ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติมีความพยายามในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ โดยตั้งเป้าหมายให้มีพื้นที่ป่า 40 % แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 25 % และป่าเศรษฐกิจอีก 15 % แต่ไม่เคยบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
อะไร ? คือสาเหตุทำให้ไม่สามารถเพิ่มพื้นทีป่าไม้ได้ “ ThaiPBS Policy Watch” มีโอกาสพูดคุยกับ “อรรถพล เจริญชันษา” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ถึงปัญหา อุปสรรค และทิศทางในอนาคตในการดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์
บทสนทนาเริ่มต้นจาการมองภาพรวมจองประเทศ ซึ่ง “อรรถพล” ยอมรับว่าที่ผ่านมาการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ยังไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่ก็ห่างไม่มาก เพราะปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่กรมอุทยานฯดูแลมีประมาณ 21-22 % หรือ 74 ล้านไร่
ภาพรวมพื้นที่ป่าไม้ของไทยมีอยู่ประมาณ 102 ล้านไร่ หรือ คิดเป็น 31–32% ของพื้นที่ประเทศ โดยมีเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25 % ทำให้เหลือเพียง 3 % ที่ยังเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ได้
อย่างไรก็ตามความหมายของ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ สำหรับ “อรรถพล” ไม่ได้หมายความแค่พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติฯ แต่สามารถรวมถึงพื้นที่ป่าที่ประชาชนอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เช่น ป่าชุมชน ดังนั้น หากรวมพื้นที่ป่าไม้อื่นเข้ามาด้วย จะทำให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์จะใกล้เคียง 25 % “
เตรียมประกาศ 23 อุทยานฯเพิ่มป่าอนุรักษ์
กระนั้นก็ตาม การเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ตามเป้าหมายยังถือเป็นความมุ่งมั่นและเป็นภารกิจสำคัญของกรมอุทยานแห่งชาติ โดย “อรรถพล” บอกว่า การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้สามารถทำได้ 2 แนวทาง คือการขยายแนวเขตเพิ่ม และอีกแนวทางคือการเพิ่มคยามสมบูรณ์ของป่าอนุรักษ์ที่มีอยู่ให้สมบูรณ์มากขึ้น
แนวทางแรก คือ ขยายอาณาเขต เช่น ผนวกพื้นที่เพิ่มเติมเข้าอุทยาน หรือการประกาศเพิ่มพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยปัจจุบันมีพื้นที่เตรียมการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 23 แห่งทั่วประเทศรวมพื้นที่ทั้งหมด 3,591,377.23 ไร่ แต่ยังไม่สามารถประกาศได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น จากประชาชนในพื้นที่
“ตอนนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อประกาศเขตอุทยานแห่งชาติอีก 23 แห่งที่ แต่ว่ากระบวนการ ประกาศจะยากกว่าเดิม เพราะต้องรับฟังความคิดเห็น ให้ชาวบ้านยินยอมก่อน แต่ชาวบ้านก็ไม่ค่อยจะยอมให้ประกาศเท่าไหร”
การเตรียมประกาศพื้นที่อุทยานฯใหม่ ตามเงื่อนไข ต้องไม่มีชาวบ้าน หรือชุมชนอยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นจึงต้องลดพื้นที่ลงมาจนให้เหลือแต่ป่าอย่างเดียว โดยการประกาศเพิ่มพื้นที่อุทยานฯจะส่งผลให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มมากขึ้นคาดว่าประมาณ2- 3 %ทำให้ใกล้เคียง แต่อาจจะยังไม่ถึงเป้าหมายการเพิ่มป่าอนุรักษ์ 25 %
“ ถ้าการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ยังไปไม่ถึงเป้าหมาย เราก็มีวิธีการที่จะทำให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีอยู่เดิมอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เพราะยังมีพื้นที่อีกมากมายที่ป่ามันเริ่มเสื่อมลง จากปัญหาไฟป่า ,การบุกรุกยังเป็นปัญหาอีกเยอะ เพราะฉะนั้น การทำให้ป่าอุดมสมบูรณ์ก็ทำให้พื้นที่ดูดซับคาร์บอนได้มากขึ้น”
เพิ่มความสมบูรณ์ พื้นที่ป่าอนุรักษ์
แนวทางที่สอง คือการเพิ่มความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีอยู่แล้วให้อุดมสมบูรณ์มากขึ้น จึงเป็นอีกเป้าหมายที่กรมอุทยานแห่งชาติ ใช้มาตรการที่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายกับ การลักลอบบุกรุก การหาของป่า และปัญหาไฟป่า
“สิ่งที่เรากังวล คือพื้นที่ป่าไม้ที่เหลืออยู่จะมีความสมบูรณ์น้อยลง เพราะมีการเข้าไปใช้ประโยชน์ เก็บหาของป่า มีการบุกรุก หรือมีปัญหาไฟป่า ทำให้เราต้องมาเริ่มวางมาตรการเรื่องการเก็บหาของป่า จะอนุญาตให้เฉพาะชุมชนที่อยู่ในป่าเท่านั้น เพราะการเก็บหาของป่ามันนำมาสู่ปัญหาไฟป่า ที่ทำให้ป่าเกิดความเสื่อมโทรมลง ”
การแก้ปัญหาไฟป่าจึงต้องเตรียมการวางแผนการป้องกันอย่างเข้มงวด โดยใช้มาตรการบังคับ ใช้กฎหมายและก็การควบคุมพื้นที่บางพื้น ทำให้ปี 2568 สามารถลดปัญหาไฟป่าได้ถึง 40% โดยเฉพาะป่าดอยเชียงดาว ที่เคยติดอันดับปัญหาไฟป่ารุนแรง ในปีนี้ไม่มีปัญหาไฟป่าเลย
การเพิ่มความสมบูรณ์ของป่า โดยเน้นฟื้นฟูระบบนิเวศ ฯ ลดภัยคุกคามจากการบุกรุก เผาป่า ตัดไม้ หรือการลักลอบเข้าไปทำกิน เก็บหาของป่ามันทำให้ความสมบูรณ์ลดลง ทำให้ระบบนิเวศฯสมบูรณ์มากขึ้น จากป่าเบญจพรรณ เป็นป่าเต็งรัง พัฒนาเป็นป่าดิบแล้ง จนเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์สูงที่สุด คือ ป่าดิบชื้น หรือป่าดิบเขา
เพราะความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่า จะหมายถึงการอนุรักษ์ดิน และน้ำ ที่มากขึ้น เพิ่มระบบนิเวศฯ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงความสามารถในการเก็บน้ำ ลดปัญหาน้ำหลาก และ อุ้มดินได้มากขึ้น ลดความเสี่ยงภัยพิบัติการพังทลายหน้าดินจะลดน้อยลงด้วยเช่นกัน
สกัดการบุกรุก รักษาสภาพป่าอนุรักษ์
การเพิ่มความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าไม้ ต้องแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งคือสาเหตุที่ทำให้ความสมบูรณ์ของป่าอนุรักษ์ลดลง ซึ่งที่ผ่านมามีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 2 หมื่นไร่ จากการขยายพื้นที่ทำกินเดิมที่เคยได้รับอนุญาต หรือการขยายครอบครัวมากขึ้น รวมไปถึงผู้บุกรุกรายใหม่
“นับจากปี 2557 เป็นต้นมาเราสูญเสียพื้นที่ป่าไม่มาก เพราะใช้ดาวเทียมตรวจสอบแบบเรียลไทม์ที่มีการแจ้งเตือนทุก 15 วัน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า หรือมีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเราสามารถเข้าไปตรวจจับและสกัดการบุกรุกได้ทันที ทำให้ผู้บุกรุกขยายพื้นที่ไม่มาก แต่ละรายก็ 5 ไร่ 10 ไร่ แตกต่างจากสมัยก่อนที่มีการบุกรุกเข้าไปหลายพันไร่”
นอกจากนี้สถานการณ์บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ดีขึ้น หลังจากที่สามารถแก้ปัญหาคนกับป่าได้ หลังหจาปี 2562 ที่มีกฎหมายรองรับสิทธิของชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ป่าก่อนปี 2557 จะได้สิทธิทำกินในที่ดินของรัฐ แต่ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่หลังปี 2557 จะถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด ทำให้ความชขัดแย้ง “คนกับป่า”ในพื้นที่อนุรักษ์ลดลงและปัญหาการบุกรุกเพิ่มลดลงด้วย
จัด”ผังชุมชนเชิงอนุรักษ์”ลดขัดแย้งคนกับป่า
“อรรถพล” บอกด้วยว่า เพื่อทำให้ป่ากับชุมชนอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีความขัดแย้ง กรมอุทยานชาติกำลังดำเนินการ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้มีการจจัดทำ “ผังชุมชนเชิงอนุรักษ์” เพื่อสนับสนุนระบบสาธารณูปโภคและเกษตรแบบยั่งยืน เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเป็นระบบ โดยปัจจุบันมีปชาวบ้านกว่า 1 ล้านคน พื้นที่ประมาณ 4.2 ล้านไร่
กรมอุทยานฯต้องจัดโครงสร้างใหม่ ให้มีหน่วยพัฒนาชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพราะว่าถ้าชุมชนในพื้นที่ป่าไม้ไม่ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือ ให้เขาสามารถดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ช่วยดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ โดยเจ้าหน้าที่อุทยานต้องเป็นนักพัฒนาไปด้วยพร้อมกับเป็นนักอนุรักษ์เข้าไปช่วยดูแลเพื่อให้เกิดความยั่งยืน คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้
“ไม่ค่อยกังวล การเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ ที่กรมอยุทยานแห่งชาติดูแล เพราะมีกฎหมายชัดเจน มีเส้นขอบเขตชัด ขณะที่เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจเรื่องการบังคับ ใช้กฎหมาย ขณะเดียวกัน เราทำงานกับชุมชนโดยรอบพื้นที่อุทยานฯ เพื่อให้ช่วยดูแลป่า เพราะฉะนั้นชุมชนที่ฝ่าฝืนกติกา จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีเข้มงวดด้วย”
เพิ่มพื้นที่สีเขียว 55 % ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี
นอกจากจากเพิ่มพื้นทีป่าไม้ตามเป้าหมายของคณะกรรมกรป่าไม้แห่งชาติแล้ว ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายการพื้นที่ป่าไม้ใหม่ เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย ไทยประกาศลดก๊าซเรือนกระจกกับประชาคมโลก (Nationally Determined Contribution – NDC)
โดยภายในปี 2030 ไทยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 30 -40 % และเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 รวมไปถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี2065 ทำให้ไทยต้องการพื้นที่สีเขียว 55 % เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก120 ล้านตัน
การตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ 40 % จึงได้ปรับเปลี่ยนขยายครอบคลุมพื้นที่สีเขียว ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 55% แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ป่าอนุรักษ์ หรือ ป่าธรรมชาติ 35% ป่าเศรษฐกิจ 15% พื้นที่สีเขียวในเมือง 5%
“สัดส่วนการเพิ่มพื้นที้ป่าอนุรักษ์ยังอยู่ที่ 25 % ขาด แค่3 % แต่ในสัดส่วนพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 15 % ยังขาดอยู่จำนวนมากที่ต้องเพิ่มมากขึ้น ขณะที่พื้นที่สีเขียวปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3 %ห่างจากเป้าหมาย 5 %ไม่มากนัก”
เร่งเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้ได้ตามเป้าหมาย
การพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 15 % จึงถือเป็นโจทย์สำคัญทำให้บรรลุเป้าหมายพื้นที่สีเขียว 55 % โดยที่ผ่านมา รัฐได้แก้ไขมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ได้อย่างถูกกฎหมาย ทำให้ปัจจุบันประชาชนทั่วไปและเอกชนปลูกต้นไม้มากขึ้น ขณะะที่กรมป่าไม้เองก็ส่งเสริมกล้าไม้และองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจป่าไม้ เพื่อขยายพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้เพิ่มมากขึ้น
