การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 12 พ.ย. 67 อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาที่เสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อแก้ปัญหา “คนกับป่า” โดยกำหนดกรอบการอาศัยอยู่และใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ป่าเขตอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
อาศัยหรือทำกินในพื้นที่
ครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยต้องอาศัยอยู่ก่อนพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 บังคับใช้ แต่ไม่ได้เป็นการโอนกรรมสิทธิ ดังนี้
- ร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ศ. …. (จำนวน 4 แห่ง)
- ร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พ.ศ. …. (จำนวน 2 แห่ง)
ทส. ได้แก้ไขในส่วนบัญชีท้ายและแผนที่ท้ายจากร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณา ให้สอดคล้องกับผลการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map)
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ที่ทส.เสนอเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการเมื่อ 11 ก.ค. 66 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติได้มีการแก้ไขในส่วนบัญชีท้ายและแผนที่ท้ายจากร่างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยเป็นการกำหนดให้มีโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
ร่างพระราชกฤษฎีทั้ง 2 ฉบับจะช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่มีการประกาศกำหนดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ สามารถอยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่นั้นเพื่อการดำรงชีพต่อไปได้โดยรัฐไม่ได้ให้สิทธิในที่ดินนั้นแต่อย่างใด และบุคคลดังกล่าวต้องมีหน้าที่ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์และมีระบบนิเวศที่เหมาะสม
กำหนดให้มีการจัดทำโครงการดังกล่าวภายในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้าม ล่าสัตว์ป่า จำนวน 6 แห่ง (อุทยานแห่งชาติ จำนวน 4 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 1 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 1 แห่ง) ซึ่งแผนที่โครงการฯ จำนวน 6 แห่งดังกล่าวมีความสอดคล้องกับผลการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ของพื้นที่กลุ่มที่ 2 จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดลพบุรี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 22 พ.ย. 2565 และของพื้นที่กลุ่มที่ 3 จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 ก.พ. 2566 แล้ว
ทั้งนี้ คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติและคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 2 ฉบับ
การแก้ไขบัญชีท้ายและแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ เทียบระหว่างของเดิม กับของใหม่ มีดังนี้
อนุญาตเก็บหา/ใช้ประโยชน์ 7 อุทยานแห่งชาติ
นอกจากนี้ ทส. ยังออกร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ…โดยจะให้มีการใช้ประโยชน์หรือเก็บหาของป่าในพื้นที่ที่กำหนดได้
ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยโครงการอนุรักษ์ฯ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เป็นการดำเนินการตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการจัดทำโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติ จำนวน 7 แห่ง ที่กรมการปกครองตรวจสอบแนวเขตการปกครองแล้ว ได้แก่
- อุทยานแห่งชาติขุนพะวอ จังหวัดตาก
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา
- อุทยานแห่งชาติภูจอง – นายอย จังหวัดอุบลราชธานี
- อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี
- อุทยานแห่งชาติขุนน่าน จังหวัดน่าน
- อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเลย
- อุทยานแห่งชาติลานสาง จังหวัดตาก
ทั้งนี้ มีกำหนดระยะเวลา 20 ปี นับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ หรืออยู่อาศัยโดยรอบอุทยานแห่งชาติ สามารถเข้าไปเก็บหาหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาลในอุทยานแห่งชาติได้ซึ่งจะเป็นประเภทจำพวกพืช เห็ด สัตว์ สมุนไพร และแมลง เช่น ผักหวาน เห็ดเผาะหนัง ปลากดคัง มะขามป้อม ผึ้ง
ประชาชนผู้ใช้ประโยชน์จะต้องเป็นไปเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ กล่าวคือ เพื่อการบริโภคหรือใช้สอยภายในครัวเรือน รวมถึงการค้าขายซึ่งจะต้องเป็นไปตามวิถีชีวิต ไม่ใช่เป็นการประกอบธุรกิจของนายทุน
การเปิดให้ใช้ประโยชน์ดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาการดำรงชีพตามวิถีชุมชนหรือวิถีชีวิตตั้งเดิมของประชาชนดังกล่าวและควบคุมการใช้ประโยชน์ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวให้มีความเหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ สัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศ
ทั้งนี้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งสำรวจชุมชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ หรืออยู่อาศัยโดยรอบอุทยานแห่งชาติ (ไม่ได้กำหนดพื้นที่หรือรัศมีไว้ โดยจะพิจารณาวิถีชุมชนหรือวิถีชีวิตดั้งเดิมในการดำรงชีพประกอบ เช่น มีการเข้าไปเก็บผัก พืช หรือทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งจะอยู่ในระยะทางที่สามารถเดินทางได้ปกติ) และประกาศรายชื่อชุมชนดังกล่าว รวมถึงประกาศพื้นที่โครงการซึ่งจะต้องอยู่ในแนวเขตโครงการตามที่กำหนดไว้ท้ายประกาศนี้ และจัดทำบัญชีประเภท ชนิด จำนวน ปริมาณ ฤดูกาลช่วงระยะเวลาการเก็บหาหรือใช้ประโยชน์ (บัญชีดังกล่าวจะมีความแตกต่างไปตามพื้นที่อุทยานแห่งชาติ)
สำหรับบุคคลที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปเก็บหาหรือใช้ประโยชน์จะต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านของหมู่บ้านที่ได้ทำการสำรวจชุมชน และจะต้องเก็บหาหรือใช้ประโยชน์ได้เฉพาะตามประเภท ชนิด จำนวน ปริมาณ ฤดูกาลช่วงระยะเวลาที่อุทยานแห่งชาติกำหนด โดยไม่สามารถให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุคคลในครัวเรือนเก็บหาหรือใช้ประโยชน์ดังกล่าวแทนได้
อีกทั้งยังมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติ อาทิ จะต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่โครงการ ไม่บุกรุก แผ้วถาง หรือขยายพื้นที่ ไม่เคลื่อนย้ายหรือทำลายหลักเขต รวมถึงกำหนดให้มีการประเมินผลการดำเนินโครงการซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีในการสั่งให้ยุติการดำเนินโครงการและให้นำพื้นที่มาฟื้นฟูหรือดำเนินการอนุรักษ์ให้คงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