แจกเงิน 10,000 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 68 ได้มีมติเห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ เพื่อจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการขยายผลกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้แก่กลุ่มเปราะบางให้ครอบคลุมกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุจะสามารถใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตตามความจำเป็นของตน อีกทั้งยังส่งผลต่อการสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เพิ่มเติม และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมถึงจะช่วยส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุที่ดีขึ้นอย่างรอบด้าน เช่น สุขภาพอนามัย สภาพความเป็นอยู่ มาตรฐานการดำรงชีวิต ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและชุมชน เป็นต้น
คุณสมบัติผู้สูงอายุได้เงินหมื่น
กลุ่มเป้าหมายของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ คือ ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐสำเร็จ โดยมีสัญชาติไทยและมีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ 15 ก.ย. 2567 ซึ่งจะต้องเกิดก่อนหรือในวันที่ 16 ก.ย. 2507 ทั้งนี้จำนวนกลุ่มเป้าหมายคาดว่าไม่เกิน 4 ล้านคน
คุณสมบัติเพิ่มเติม ดังนี้
- ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
- ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากรวมกันเกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567
- ไม่เป็นผู้อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
- ไม่เป็นผู้ต้องขัง 4 ประเภท ได้แก่ นักโทษเด็ดขาด ผู้ต้องขังระหว่าง ผู้ต้องกักขัง และผู้ต้องกักกัน ตามฐานข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
- ไม่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ
สำหรับการดำเนินการโครงการฯ กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางจะเริ่มทยอยจ่ายเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน โดยจะเร่งจ่ายเงินครั้งแรกภายในเดือน ม.ค. 2568 ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของกลุ่มเป้าหมาย
ในกรณีที่จ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรก จะมีการดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว รัฐจะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการฯ
อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับสิทธิตามโครงการฯ ควรตรวจสอบบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนว่ายังสามารถใช้งานได้หรือไม่ หรือหากยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ขอให้ดำเนินการผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน เพื่อให้ได้รับสิทธิตามโครงการฯ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า ผู้สูงอายุตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ เป็นกลุ่มที่ผ่านการคัดกรองแล้วว่ามีสถานภาพด้านรายได้และเงินฝากค่อนข้างจำกัด จึงถือเป็นผู้ที่ค่อนข้างมีความเปราะบางที่มีความโน้มเอียงหน่วยสุดท้ายในการบริโภคสูงกว่ากลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้จ่ายเงินหมดทั้งจำนวน ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินโครงการฯ จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพั (GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.07 – 0.1 ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการฯ