คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อื่นของรัฐ พ.ศ. …. (พ.ร.ฎ.จัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อื่นของรัฐ) เนื่องจากมีชุมชนจำนวนมากเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อื่นของรัฐ เช่น ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์ ที่นิคมสร้างตนเองและที่นิคมสหกรณ์ และพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นต้น จึงต้องมีการส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าว
เงื่อนไขจัดตั้งป่าชุมชน
ทั้งนี้ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 67 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อื่นของรัฐ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อื่นของรัฐ พ.ศ. …. เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งป่าชุมชน การจัดการป่าชุมชน การควบคุมดูแลป่าชุมชน การเพิกถอนป่าชุมชน และการอื่นที่จำเป็นในพื้นที่อื่นของรัฐ ดังนี้
กำหนดให้การจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อื่นของรัฐจะกระทำได้ในพื้นที่ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์ ได้แก่ เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นิคมสร้างตนเอง นิคมสหกรณ์ และที่ราชพัสดุ โดยการนำพื้นที่อื่นของรัฐดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นป่าชุมชนได้ จะต้องได้รับความยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่ปกครองดูแลฟื้นที่อื่นของรัฐ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก่อน
กำหนดให้ชุมชนที่ประสงค์จะขอจัดตั้งป่าชุมชนจะต้องเป็นชุมชนที่อยู่ในอำเภอเดียวกันกับพื้นที่ป่าที่จะนำมาจัดตั้งเป็นป่าชุมชน และมีความสามารถดูแลรักษาป่าชุมชนนั้นได้ โดยการรวมตัวกันของบุคคลในชุมชนดังกล่าวเพื่อยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชน ต้องประกอบด้วยบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอที่ขอจัดตั้งป่าชุมชน ไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวนรวมกันตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
กำหนดให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด เป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาคำขอจัดจัดตั้งป่าชุมชน โดยในการพิจารณาอนุมัติจัดตั้งป่าชุมชน โดยในการพิจารณาอนุมัติจัดตั้งป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัดอาจพิจารณาอนุมัติให้นำพื้นที่ทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่ระบุไว้ในคำขอมาจัดตั้งเป็นป่าชุมชนก็ได้ โดยในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอ ผู้คัดค้าน หรืออธิบดีกรมป่าไม้ ไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัด ให้บุคคลดังกล่าวสามารถอุทธรณ์มติดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ทั้งนี้ หากมีการอนุมัติให้จัดตั้งป่าชุมชน ให้อธิบดีกรมป่าไม้ ประกาศการอนุมัติจัดตั้งป่าชุมชนในราชกิจจานุเบกษา
กำหนดให้การขอขยายเขตป่าชุมชนจะสามารถดำเนินการได้ ในกรณีที่ได้ดำเนินการป่าชุมชนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และเป็นป่าชุมชนที่อยู่ในกลุ่มป่าชุมชนดีมากในปีก่อนที่จะมีการยื่นคำขอ ทั้งนี้ พื้นที่ที่ขอขยายจะต้องอยู่ในอำเภอเดียวกันกับเขตป่าชุมชนเดิม
กำหนดให้การจัดการป่าชุมชนกระทำโดยคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน ร่วมกับสมาชิกของป่าชุมชนนั้น โดยต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของป่าชุมชน และแผนจัดการป่าชุมชนที่ได้รับการอนุมัติพร้อมกับคำขอจัดตั้งป่าชุมชน โดยคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนมีหน้าที่และอำนาจต่าง ๆ เช่น ร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจัดให้มีหลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายอื่นในการแสดงแนวเขตป่าชุมชน ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดการป่าชุมชน ดูแลรักษาป่าชุมชน บำรุงและฟื้นฟูป่าชุมชน ส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชน สั่งให้ผู้ซึ่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับออกจากป่าชุมชน หรือให้กระทำการหรืองดเว้นการกระทำการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับ เป็นต้น
สิทธิใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน
ให้สมาชิกป่าชุมชนมีสิทธิใช้ประโยชน์จากผลผลิต และบริหารป่าชุมชนซึ่งสอดคล้องกับแผนจัดการป่าชุมชน ได้แก่
- การเก็บหาของป่าในป่าชุมชน
- การใช้ประโยชน์จากไม้โดยต้องไม่ใช้ประโยชน์จากไม้ทรงคุณค่า ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และให้ทำได้ตามความจำเป็นเพียงเฉพาะเพื่อใช้สอยในครัวเรือนของสมาชิกป่าชุมชน หรือใช้ในกิจกรรมสาธารณะภายในชุมชนนั้น
- การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอื่นตามความจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนของสมาชิกป่าชุมชน หรือใช้ในกิจกรรมสาธารณะภายในชุมชนนั้น
- การใช้ประโยชน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในป่าชุมชน รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน
การควบคุมดูแลภายในป่าชุมชน โดยห้ามบุคคลกระทำการ ดังนี้
- ยึดถือ ครอบครอง หรือใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือทำกิน
- ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ขุดหาแร่ ล่าสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าชุมชน
- ใช้ประโยชน์จากไม้นอกเหนือไปจากกรณีที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา
- ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง เว้นแต่เป็นกรณีที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน เช่น หอดูไฟป่า ฝายชะลอน้ำ เป็นต้น โดยต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัดก่อน
ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการตรวจสอบการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้ รวมทั้งสั่งให้บุคคลออกจากป่าชุมชนหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ในป่าชุมชน หากมีข้อเท็จจริงปรากฏหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นกระทำความผิดตามพระราชกฤษฎีกานี้
การเพิกถอนป่าชุมชน
ขณะเดียวกันกำหนดให้มีการเพิกถอนป่าชุมชนในกรณีดังต่อไปนี้
1.หน่วยงานของรัฐผู้ปกครองดูแลพื้นที่นั้นไม่ประสงค์จะให้ใช้พื้นที่เพื่อจัดตั้งเป็นป่าชุมชนอีกต่อไป โดยหากคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนคัดค้านความเห็นของหน่วยงานของรัฐดังกล่าว ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัดเพื่อชี้ขาด
2.อธิบดีกรมป่าไม้สั่งให้มีการเพิกถอนป่าที่ชุมชน ในกรณีคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนขอให้เพิกถอน กรณีที่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนทอดทิ้งไม่จัดการฟื้นฟูบำรุงชุมชนนั้นต่อไป กรณีที่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนไม่ปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกานี้ อันจะเป็นเหตุให้ป่าชุมชนได้รับความเสียหายหรือมีเหตุไม่ควรไว้วางใจให้จัดการป่าชุมชนต่อไป และกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นทางด้านกิจการเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง