามได้ ที่นี่
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: