ThaiPBS Logo

วิกฤตน้ำเสียฟาร์มหมู รัฐห้ามปล่อย แต่ไร้กลไกดูแล

19 ธ.ค. 256715:46 น.
วิกฤตน้ำเสียฟาร์มหมู รัฐห้ามปล่อย แต่ไร้กลไกดูแล
ไทยมีกฎหมายควบคุมฟาร์มหมูให้บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ระบบบำบัดน้ำเสียใช้เงินลงทุนสูงและพื้นที่จำนวนมาก เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเลือกกักเก็บไว้นำกลับไปใช้หมุนเวียนภายในฟาร์มเรื่อย ๆ เพราะไม่มีวิธีอื่นที่จะระบายน้ำออกไปได้ และยังมีความเสี่ยงหลุดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ

เกษตรกรไทยผู้เลี้ยงหมู ยังคงเผชิญความท้ายในเรื่องการจัดการน้ำเสียจากฟาร์มเลี้ยงหมู เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กําหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกําเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกร (หมู) ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 พ.ย.48 โดยให้มีการบำบัดน้ำเสียจากการเลี้ยงหมูให้สะอาดก่อนระบายลงสู่แหล่งน้ำทั่วไป เพื่อป้องกันไม่ให้ทำลายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

แต่เนื่องจากการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูส่วนใหญ่จึงเลือกใช้วิธีกักเก็บน้ำเสีย และนำกลับมาใช้ซ้ำใหม่ในการเกษตร เช่น นำไปปลูกหญ้าเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงวัว ซึ่งมีความเสี่ยงที่น้ำเสียเหล่านี้จะไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หากมีน้ำเสียปริมาณมากเกินที่ความต้องการที่จะใช้ในการเกษตร หรือเกิดฝนตกหนักจนชะล้างขอเสียออกจากฟาร์มการเกษตร

อย่างไรก็ตามกฎหมายจำกัดเพียงแค่ไม่ให้ปล่อยน้ำเสียออกจากฟาร์มหากยังไม่ได้บำบัด แต่ไม่ได้เปิดช่องทางอื่น ๆ ให้กับเกษตรกรระบายน้ำเสียออกจากฟาร์มด้วยวิธีอื่น เช่น ขายให้เกษตรกรนำไปปลูกพืช หรือขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น

ในเวทีนโยบายสาธารณะ Policy Forum “ในเวทีนโยบายสาธารณะ Policy Forum “ฝนตกขี้หมูไหล!! ระเบิดเวลาฟาร์มสุกร” ภายใต้หลักสูตรการพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ด้านนโยบาย รุ่นที่ 2 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  ได้มีการพูดคุยถึงปัญหาการจัดการน้ำเสียในฟาร์มหมู โดยได้ยกตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เนื่องจากเป็นพื้นทีที่มีการเลี้ยงหมูจำนวนมาก

ข้อมูลกรมปศุสัตว์ ปี 2567 พบว่าเกษตรกรไทยทั่วประเทศเลี้ยงหมู 12,329,680 ล้านตัว โดยจังหวัดราชบุรี ถือเป็นจังหวัดที่เลี้ยงหมูมากที่สุดในประเทศ 1,361,713 ล้านตัว

ฟาร์มหมูราชบุรีแค่ 33% บำบัดน้ำเสีย

โอฬาร กิจปรีดาบริสุทธิ์ สัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษกลุ่มมาตรฐานสิ่งแวดล้อมด้านการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ระบุว่า การเลี้ยงหมูในจังหวัดราชบุรีส่วนมากจะเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ เหมือนเป็นนิคมอุตสาหกรรมแบบหนึ่ง ซึ่งต้องมีระบบบ้ำบัดน้ำเสียให้สอดคล้องกับมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกําเนิดมลพิษประเภทการเลี้ยงสุกร ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

ประเภท ก เลี้ยงหมูตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปที่มีน้ำหนักหน่วยปศุสัตว์เกิน 600 หน่วยปศุสัตว์  เทียบเท่าหมูมากกว่า 5,000 ตัว มาตรฐานการระบายน้ำเสียต้องมีความเป็นกรดและด่าง (pH) ระหว่าง 5.5 – 9, บีโอดี (BOD) ไม่เกิน 60 มิลลิกรัมต่อลิตร, สารแขวนลอย (SS) ไม่เกิน 150 มิลลิกรัมต่อลิตร, ซีโอดี (COD) ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อลิตร และไนโตรเจนในรูปทีเคเอ็น (TKN) ไม่เกิน 120 มิลลิกรัมต่อลิตร

ประเภท ข เลี้ยงหมูตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปที่มีน้ำหนักหน่วยปศุสัตว์ 60 – 600 หน่วยปศุสัตว์ เทียบเท่าหมู 500 – 5,000 ตัว และ ประเภท ค เลี้ยงหมูตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปที่มีน้ำหนักหน่วยปศุสัตว์ 6 – 60 หน่วยปศุสัตว์ เทียบเท่าหมู 50 – 500 ตัว จะใช้มาตรฐานการระบายน้ำเสียเหมือนกัน คือ มีความเป็นกรดและด่าง (pH) ระหว่าง 5.5 – 9, บีโอดี (BOD) ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อลิตร, สารแขวนลอย (SS) ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร, ซีโอดี (COD) ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อลิตร และไนโตรเจนในรูปทีเคเอ็น (TKN) ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร

จากการคำนวณพบว่าการทำระบบบำบัดน้ำเสียจะใช้พื้นที่จำนวนมาก ซึ่งปกติการเลี้ยงหมูจะใช้พื้นที่ 1 ส่วน ต่อพื้นที่ระบบบัดน้ำเสีย 2 ส่วน หากจะให้มีระบบบำบัดน้ำเสียเต็มรูปแบบให้สมบูรณ์ คาดว่าใช้พื้นที่ทั้งประเทศไทยคงอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอื่นเข้าช่วย อาจต้องพึ่งนักวิจัยให้ช่วยกันศึกษาหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม เพื่อลดพื้นที่จำนวนมากในการทำระบบบำบัดน้ำเสีย

ปัจจุบันมีฟาร์มหมูในจังหวัดราชบุรีสัดส่วนเพียง 33% เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์การบำบัดน้ำเสีย ส่วนฟาร์มหลายแห่งไม่ยอมปล่อยออกมา เพราะไม่มีระบบบำบัดหรือน้ำเสียไม่ผ่านเกณฑ์ จึงกลายเป็นปัญหาที่เหมือนกับระเบิดเวลารอเราอยู่ ซึ่งตอนนี้หน่วยงานภาครัฐพยายามทำความร่วมมือหลายอย่าง ในการเอื้อประโยชน์เรื่องต่าง ๆ เพื่อผลักดันฟาร์มหมูเหล่านั้นให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

“ในทางกฎหมายไม่ได้ห้ามฟาร์มสุกรระบายน้ำทิ้งไปข้างนอก แต่คุณภาพน้ำต้องไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด” โสภาคส์ เยี่ยมเวช รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลปากท่อ รักษาราชการแทน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลปากท่อ จังหวัดราชบุรี เล่าว่า เมื่อปี 2560 มีการร้องเรียนน้ำเสียจากฟาร์มสุกรในจังหวัดราชบุรีจำนวนมาก โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในขณะนั้น จึงสั่งห้ามเกษตรกรปล่อยน้ำเสียออกจากฟาร์มแม้จะบำบัดแล้วหรือไม่ก็ตาม ทำให้เกษตรกรไม่สามารถระบายน้ำเสียออกจากฟาร์มได้

ต่อมาเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ทางจังหวัดจึงประกาศให้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดได้มาตรฐานสามารถระบายออกไปได้ แต่ต้องมีมาตรการควบคุม เช่น นำไปใช้โดยไม่เกิดการปนเปื้อนสร้างผลกระทบต่อคนในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งฟาร์มหมูขนาดใหญ่ที่บำบัดนำเสียได้มาตรฐานจะนำน้ำไปให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงใช้แทนการปล่อยลงแหล่งน้ำ และบังคับให้ต้องทำข้อตกลงระหว่างเกษตร ฟาร์มหมู และหน่วยงานภาครัฐ แต่ก็ทำกันแค่บางรายเท่านั้น

แม้ทางหน่วยงานจะสามารถลดหย่อนบางเรื่องให้ได้ แต่บางเรื่องที่ต้องเข้มงวด ผู้เลี้ยงหมูก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยปัจจุบันฟาร์มเลี้ยงหมูลดลงจำนวนมากประกอบกับเรื่องร้องเรียนก็ลดลงด้วยเช่นกัน ส่วนตัวคิดว่าที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเพราะเกษตรกรมีการพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามหน่วยงานรัฐยังคงสนับสนุนให้นำน้ำทิ้งจากฟาร์มไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดของเสีย และได้ประโยชน์อย่างอื่น แต่คงไม่สามารถนำไปขายให้กับอุตสาหกรรมได้

เจ้าหน้าที่ตรวจมลพิษไม่เพียงพอ

ขณะที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 (ราชบุรี) กรมควบคุมมลพิษ เป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลเรื่องมลพิษในสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ราชบุรี ก็ยอมรับว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการดูแลน้ำเสียในฟาร์มหมู โดย สมศักดิ์ พลายมาต ผู้อำนวยการส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 (ราชบุรี) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่เพียง 3 คนเท่านั้น ที่ต้องตรวจสอบแหล่งมลพิษทุกแห่งครอบคลุม 5 จังหวัด ไม่ใช่เพียงฟาร์มหมู เช่น โรงงาน อาคาร ปั๊มน้ำมัน บ่อเพราะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องควบคุมตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ไม่มีเวลาที่จะไปช่วยเหลือเกษตรกร

 

“เราไม่มีตัง เวลาก็ไม่มี เพราะหมดเวลาไปกับการตรวจแหล่งกำเนิดมลพิษ ของผมรับผิดชอบ 5 จังหวัด มีเจ้าหน้าควบคุมมลพิษที่ทำเรื่องนี้อยู่ 3 คน รวมทั้งผมด้วย เราต้องตรวจแหล่งกำเนิดมลพิษ ไม่ใช่ฟาร์มหมูอย่างเดียวนะ อาคารต่าง ๆ โรงงาน ปั๊มน้ำมัน บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เราต้องตรวจพวกนี้ได้ด้วย

 

ที่ผ่านมาหน่วยงานก็พยายามหาวิธีที่จะทำให้เกษตรสามารถทำฟาร์มหมูต่อไปได้ โดยที่ไม่ให้ผิดกฎหมาย ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม และไม่กระทบสุขอนามัยของประชาชน หากจะให้มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพที่เพียงพอก็ต้องใช้เงินทุนจำนวนหลายล้านบาท จึงอยากให้เกษตรกรมีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก หากมีสถาบันหรือนักวิจัยคนไหน สนใจทำการศึกษาเรื่องของการบำบัดน้ำเสียที่มีความเหมาะสมและใช้เงินลงทุนไม่มากสำหรับฟาร์มหมู ทางหน่วยงานก็ยินดีสนับสนุนช่วยประสานงานผู้ประกอบการฟาร์มหมูที่สนใจอยากทำวิจัยด้วย เพื่อให้ผลงานที่ออกมาสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เพราะหน่วยงานก็ไม่มีงบประมาณ

วิธีการจัดการน้ำเสียที่ลงทุนน้อยสุด

ปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ มี 2 แบบ คือ แบบแรกระบบไบโอแก๊ส (Biogas) เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่จะได้ก๊าซชีวภาพ ซึ่งจะถูกกักเก็บในบ่อที่มีแผ่นพลาสติกคลุม สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงได้ และแบบที่สอง ระบบบ่อพักน้ำ ซึ่งจะไม่ได้ก๊าซชีวภาพ แต่ทั้งสองระบบจะมีขั้นตอนการบำบัดคล้ายกัน และต่างกันแค่มีระบบกักเก็บก๊าซชีวภาพในช่วงที่จุลินทรีย์ยย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รุ่งโรจน์ ปิยะภานุวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) ฝ่ายวิจัยและอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระบุว่า ทั้ง 2 ระบบดังกล่าว แม้จะได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม แต่หากไม่มีผู้ที่เชี่ยวชาญคอยควบคุม ระบบก็ทำงานล้มเหลวได้ เช่น ไม่สามารถควบคุมสารอินทรีย์ในขี้หมูให้เกิดการปรับสภาพในระบบบำบัด เป็นต้น

นอกจากนี้ ระบบบำบัดน้ำเสียทั้ง 2 แบบ ไม่สามารถบำบัดสารฟอสฟอรัส (Total Phosphorus : TP) ได้ เป็นเกณฑ์วัดใหม่ที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามา กำหนดไว้ไม่ให้มีสารฟอสฟอรัสในน้ำเสียที่บำบัดแล้วเกิน 5 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งการกำจัดสารฟอสฟอรัสนั้นจะต้องใช้วิธีบำบัดด้วยพืชในขั้นตอนสุดท้าย ได้แก่ ต้นธูปฤาษี และต้นกก เป็นต้น

แต่สำหรับเกษตรกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รุ่งโรจน์ แนะนำว่า วิธีการจัดการขี้หมูและน้ำเสียที่ทำได้เร็วที่สุดและใช้เงินลงทุนน้อยสำหรับเกษตรกร คือ

  1. นำขี้หมูไปทำเป็นปุ๋ยปรับปรุงโครงสร้างดินบนพื้นที่เพาะปลูก และยังสามารถนำไปอัดเป็นก้อนวางขายได้
  2. นำน้ำเสียจากฟาร์มหมูที่บำบัดด้วยไบโอแก๊ส ไปใช้เพาะปลูกพืช
  3. นำขี้หมูไปเป็นอาหารเลี้ยงปลา

มีงานวิจัยออกมารองรับว่า น้ำเสียที่นำไปปลูกพืชแล้วได้ผลดี อันแรกคือ ข้าวโพด ได้ผลผลิตดีขึ้น สามารถประหยัดค่าปุ๋ยได้ 15-20% อันที่สองคือ หญ้าเนเปียร์ มีลักษณะคล้ายกับต้นอ้อย แต่ใช้เวลาเติบโตเร็วกว่าและดูดซึมได้ไว สามารถนำไปเป็นอาหารวัวและควาย หรือนำไปผลิตก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) อันที่สามคือ แหนแดง นำไปเป็นอาหารเลี้ยงเป็ดและไก่ และอันสุดท้ายคือ แพงโกล่า เหมาะนำไปใช้เป็นอาหาร วัว ควาย ม้า แพะ แกะ และกระต่าย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รุ่งโรจน์ ยังกล่าวถึงระบบบำบัดน้ำเสียแบบไบโอแก๊ส ว่า ระบบนี้ถูกใช้ในฟาร์มสุกรไทยมานานกว่า 20 ปี และประสิทธิภาพก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่จำนวนมากที่จะบำบัดน้ำเสียได้ดีกว่า แต่ยังไม่ถูกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับมาตรฐานของไทย

แม้ที่ผ่านมามีนักวิจัยพยายามเข้าไปขอทุนกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อจะแก้ปัญหาในระบบบำบัดน้ำเสีย แต่นโยบายของผู้ให้ทุนกลับไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาระบบบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะของเสียที่เกิดจากการทำการเกษตร เพราะมองว่าผลผลิตจากการเกษตรมีมูลค่าไม่สูงมาก

 

“เรามองประโยชน์มันเกิดขึ้นกับเกษตรกร จริง ๆ ต่อให้ทั้งสิ่งแวดล้อมและปศุสัตว์แนะนำมา แต่ถ้าสุดท้ายถ้าไม่ได้มีคำสั่งนโยบายลงมา โจทย์พวกนี้ก็ไม่เกิด”

 

 

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

หมายเหตุ : หลักสูตรการพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (RDI Manager) ด้านนโยบาย รุ่นที่ 2 ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

ทรัพยากรน้ำ

การบริหารจัดการน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำในระยะ 20 ปี

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

ผู้เขียน: