ThaiPBS Logo

พักหนี้เกษตรกร

นโยบายพักหนี้เกษตรกร เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระที่มี ต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกัน ณ 30 ก.ย. 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งมีเกษตรกรที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว จำนวนกว่า 2.69 ล้านราย

อ่านเพิ่มเติม

  • เริ่มนโยบาย
  • วางแผน
  • ตัดสินใจ
  • ดำเนินงาน
  • ประเมินผล

เริ่มนโยบาย

ขั้นตอนเริ่มต้นนโยบาย ประกาศนโยบายต่อสาธารณะ

วางแผน

ขั้นตอนวางแผน เสนอแผนงานต่างๆ

ตัดสินใจ

1 ต.ค.66-31 ม.ค. 67 เกษตรกรแจ้งความจำนง แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านแอปพลิเคชัน หรือขอคำแนะนำที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา เพื่อทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเงินกู้

ดำเนินงาน

เกษตรกรเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 จำนวน 1,855,433 ราย จากผู้มีสิทธิ 2,101,794 ราย คิดเป็นต้นเงิน 257,248 ล้านบาท

ประเมินผล

ขั้นตอนการประเมินผลการดำเนินการตามนโยบาย

อ่านเพิ่มเติม

สถานการณ์ล่าสุด 16 ธ.ค. 67 

16 ธ.ค. 67 รัฐบาลจะเริ่มโอนเงินงวดแรกเข้าบัญชีเกษตรกรในโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 จ่ายไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท จำนวน 4.61 ล้านครัวเรือน โดยวันนี้จะเริ่มจากเกษตรกรในภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง จากนั้นจะทยอยจ่ายตามภาคต่างๆ จนครบภายในสัปดาห์นี้

3 ธ.ค. 67 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรเสนอโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปี 67/68 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรสามารถดำรงชีพได้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 4.61 ล้านครัวเรือน โดยรัฐบาลจ่ายเงินสนับสนุนแก่เกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่และครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ผ่านธ.ก.ส.

8 พ.ย. 67 คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการมีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 จำนวน 3 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 60,085.01 ล้านบาท ดังนี้

  1.  โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินงบประมาณ 43,843.76 ล้านบาท
  2.  โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินงบประมาณ 15,656.25 ล้านบาท
  3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก วงเงิน 585 ล้านบาท

1 ต.ค. 67 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบขยายระยะเวลาการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) และโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) (การแก้ไขปัญหาหนี้สินฯ) ออกไปเป็นระยะเวลา 5 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2567 เป็นสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2572 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) โดยขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดตามและรายงานผลการชำระเงินคืนให้เสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนดของโครงการต่อคณะรัฐมนตรีด้วย โดยยังยังคงมีเกษตรกรเป็นหนี้ จำนวน 21,968 ราย ต้นเงินกู้ จำนวน 558.55 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้หมดภายใน 30 ก.ย. 67

24 ก.ย. 67 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่อเวลามาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยเกษตรกร ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 และการพัฒนาศักยภาพ เพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส.  โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 และ 2570 รวม 23,172 ล้านบาท

ระยะเวลาโครงการ

  • ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 67 ถึง 30 ก.ย. 68
  • ระยะที่ 3 เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 68 ถึง 30 ก.ย. 69

 9 ก.ย. 67

1. ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 จำนวน 2,101,794 ราย

2. ณ วันที่ 31 ส.ค. 2567 มีผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 จำนวน 1,855,433 ราย ต้นเงินคงเป็นหนี้รวม 257,248 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) จัดทำข้อตกลงต่อท้ายหนังสือกู้เงินและปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ จำนวน 1,414,272 ราย คิดเป็นร้อยละ 76.22 ของผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 ทั้งหมด ต้นเงินคงเป็นหนี้รวม 210,191 ล้านบาท และ

(2) อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารจำนวน 441,161 ราย ราย คิดเป็นร้อยละ 23.78 ของผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 ทั้งหมด ต้นเงินคงเป็นหนี้รวม 47,057 ล้านบาท

3. ผู้เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. จำนวน 290,648 ราย จากเป้าหมาย จำนวน 300,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 96.88 โดยมีผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้หนี้ ธ.ก.ส. จำนวนประมาณ 482,194 ราย

 

รัฐบาลมีนโยบายพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินและสนับสนุนการฟื้นตัวของเกษตรกรหลังภาวะวิกฤต COVID-19 และเศรษฐกิจชะลอตัว โดยใน 26 ก.ย. 66 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรและบุคคลที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระที่มี ต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกัน ณ 30 ก.ย. 66 ไม่เกิน 300,000 บาท

เกษตรกรยื่นความประสงค์

เกษตรกรแจ้งความจำนง แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านแอปพลิเคชัน หรือ ขอคำแนะนำที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา เพื่อทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเงินกู้ ใน 1 ต.ค.66 – 31 ม.ค. 67

เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ

  • เป็นลูกหนี้รายคน (เกษตรกรและบุคคล)
  • มีเงินต้นเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท
  • มีสถานะเป็นหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระ (หนี้ค้างชำระ 0-3 เดือน และ หนี้ NPL)

 เกษตรกรที่เข้าเกณฑ์

  • 2.69 ล้านราย คิดเป็น 70% ของลูกหนี้ ธ.ก.ส. คิดเป็นมูลหนี้รวมประมาณ 280,000 ล้านบาท
  • เข้าร่วมโดยสมัครใจ
  • ต้องประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ (มีการประเมินทุกปี ตลอดระยะเวลามาตรการ 3 ปี)

ผู้เข้าร่วมมาตรการที่ประสงค์ชำระดอกเบี้ยค้างเดิมที่เกิดขึ้นก่อนเข้าร่วมมาตรการ ถ้าเป็นหนี้ปกติ ธ.ก.ส. จะเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยในอัตราส่วน 50:50 ของเงินที่นำมาชำระในแต่ละคราว และกรณีเป็นหนี้ค้างชำระ (NPL) ธนาคารจะจัดสรรชำระต้นเงินให้ทั้งจำนวนที่ลูกค้าส่งชำระในแต่ละคราว รวมทั้งสามารถเข้าร่วมมาตรการจูงใจตามโครงการชำระดีมีโชคของ ธ.ก.ส. ได้

ทั้งนี้ การแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ จะต้องเป็นไปตามความสมัครใจของลูกหนี้ โดยแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 จนถึง 31 ม.ค. 2567 รวม 4 เดือน

สำหรับลูกหนี้ที่ประสงค์จะออกจากการเข้าร่วมมาตรการจะต้องแจ้งความประสงค์ต่อ ธ.ก.ส. และต้องเป็นลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี ได้แก่ กรณีลูกหนี้ต้องการขอสินเชื่อใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจกับธนาคาร ซึ่งต้องสละสิทธิ์การเข้าร่วมมาตรการก่อนการยื่นขอสินเชื่อ และกรณีลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการ เช่น การไม่เข้าร่วมการประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ประจำปี หรือไม่เข้าร่วมการอบรมและฟื้นฟูการประกอบอาชีพที่ ธ.ก.ส. กำหนด หรือก่อภาระหนี้เพิ่มขึ้นกับสถาบันการเงินอื่นระหว่างเข้าร่วมมาตรการ ธ.ก.ส. จะพิจารณาให้ออกจากมาตรการดังกล่าว

นอกจากการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับภารกิจในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนลดภาระหนี้สินเกษตรกรรายย่อยและเพิ่มรายได้เกษตรกร โดยในระหว่างการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส. ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอาชีพ ทั้งอาชีพเดิม อาชีพเสริม และอาชีพใหม่ ภายใต้แนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่” โดยร่วมมือกับส่วนงานภายนอกทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้เพิ่มมูลค่าผลผลิต การลดต้นทุน การปรับปรุงพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อสร้างรายได้ เป้าหมายเกษตรกร 300,000 คนต่อปี

เช่น การส่งเสริมการปลูกผักระยะสั้น อาทิ การปลูกผักบนแคร่ของชุมชนห้วยเสือเต้น จังหวัดขอนแก่น และการปลูกผักสลัดและมะเขือเทศทานสดของฟาร์มศุข จังหวัดศรีสะเกษ ที่ส่งจำหน่ายไปยังโรงแรมหรือโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัด เพื่อเป็นการส่งเสริมการบริโภคท้องถิ่น

ธ.ก.ส. ยังเตรียมสินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ ในการจัดหาปัจจัยการผลิต วงเงินสูงสุด ไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้เกษตรกรสามารถยืนได้อย่างมั่นคง หลังจากการพักชำระหนี้

ภาพรวม

ลำดับเหตุการณ์

  • เริ่มโอนเงินงวดแรกเข้าบัญชีเกษตรกรในโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่/ครัวเรือน หรือ 10,000 บาท รวม4.61 ล้านครัวเรือน

    16 ธ.ค. 2567

  • ครม.เห็นชอบมาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปี 67/68 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่และครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท รวม 4.61 ล้านครัวเรือน

    3 ธ.ค. 2567

  • คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 จำนวน 3 โครงการ วงเงินงบประมาณ 60,085.01 ล้านบาท

    8 พ.ย. 2567

  • ครม.เห็นชอบขยายเวลาแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) และโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) ออกไปเป็นระยะเวลา 5 ปี สิ้นสุด 30 ก.ย. 72

    1 ต.ค. 2567

  • ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรให้กับลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 และระยะที่ 3 เป็นเวลา 2 ปี รวมถึงการพัฒนาศักยภาพ เพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. โดยใช้งบประมาณปี 2569 และ 2570 รวม 23,172 ล้านบาท

    24 ก.ย. 2567

  • ธ.ก.ส. สรุป. ผู้มีสิทธิร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 จำนวน 2,101,794 ราย โดยล่าสุด 31 สิงหาคม 2567 มีเข้าร่วม 1,855,433 ราย

    10 ก.ย. 2567

  • แถลงผลงานครบรอบ 60 วัน รัฐบาลระบุมีจำนวนเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 700,000 ราย   ดูเพิ่มเติม ›

    9 พ.ย. 2566

  • เกษตรกรแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ โดยทุกรายจะมีผลในสัญญาพร้อมกันในวันที่ 1 ต.ค. 2566

    1 ต.ค. 2566 - 31 ม.ค. 2567

  • คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1

    26 ก.ย. 2566

  • ธ.ก.ส. ประกาศให้เกษตรกรแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านแอปพลิเคชัน หรือ ขอคำแนะนำที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา

    26 ก.ย. 2566

  • รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หนึ่งในมาตรการเร่งด่วน คือ พักชำระหนี้กษตรกร

    11 ก.ย. 2566

รายละเอียด

ความสำเร็จของนโยบาย

เชิงโครงการ

ลูกหนี้รายย่อยที่เป็นเกษตรกร
2.69 ล้านราย คิดเป็น 70% ของลูกหนี้รายย่อยธ.ก.ส. รายละไม่เกิน 300,000 บาท มูลหนี้รวมประมาณ 280,000 ล้านบาท

เชิงกระบวนการ

เปิดเข้าร่วมโดยสมัครใจ
สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยมีการประเมินทุกปี และมีการฝึกอบรมเพิ่มทักษะหารายได้เพิ่ม

เชิงการเมือง

แก้ปัญหาหนี้เกษตรกร
เป้าหมายแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อย โดยตั้งเป้าหมายจะมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังเสร็จสิ้นโครงการ

บทความ

ดูทั้งหมด
ทำอย่างไรก้าวให้พ้น วงจรอุบาทว์ ประชานิยมภาคเกษตร

ทำอย่างไรก้าวให้พ้น วงจรอุบาทว์ ประชานิยมภาคเกษตร

นักวิชาการด้านการเกษตร มองนโยบายพักหนี้เกษตรกรเป็นนโยบายประชานิยม ยิ่งทำให้เป็นหนี้เพิ่ม ไม่ช่วยให้หลุดพ้นความยากจนได้ และยังเป็นกับดักให้คนรอแต่ความช่วยเหลือ แนะรัฐบาลมุ่นเน้นแก้ปัญหาระยะกลาง-ยาว เพิ่มศักยภาพการเกษตรให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก หากต้องการหลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

รัฐบาลพักหนี้เกษตรกร ระยะ 2-3 ถึงครบวาระปี 70

รัฐบาลพักหนี้เกษตรกร ระยะ 2-3 ถึงครบวาระปี 70

รัฐบาลอนุมัติมาตรการพักหนี้เกษตรกร ระยะที่ 2-3 ทำให้โครงการพักหนี้เกษตรกรผ่านธ.ก.ส. จะมีระยะเวลายาวนานถึงปลายปี 2570 ซึ่งเป็นช่วงที่ครบวาระรัฐบาล หากอยู่จนครบวาระ โดยใช้งบประมาณตั้งแต่โครงการระยะแรกกว่า 3 หมื่นล้านบาท

พักหนี้เกษตรกรระยะที่ 1 ผู้เข้าร่วม 1.85 ล้านคน

พักหนี้เกษตรกรระยะที่ 1 ผู้เข้าร่วม 1.85 ล้านคน

ธ.ก.ส. สรุปนโยบายพักหนี้เกษตรกรระยะแรก มีเกษตรกรขอเข้าร่วม 1.85 ล้านราย จากเกษตรกรผู้มีสิทธิ 2.1 ล้านคน รวมมูลหนี้ 2.6 แสนล้านบาท