ในช่วงเดือน ก.ย. 2566 น้ำมันโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก จากการลดกำลังผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกทั้งซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ส่งผลรัฐบาลไทยภายใต้แกนนำพรรคเพื่อไทย เคาะมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ด้วยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ผ่านการใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิต และใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุน โดยมาตรการนี้มีผลแค่ 3 เดือนเท่านั้น
ซึ่งต่อมาราคาน้ำมันโลกจะปรับตัวลดลง แต่รัฐบาลก็ยังคงขยายเวลามาตรการนี้ออกไปอีกจนถึงเดือน เม.ย. 2567 เป็นผลให้ฐานะกองน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบหนักทะลุ 1 แสนล้านบาท รัฐบาลจึงค่อยผ่อนคลายการตรึงราคาปล่อยให้ดีเซลลอยตัวขึ้นไปอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ซึ่งก็ยังมีการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯอยู่ แต่ลดน้อยลง จากข้อมูลกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 18 ส.ค. 2567 ติดลบอยู่ที่ 109,651 ล้านบาท แบ่งเป็นน้ำมันติดลบ 62,063 ล้านบาท และก๊าซธรรมชาติ (LPG) ติดลบ 47,588 ล้านบาท
ล่าสุดกระทรวงพลังงาน เตรียมยกเลิกกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 และจะร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อให้มีอำนาจดูแลกองทุนน้ำมันฯที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 จากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชน ตัวแทนจากผู้บริโภค และประชาชน ผ่านเวทีรับฟังความเห็น ควบคู่ไปกับทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. – 5 ก.ย. 2567 จากนั้นจะรวบรวมความเห็นนำไปวิเคราะห์ และเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในระยะต่อไป
แม้จะยังไม่รู้ว่าหน้าตาร่างกฎหมายฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร แต่ดูเหมือนที่ผ่านมากองทุนฯน้ำมันถูกนำไปเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลบิดเบือนราคาตลาดอยู่บ่อยครั้ง จนสร้างปัญหาให้กองทุนน้ำมันต้องเป็นหนี้มหาศาลซ้ำแล้วซ้ำอีก
นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ จากทีดีอาร์ไอ (TDRI) ชี้ว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากรัฐบาลนำกองทุนน้ำมันฯไปอุดหนุนราคาพลังงานเป็นระยะเวลาที่นานจนเกินไป เพื่อเป็นเครื่องมือเอาใจประชาชน แต่ไม่ได้นำไปใช้รักษาความผันผวนราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จนไปเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ภาคขนส่ง ต้นทุนจะสูงขึ้นหากราคาดีเซลปรับขึ้น และกระทบค่าครองชีพประชาชนให้สูงขึ้น แต่ในปัจจุบันนี้รัฐบาลกดราคาดีเซลไว้นานมาก จนทำให้ผู้ประกอบการรถยนต์สามารถปรับรูปแบบของเครื่องยนต์ได้ โดยเฉพาะรถยนต์หรู จากเดิมใช้น้ำมันเบนซิน เปลี่ยนไปเป็นน้ำมันดีเซลได้ แปลว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนน้ำดีเซลเพื่อช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง แต่คนที่ได้รับประโยชน์ส่วนหนึ่งก็คือกลุ่มที่มีรายได้สูง
ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันก่อน เพื่อพยุงราคาน้ำมัน ไม่ให้ผันผวนเกินไป คำว่าผันผวนเกินไปก็คือ เวลาที่มันสูงขึ้นจนเกิดภาระค่าครองชีพของประชาชน แต่ตอนนี้ภาครัฐใช้กลไกกองทุนน้ำมันเป็นเครื่องมือในการเอาใจประชาชน ก็คือกดราคาไว้นานมากจนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในทางที่ผิด
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์กองทุนน้ำมันฯก็ยังคงมีอยู่ เพราะว่ามีประโยชน์ในแง่ของการรักษาความผันผวนของราคาน้ำมัน และช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน แต่นักวิชาการแนะนำว่าควรจะต้องมีการปรับทิศทางของกองทุนน้ำมันฯ ในอนาคต เพื่อให้สามารถสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ โดยรัฐบาลจะต้องหาทางทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบให้น้อยลง
นอกจากนั้นผู้ที่ทำหน้าที่บริหารกองทุนน้ำมัน ก็ควรต้องพิจารณาปัจจัยภายนอกเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการกองทุนน้ำฯ เช่น มีการคาดการณ์ว่าปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์จะเกิดขึ้นอย่างไร เพราะว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมัน ซึ่งควรที่จะนำเข้ามาพิจารณาในระยะยาวด้วยว่าจะทำให้บริหารกองทุนน้ำมันฯอย่างไรให้มีความยั่งยืน
ลดเก็บภาษีน้ำมันซ้ำซ้อน
ข้อแรก ต้องพิจารณาก่อนว่า ไทยมีโครงสร้างน้ำมันอย่างไร ถ้าพิจารณาเฉพาะตัวเนื้อราคาน้ำมันจริง ๆ อยู่ที่ประมาณ 20 กว่าบาทเท่านั้น แต่ไทยมีการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน เช่น ภาษีท้องถิ่น (ภาษีเทศบาล) ภาษีสรรพสามิต เงินอุดหนุนกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และเงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลให้ภาษีน้ำมันของไทยอยู่ที่ประมาณ 7 บาทต่อลิตร สูงกว่าภาษีน้ำสิงคโปร์ ที่ 5.50 บาทต่อลิตร และเวียดนามที่ 1.70 บาทต่อลิตร จะเห็นได้ว่าภาษีส่วนนี้ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ตรงนี้ภาครัฐควรจะมีการปรับเพดานภาษี ไม่ให้กระทบต่อประชาชนมาก โดยต้องปรับแนวคิดว่า ไม่ใช่เก็บภาษีเพื่อสร้างรายได้ให้ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องลดภาระประชาชน
ต้องดูว่าอะไรที่สามารถช่วยลดหย่อนได้บ้าง อย่างเช่น อาจจะเก็บแค่ภาษีสรรพสามิตไหม ภาษีท้องถิ่นอาจจะไม่จำเป็นไหม หรือว่าเข้ากองทุนน้ำมันอย่างเดียว ไม่ต้องเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน โดยต้องปรับแนวคิดว่า การเก็บภาษีน้ำมันนั้นวัตถุประสงค์หลักไม่ใช่เพื่อเก็บรายได้เข้าประเทศ แต่เพื่อให้ประเทศมีเงินพอที่จะใช้เงินส่วนนี้ลดภาระค่าครองชีพประชาชน โดยจะเห็นได้ว่าการเก็บภาษีที่มันซ้ำซ้อนทำให้เฉพาะส่วนของภาษีนั้นประมาณ 7 บาท ทั้ง ๆ ที่ตัวเนื้อน้ำมันแค่ 20 บาท จะเห็นว่าเกือบ 50% ที่เราต้องจ่ายภาษีพวกนี้ และก็เป็นภาระของประชาชน
กำหนดเพดานอุดหนุนไบโอดีเซล
ข้อสอง ในอดีตรัฐบาลมีการสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือก คือ ไบโอดีเซล (น้ำมันที่ผลิตมาจากพืช) ที่นำมาผสมกับน้ำมันดีเซล เพื่อสนับสนุนรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งในอดีตราคาของไบโอดีเซลไม่ได้สูงมาก แต่ปัจจุบันราคาไบโอดีเซลได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ดังนั้นกองทุนน้ำมันฯควรจะต้องมีการปรับในเรื่องของโครงสร้าง โดยกำหนดเพดานราคาของไบโอดีเซลที่นำมาผสมว่าต้องไม่ควรเกินเท่าไหร่ ถ้าหากเกินเพดานราคาที่ตั้งไว้ ก็ควรที่จะลดสัดส่วนของไบโอดีเซล และจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลถูกลงได้
เลิกอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์
ข้อสาม รัฐบาลจะต้องมีการปรับโครงสร้างการคิดราคาน้ำมันใหม่ โดยไม่ให้อ้างอิงกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ เพราะว่าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศสามารถกลั่นน้ำมันได้เองเกือบ 100% แล้ว และนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศแค่นิดเดียวเท่านั้น เพราะการไปอ้างอิงกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ จะมีการบันทึกค่าขนส่งทางเรือ ค่าประกันภัยการเดินทาง และค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะว่าไทยกลั่นน้ำมันได้เอง ไม่ได้นำเข้าจากสิงคโปร์ ตรงนี้ถ้าสามารถยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ได้ ก็จะทำให้ราคาน้ำมันของไทยถูกลงได้กว่า 1 บาท ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องราคาน้ำมันที่ประชาชนต้องจ่ายแล้วจะเป็นส่วนช่วยแบ่งเบาภาระกองทุนน้ำมันได้ด้วย
ทำไมไทยถึงต้องอิงราคาสิงคโปร์
การที่ถ้าราคาน้ำมันไทยต้องอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นตลาดน้ำมันที่ใหญ่และมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค โดยสิงคโปร์นำเข้าน้ำมันดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปและส่งออกไปจำหน่าย ทำให้กลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ทั้งนี้ ประเทศไทยดำเนินการค้าขายน้ำมันในระบบเสรี หากประเทศไทยพยายามกำหนดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นเอง อาจเกิดปัญหาตามมา เช่น หากราคาที่รัฐบาลกำหนดต่ำกว่าตลาดสิงคโปร์ โรงกลั่นอาจเลือกส่งออกน้ำมันไปขายในตลาดสิงคโปร์เพื่อได้ราคาที่สูงกว่า หรือผู้ค้าน้ำมันในประเทศอาจซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นเพื่อนำไปขายในตลาดสิงคโปร์ ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำมันในประเทศขาดแคลน ในทางกลับกัน หากรัฐบาลกำหนดราคาสูงกว่าตลาดสิงคโปร์ ผู้ค้าน้ำมันในประเทศอาจไม่ซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นในประเทศ แต่หันไปนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์แทน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าน้ำมันโดยไม่จำเป็น นี่คือกลไกของตลาด แต่ในความเป็นจริงไทยไม่ได้ใช้น้ำมันที่นำเข้าจากสิงคโปร์ ก็ควรจะให้การสนับสนุนประชาชนคนไทยมากกว่าที่จะไปสนับสนุนโรงกลั่นที่มองว่าขายให้ประเทศอื่นได้ เพราะราคาดีกว่า ตรงนั้นจะไม่ใช่กลไกลตลาดที่ถูกต้อง
ส่วนวิธีการควบคุมโรงกลั่นในประเทศให้ขายน้ำมันในไทย ก็มีหลายกลไกด้วยกัน เช่น การประกาศว่าจะต้องมีการผลิตน้ำมันเพื่อใช้ในประเทศกี่เปอร์เซ็นต์ เหมือนอย่างที่ทางประเทศอินโดนีเซีย มีการควบคุมถ่านหินที่ผลิตในประเทศว่าจะต้องมีการใช้ในประเทศเท่าไหร่ และที่เหลือถึงจะส่งออกไปต่างประเทศได้ ในกรณีนี้ไทยอาจจะใช้มาตรการเดียวกันนี้ได้ โดยจะสามารถกำหนดได้ว่าโรงกลั่นน้ำมันที่อยู่ในประเทศไทย ต้องกลั่นน้ำมันเพื่อใช้ในประเทศกี่เปอร์เซ็นต์ และเหลือส่งออกได้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นมาตรฐานกำไกลที่ภาครัฐสามารถกำหนดได้ เพื่อประโยชน์ของประเทศ
อุดหนุนพลังงานเฉพาะกลุ่มได้ไหม?
การตรึงราคาน้ำมันให้กับคนเฉพาะกลุ่มในทางปฏับัติอาจจะทำได้ยาก คือทำได้ แต่จะต้องมีกลไกในการจับตาดู สมมติจะให้การสนับสนุนภาคการขนส่ง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าภาคขนส่งจะได้ประโยชน์ เช่น แค่มีข่าวออกมาว่าดีเซลจะปรับสูงขึ้น ราคาสินค้าก็ขึ้นไปรอก่อนเรียบร้อยแล้วก่อนที่ราคาน้ำมันจะขึ้นจริง ซึ่งการตรึงราคาน้ำมันให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ควรจะต้องมีมาตรการเข้าไปควบคุมด้วยว่าเฉพาะภาคขนส่งเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์หรือไม่
คือทำได้ไหม ทำได้ ภาคปฏิบัติอาจจะยาก คุณจะต้องเข้ามาดูแลจริง ๆ ว่า คนที่ได้รับประโยชน์จริง ๆ คือภาคขนส่ง ไม่ใช่กลุ่มอื่น และไม่ให้ภาคอื่นเข้ามาฉวยโอกาสจากากรตรึงราคาเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ค่าการตลาดทำให้น้ำมันแพง?
ที่ผ่านมาค่าการตลาดน้ำมันของโรงกลั่นเอกชน มักจะถูกสังคมตีตราเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น และเอาเปรียบประชาชน แต่ อารีพร เปิดเผยว่า ค่าการตลาดที่เอกชนได้ถือว่าไม่ได้เยอะมาก และเป็นสิ่งที่ควรจะต้องให้ เพราะมันคือส่วนกำไรที่ผู้ประกอบการควรจะได้ เมื่อดูในส่วนของตัวเนื้อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ 20 บาท บวกกับค่าภาษี 7 บาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าการตลาดเพียงนิดเดียว
แต่ภาครัฐควรไปปรับแก้ไขในส่วนที่น่าจะต้องปรับ คือ เรื่องภาษีที่มันซ้ำซ้อนมาก ซึ่งเก็บไปเยอะมาก ถามว่าได้อะไรนอกจากเป็นภาระของประชาชน โดยอะไรที่ไม่จำเป็น อย่างภาษีเทศบาล ที่ยังไม่สามารถหาจุดประสงค์ตรงนี้ได้ ส่วนกองทุนอนุรักษ์พลังงาน กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ควรเลือกเก็บตัวใดตัวหนึ่งก็พอ เพราะไม่งั้นคนที่จะต้องแบกรับภาระราคาน้ำมันที่มันสูงขึ้นจริง ๆ ก็คือคนไทยทุกคน
ดังนั้นเห็นด้วยว่าภาครัฐควรจะปรับโครงสร้างกองทุนน้ำมัน ให้ทางกระทรวงพลังงานมีสิทธิในการกำหนดเพดานภาษี ร่วมกับการใช้กองทุนน้ำมัน เพราะที่ผ่านมาใช้ได้เฉพาะกลไกของกองทุนน้ำมันเข้าไปแทรกแซง แต่ไม่สามารถแตะในเรื่องของภาษีได้เลย ตรงนี้ต้องให้อำนาจกระทรวงพลังงาน สามารถจัดการได้ ทั้งเรื่องของภาษี และการแทรกแซงกองทุน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง