เมื่อต้นปี 2567 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ม.ค. – มี.ค. 2567 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน ผ่านการลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมัน และใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมัน จากนั้นก็ได้มีการขยายมาตรการดังกล่าวออกไปอีกจนถึงต้นเดือน เม.ย.
ต่อมาคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาปรับขึ้นราคาดีเซลเป็นครั้งแรก ในวันที่ 6 เม.ย. 2567 จากไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ราคา 30.44 บาทต่อลิตร และทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องเป็น 30.94, 31.44, 32.44 จนถึง 32.94 บาทต่อลิตร ซึ่งในวันที่ 7 พ.ค. 2567 ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกินราคา 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสิ้นสุดปลายเดือน ก.ค. 2567
การปรับขึ้นดังกล่าว เป็นผลมาจากฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เข้าไปอุดหนุนราคาดีเซล เป็นหนี้จนติดลบทะลุแสนล้านบาท ขยับเข้าใกล้เพดานหนี้ที่กองทุนฯสามารถกู้ได้ 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง

(ซ้าย) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ(ขวา) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 ก.ค. 67
ตรึงราคาดีเซลรอบที่สอง
ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 ก.ค. 2567 มติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ให้คงราคาดีเซลเป็นครั้งที่สอง ไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2567 โดยให้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปก่อน
สำหรับปัจจุบัน ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สิ้นสุด ณ วันที่ 14 ก.ค. 2567 มีสถานะติดลบอยู่ที่ 111,855 ล้านบาท แบ่งเป็น น้ำมัน ติดลบ 64,252 ล้านบาท และ ก๊าซธรรมชาติ (LPG) ติดลบ 47,603 ล้านบาท

ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สิ้นสุด ณ วันที่ 14 ก.ค. 67
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- เลิกตรึงดีเซล 30 บาท กองทุนน้ำมันฯติดลบหนักแสนล้าน
- รัฐเลิกอุดหนุนราคาพลังงาน ดันต้นทุนเพิ่ม กระตุ้นเงินเฟ้อพุ่ง
- มุมมองทีดีอาร์ไอ ขึ้นราคาดีเซลขั้นบันไดเหมาะสม ไม่กระทบประชาชนมาก