“ การแก้กฎหมายเปิดให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์ ทั้งในบริเวณบ้าน โรงเรียน หรือ พื้นที่วัด รวมไปถึงที่ดินของรัฐที่วางเปล่า ทำให้จำนวนป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะปัจจุบันมีเทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศ ตรวจเรือนยอดต้นไม้ในทุกพื้นที่ นำมาคำนวณให้เป็นพื้นที่สีเขียวภาพรวมของประเทศ จึงเชื่อว่าน่าจะทำได้ตามเป้าหมาย”
“อรรถพล”บอกว่า การขับเคลื่อนในเรื่องของป่าเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ถือเป็นเรื่องสำคัญมากไม่แตกต่างจากการรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพราะป่าเศรษฐกิจมีประโยชน์มาก โดยจะมีทั้งเรื่องผลผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระยะยาว จนสามารถบอกได้ว่าการปลูกป่า สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่แพ้เรื่องของการเกษตร เพียงแต่ว่าอาจจะเป็นเรื่องระยะยาวเท่านั้นเอง
เปิดแสนไร่ให้เอกชนปลูกป่าแลกคาร์บอนเครดิต
ส่วนการปลูกป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่ผ่านมากรมอุทยานฯมีประกาศให้เอกชนเข้ามาปลูกป่าเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิต ได้ใน 2 กรณี ได้แก่ พื้นที่เสื่อมโทรมมาก ที่สามารถปลูกป่าใหม่ได้ โดยมีข้อตกลงของผลตอบแทน คือ เอกชนที่เข้ามาปลูกจะได้รับเครดิตสูงถึง 90% และรัฐได้ 10%
ส่วนกรณีที่ 2 พื้นที่เสื่อมโทรมน้อยกว่า แต่ยังไม่ใช่ป่าสมบูรณ์ สามารถปลูกเสริมเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งกรณีนี้ กรมอุทยานฯจะดำเนินการวัดพื้นที่และคำนวณคาร์บอนของพื้นที่ป่าเดิมก่อนที่จะอนุญาติให้เอกชนเข้ามาปลูกป่าเพิ่มได้ โดยสัดส่วนข้อตกลงของผลตอบแทนจะอยู่ที่เอกชน 41 % ขณะที่รัฐ 59 %
ปัจจุบันมีเอกชนรายใหญ่ เช่น ปตท .สผ.เข้ามาร่วมกับกรมอุทยานฯปลูกป่าหลายพันไร่ แต่ยังเหลือพื้นที่ซึ่งเอกชนสามารถเข้ามาร่วมโครงการได้อีกหลายแสนไร่ ที่ต้องการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการปลูกป่า
“ตอนนี้เรามีพื้นที่เป้าหมายหลายแสนไร่ ที่อยากให้เอกชนมาเข้าร่วมปลูกป่า ถ้าเอกชนรายใดสนใจ สามารถติดต่อมาได้ ซึ่งขณะนี้มีเอกชนเสนอขอใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่เต็มเป้าหมายที่เราอยากได้”
“อรรถพล” เชื่อว่าเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในปี 2030 น่าจะบรรลุได้ โดยมีภาคป่าไม้เป็นส่วนหนึ่งของการดูดซับคาร์บอน เพราะในเบื้องต้นการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ถือเป็นวิธีกักเก็บคาร์บอน ที่ถูกที่สุด เมื่อเทียบกับการใช้วิธีการการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS)ที่มีราคาสูง ซึ่งอาจจะยังไม่คุ้มทุนในปัจจุบัน แต่ในระยะยาวจะเป็นวิธีการหนึ่งที่อาจจะต้องดำเนินการ
เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่ที่สุดในขณะนี้ คือ การปลูกต้นไม้ จึงอยากให้ประชาชน เอกชนมาร่วมกันปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้ที่เป็นไม้ยืนต้น มีวงปี นำมาคำนวณคาร์บอนได้ เมื่อรวมเป็นพื้นที่สีเขียวของประเทศจะทำให้ภาพรวมของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยบรรลุเป้าหมายได้ในปี 2030
อย่างไรก็ตาม “อรรถพล”ประเมินการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ผ่านมาไม่ได้ล้มเหลวเพราะพื้นที่ป่าไม้ไม่ได้ลดลง แต่ต้องเพิ่มความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าที่มีอยู่ให้มากขึ้น และเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ใหม่อีก 3 % เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย 25 % ซึ่งถือว่าไม่ได้ห่างไกลจนไม่สามารถที่จะทำตามเป้าหมายได้
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง