มูลนิธิสืบนาคะเสถียร รายงานว่าจากปี 2566 ถึงปี 2567 พบว่า ผืนป่าของไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่ จากปี 2565 ที่มีพื้นที่ป่าไม้เหลือ 102,135,974.96 ไร่ หรือร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ 101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.47 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ที่ยังคงสภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 101,627,819.86 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ ที่เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้อีก 190,335.90 ไร่
ข้อมูลดังกล่าวมาจากการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าไม้ของกรมป่าไม้ ซึ่งได้มีการนำเทคนิคการซ้อนทับข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในแต่ละปี โดยทำให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพของพื้นที่ป่าไม้ได้ 3 รูปแบบ คือ 1. พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้น 2. พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง และ 3. พื้นที่ป่าไม้ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น
สาเหตุหลัก ได้แก่ การขยายตัวของพื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติ (Natural Forest Expansion) การปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เช่น สวนป่า (Plantation) หรือการปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายของต้นไม้และสิ่งมีชีวิต
พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง
สาเหตุหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) จากพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเกิดจากปัญหาไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น (Forest Fire)
นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ความร้อนในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ของป่าผลัดใบและสวนป่าเกิดการร่วงหล่นของใบเป็นอย่างมาก ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้
การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่ารอบ 50 ปี
การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2566 สามารถพิจารณาเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงระหว่ำงปี พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2541 และช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ. 2566 เนื่องจากมาตราส่วนที่ใช้ในกำรปฏิบัติงานมีความแตกต่างกัน
กล่าวคือ ก่อนปี พ.ศ. 2543 ข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ของกรมป่าไม้ ถูกจัดทำขึ้นจำกการวิเคราะห์ข้อมูลภาพดาวเทียมที่มาตราส่วน 1:250,000 แต่ภายหลังจากปี พ.ศ. 2543 มีการเปลี่ยนแปลงมาตราสวนที่ใช้สำหรับกำรจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้เป็น 1:50,000 และมีการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (geographic information system : GIS) มาใช้ในการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย
ดังนั้นผลจากการกำหนดมาตราส่วนของภาพดาวเทียมที่แตกต่างกันดังกล่าวทำให้ตัวเลขพื้นที่ป่าไม้ของประเทศมีความแตกต่างกันชัดเจน
ช่วงที่ 1 (พ.ศ. 2516 – 2541: รวมระยะเวลา 26 ปี): พื้นที่ป่าไม้ลดลงจาก 138,566,875.00 ไร่ใน ปีพ.ศ. 2516 เหลือ 81,076,250.00 ไร่ ใน ปี พ.ศ. 2541 หรือคิดเป็นอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้เท่ากับ 2,211,177.88 ไร่ต่อปี
ช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2543 – 2566: รวมระยะเวลา 24 ปี): พื้นที่ป่าไม้ลดลงจาก 106,319,237.50 ไร่ ในปีพ.ศ. 2543 เหลือ 101,818,155.76 ไร่ ใน ปี พ.ศ. 2566 หรือคิดเป็นอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้เท่ากับ 187,545.07 ไร่ต่อปี
พื้นที่ป่าไม้จำแนกตามภูมิภาค
ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ 63.24% ของสัดส่วนพื้นที่ภูมิภาค หรือ 37,976,519.37 ไร่ ลดลงจากปี 2565 รวม 171,143.04 ไร่
ภาคเหนือถือว่ามีสัดส่วนของพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันการลดลงของพื้นที่ป่าไม้มีจำนวนมากที่สุด และยังลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2516 แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่ป่าไม่จะลดลงจากปี 2565 แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกับพื้นที่ภูมิภาคแล้ว ภาคเหนือยังคงมีพื้นที่ป่าไม้เกิน 50% ของพื้นที่ภูมิภาค
จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน 83.42% ลำปาง 69.63% เชียงใหม่ 68.29% แพร่ 64.78% และน่าน 61.06%
ภาคใต้ มีพื้นที่ป่า ร้อยละ 24.34 ของสัดส่วนภูมิภาค หรือ 11,232,880.27 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 เท่ากับ 8,395.32 ไร่
ภาคใต้ มีสัดส่วนของพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ เมื่อเทียบกับสัดส่วนของพื้นที่ภูมิภาคแล้ว จะเห็นว่ามีพื้นที่ป่าไม่ถุงร้อยละ 50 ของพื้นที่ แต่สถานการณ์ป่าไม้ของภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ ระนอง ร้อยละ 53.52,สตูล ร้อยละ 40.21,ยะลา ร้อยละ 32.48,พังงา ร้อยละ 32.35 และสุราษฎร์ธานี ร้อยละ 28.75
ภาคตะวันออก มีพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 21.82 ของสัดส่วนภูมิภาค หรือ 4,703,353.52 ไร่ ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 7,874.77 ไร่
ภาคตะวันออก มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้มากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ ซึ่งสถานการณ์ป่าไม้ในปัจจุบัน ลดลงจากปี 2565 และ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จันทบุรี ร้อยละ 32.16,ตราด ร้อยละ 30.96, ปราจีนบุรี ร้อยละ 28.58,สระแก้ ร้อยละ 22.01 และฉะเชิงเทรา ร้อยละ 15.47
ภาคตะวันตก มีพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 58.86 ของสัดส่วนภูมิภาค หรือ 20,033,806.37 ไร่ ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 49,667.70 ไร่
ภาคตะวันตก มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และยังเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย 2 กลุ่มป่าใหญ่ คือ กลุ่มป่าตะวันตกและกลุ่มป่าแก่งกระจาน นอกจากนี้ยังมีแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ 2 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และกลุ่มป่าแก่งกระจาน
เนื่องด้วยสถานการณ์ป่าไม้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผืนผ่าในภาคตะวันตกยังคงมีแนวโน้มที่จะลดลง โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่ามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ตาก ร้อยละ 71.29,กาญจนบุรี ร้อยละ 61.73,เพชรบุรี ร้อยละ 57.54, ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยละ 38.92 และราชบุรี ร้อยละ 32.85
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ป่า ร้อยละ 14.89 ของสัดส่วนภูมิภาค หรือ 15,608,130.07 ไร่ ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 87,575.79 ไร่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนของพื้นที่ป่าไม้น้อยที่สุดของประเทศ ซึ่งสถานการณ์ป่าไม้ในปัจจุบันลดลงจากปี 2565 และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 นอกจากนี้ในปี 2566 ยังมีป่าไม้ที่ลดลงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากภาคเหนือ โดยจะงหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มุกดาหาร ร้อยละ 32.79,เลย ร้อยละ 32.17,ชัยภูมิ ร้อยละ 31.49,อุบลราชธานี ร้อยละ 17.69 และสกลนคร ร้อยละ 16.94
ภาคกลาง มีพื้นที่ป่า ร้อยละ 21.55 ขอวสัดส่วนพื้นที่ภูมิภาค หรือ 12,263,466.16 ไร่ ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 9,953.23 ไร่
ภาคกลาง มีสัดส่วนของพื้นที่ป่าไม้เป็นอันดับ 5 ของประเทศ โดยในช่วงปี 2560-2565 สถานการณ์ป่าไม้ของภาคกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2566 พื้นที่ป่าไม้ลดลงจากปี 2565 ซึ่งเกิดจากหลาสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น
จังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่ามากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ อุทัยธานี ร้อยละ 51.40,พิษณุโลก ร้อยละ 37.37,เพชรบูรณ์ ร้อยละ 32.87,นครนายก ร้อยละ 30.00 และสุโขทัย ร้อยละ 29.40 และพบว่าจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ป่าไม้ ได้แก่ นนทบุรี,ปทุมธานี,และอ่างทอง
ไฟป่า ภัยคุกคามพื้นที่อนุรักษ์
ปัญหาใหญ่ที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงคือการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ แต่การบุกรุกไม่ใช่สาเหตุเดียว แต่ยังมาจากสถานการณ์ “ไฟป่า” อีกด้วย
ปัจจุบันไฟป่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเป็นผืนป่าบริเวณกว้าง มีความหลากหลายทางชีวภาพ สถานการณ์ไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น มาพร้อมกับมลพิษฝุ่นควัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศ คร่าชีวิตของสัตว์ป่า รวมทั้งความเสี่ยงอันตรายของชีวิตเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้ไฟป่ามีความเลวร้ายมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและช่วงฤดูแล้งยาวนานขึ้น รูปแบบหยาดน้ำฟ้า (Precipitation) ที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยที่พื้นผิวโลกสูงขึ้น การระเหยจะเกิดมากขึ้น แม้ปริมาณน้ำฝนโดยรวมจะเพิ่มขึ้น กลับส่งผลให้พืชพรรณในบางพื้นที่แห้งแล้งมากขึ้นและเสี่ยงต่อการติดไฟ และฤดูของไฟป่าก็ยาวนานขึ้นจากความแห้งของอากาศ จนนำไปสู่ไฟป่าที่ใหญ่และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นซึ่งยากต่อการจัดการ
ทั้งนี้ “ไฟป่า” สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งการเกิดจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ แต่ไฟป่าในประเทศไทยมีสาเหตุหลักมาจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การหาของป่า และการเผาไร่ เป็นต้น
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ของไทยได้ทำลายผืนป่าไปแล้วกว่า 1 ล้านไร่ และเจ้าหน้าที่ต้องต่อสู้เพื่อดับไฟป่ามากกว่า 60,240 ครั้ง
เป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ 40%
ปัญหาพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ เป็นเรื่องสำคัญของทุกรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ
จากเป้าหมายการมีพื้นที่ป่าตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2562 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่กำหนดให้ประเทศไทยควรมีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ หรือเท่ากับ 129,411,479.86 ไร่
แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินที่เป็นสาเหตุการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ยังเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากนโยบายรัฐบาลมีการแจกเอกสารสิทธิที่ดินทำกินให้กับประชาชน โดยเฉพาะในเขตที่เคยเป็นพื้นที่ป่าไม้และในพื้นที่ที่ยังมีข้อขัดแย้งสูง ซึ่งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า ยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับรัฐบาลว่าจะดำเนินการได้อย่างไร
อ่านเพิ่มเติม:
จริงหรือ? ทส.รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมดีขึ้น
ย้อนรอยออก ส.ป.ก.อุทยานเขาใหญ่ ใครคือไอ้โม่ง?
ที่มาข้อมูล:
สถานการณ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมไทย 2566
โครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปีพ.ศ. 2566 สำนักจัดการที่ดิน (กรมป่าไม้) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม