สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่าจากข้อมูลยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ของไทยในปี 2566 ของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่รวมในปี 2566 อยู่ที่ 657,860 คัน เพิ่มขึ้น 4.6% จาก 628,722 คัน ในปี 2565 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) เป็นสำคัญ
โดยยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2566 อยู่ที่ 76,538 คัน เพิ่มขึ้น 695.9% เมื่อเทียบกับ 9,617 คัน ในปี 2565 ขณะที่ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันอยู่ที่ 481,609 คัน ลดลง 11.3% จาก 543,072 คัน ในปี 2565 ส่งผลให้สัดส่วนยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าต่อยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมด อยู่ที่ 11.6% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในปี2565
หากพิจารณายี่ห้อรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ในปี 2566 เรียงตามลำดับ ได้แก่ BYD (สัญชาติจีน) 30,467 คัน Neta (สัญชาติจีน) 12,777 คัน MG (สัญชาติจีน) 12,462 คัน Tesla (สัญชาติสหรัฐฯ) 8,206 คัน และ GWM (ORA) (สัญชาติจีน) 6,746 คัน โดยการที่ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นผลจากความสำเร็จของมาตรการกระตุ้นอุปสงค์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศของรัฐบาลภายใต้มาตรการ EV3.0 และ EV3.5
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนก่อสร้างโรงงานและไลน์การผลิตในประเทศ ดังนั้น รถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศไทยยังคงเป็นรถยนต์นำเข้าแทบทั้งสิ้น
มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่หรือยานยนต์ไฟฟ้าของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการน าเข้า อาทิ อัตราส่วน 1:1 ในปี 2567 (นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ต่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 1 คัน) และอัตราส่วน 1:1.5 ในปี 2568 (นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ต่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 1.5 คัน)
หากกำลังการผลิตของโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติต่าง ๆ สามารถผลิตได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนไฟฟ้าที่สำคัญของโลกได้