ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติให้รักษาระดับราคาน้ำมันดีเซล โดยจะมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตรไปพลางก่อน มีผลวันที่ 20 เม.ย. 2567 หลังจากหมดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 1 บาท ในวันนี้ 19 เม.ย.
ในอนาคต กบน.อาจจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาเป็นแบบ เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มีการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนทำให้ปัจจุบันสถานะกองทุนฯ ติดลบไปแล้วกว่า 103,000 ล้านบาท
กองทุนน้ำมันฯอุ้มดีเซลต่อไม่ไหว
ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 4.77 บาทต่อลิตร หรือคิดเป็นเงินประมาณกว่า 8,000 ล้านบาทต่อเดือน หากไม่มีการชดเชย ราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ประมาณ 36 บาทต่อลิตร และหากปล่อยให้มีการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลในระดับเดิมต่อไปเรื่อย ๆ จะทำให้กองทุนฯ ติดหนี้เพิ่มมากขึ้นอาจจะกระทบกับวินัยการเงินและระดับความน่าเชื่อถือของกองทุนฯ ได้
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) อ้างอิงแหล่งข่าวจากวงการผู้ค้าน้ำมัน ว่า กบน.ปรับขึ้นราคาดีเซล 50 สตางค์ ส่วนอีก 50 สตางค์ที่เหลือนั้นจะให้ผู้ค้าพิจารณาลดค่าการตลาด เนื่องจากค่าการตลาดปัจจุบันอยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร
ทีดีอาร์ไอเห็นด้วยกับ กบน.ทยอยขึ้นดีเซลแบบขั้นบันได
อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ (TDRI) ให้สัมภาษณ์ Policy Watch ของ Thai PBS ว่า เห็นด้วยที่กองทุนน้ำมันฯ เตรียมพิจารณาทยอยขึ้นราคาดีเซลแบบขั้นบันได เพราะหากปรับขึ้นทีเดียวถึง 36 บาท จะกระทบค่าครองชีพประชาชนอย่างหนัก ซึ่งมีผลต่อค่าขนส่ง และจะกระทบราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในเวลาต่อมา นอกจากนี้ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ หากปรับขึ้นราคาน้ำมันอีกนิดหน่อย ก็ไม่น่าจะกระทบค่าครองชีพของประชาชนมากนัก
“ตอนนี้เงินเฟ้อค่อนข้างต่ำมากประมาณ 1% ดังนั้น สมมติว่าราคาน้ำมันปรับขึ้นอีกนิดหนึ่ง เงินเฟ้อคงปรับขึ้น แต่ไม่ได้สูงมากจนกระทั่งเกิดภาระค่าครองชีพประชาชนที่สูงมากเกินไป คือ เงินเฟ้อระดับ 2-3% เป็นระดับที่เหมาะสม คือ ตอนนี้ของไทยเราต่ำมาก ถ้าจะปรับขึ้นอีกนิดจากราคาน้ำมันก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบในทางลบมากนัก”
หาก กบน.ให้ผู้ค้าน้ำมันช่วยลดค่าการตลาดพยุงดีเซล คิดว่าเหมาะสมหรือไม่?
ต้องดูว่าเป็นลดค่าการตลาดหน้าโรงกลั่น หรือค่าการตลาดที่ปั๊มน้ำมัน หากเป็นการลดค่าการตลาดหน้าโรงกลั่น ก็ควรใช้วิธีปรับโครงสร้างราคาน้ำมันมากกว่าเพียงกดดันผู้ผลิตน้ำมัน ปัจจุบันไทยใช้ราคาหน้าโรงกลั่นอ้างอิงจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ ซึ่งจะมีค่าขนส่งรวมด้วย แต่ความจริงต้นทุนของไทยไม่ได้สูงถึงขนาดนั้น หากปรับโครงสร้างราคาน้ำมันก็จะช่วยในระดับหนึ่งได้ แต่ถ้ากดค่าการตลาดหน้าโรงกลั่นอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้ดูเรื่องของต้นทุน มองว่าไม่ได้เป็นการช่วยเหลือทั้งผู้ผลิตน้ำมันและผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น
ความจำเป็นของกองทุนน้ำมันฯในการอุดหนุนพลังงาน
กองทุนน้ำมันฯ ยังควรต้องอุดหนุนราคาน้ำมันอยู่ แต่ไม่ใช่อุดหนุนแบบแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งอาจจะเข้ามาอุดหนุนในระยะแรก แล้วค่อย ๆ ลดเงินชดเชยแบบขั้นบันได และมาตรการลดภาษีสรรพสามิตรก็ควรที่จะเข้ามาช่วยด้วย เพื่อให้ราคาน้ำมันกระทบผู้บริโภคมากเกินไป
นอกจากนี้กลุ่มที่ต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ คือ รถบรรทุกที่ใช้ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค โดยภาครัฐควรให้การสนับสนุนในระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้นจนเกินไป เนื่องจากไทยเคยมีกรณีราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นล่วงหน้าไปก่อน ซึ่งตรงนี้ภาครัฐควรเข้ามาดูทั้งสองด้าน ด้านแรกไม่ให้กระทบต้นทุนค่าขนส่งมาเกินไป อีกด้านหนึ่งจะต้องดูและไม่ให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล
แผนการบริหารราคาน้ำมันในระยะยาวฉบับทีดีอาร์ไอ
แม้การพยุงราคาน้ำมันจะมีความจำเป็นสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาในระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวน่าจะมีมาตรการที่ดีกว่านั้น คือ 1.ดูว่ามีนโยบายอะไรที่ช่วยลดการพึ่งพาน้ำมันมากกว่านี้หรือไม่ เช่น ใช้รถอีวีมากขึ้น ตรงนี้ก็จะช่วยลดการใช้น้ำมัน 2.โครงสร้างราคาน้ำมันมีการคิดแบบสมเหตุสมผลหรือไม่ ราคาหน้าโรงกลั่นจะสามารถปรับให้เป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนการกลั่นน้ำมันของประเทศไทยจริง ๆ ไม่ได้อ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ 3.ดูว่าไทยสามารถใช้พลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นได้หรือไม่ เพื่อมาช่วยการใช้เชื้อเพลิงในประเทศนอกจากน้ำมันที่จะต้องนำเข้า
“การใช้กองทุนพยุงราคาน้ำมัน ถามว่าสำคัญสำหรับประเทศไทยไหม ยังคงสำคัญอยู่ แต่ว่าควรที่จะมีการพยุงราคาน้ำมันที่ควรจะสะท้อนราคาความเป็นจริงมากกว่านี้ ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เราก็ควรจะปรับราคาได้บ้าง แต่ว่าอาจจะไม่ถึง 36 บาท อาจจะลดลงมานิดหนึ่งเป็น 34 บาท หรือ 33 บาท ไม่ใช้กดที่ 30 บาทตลอดไป อันนี้ไม่ถูกต้อง เพราะมันเหมือนเป็นการหลอกประชาชนไปเรื่อย ๆ แล้วมันจะภาระของกองทุน และจะเป็นภาระของคนไทยในอนาคตแน่นอน เพราะพวกนี้มันคือการก่อหนี้สิน”