การปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงไทย ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 ทั้ง 8 ฉบับที่เพิ่งผ่านการลงมติรับหลักการจากสภาผู้แทนราษฎร และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) นั้น
โดยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลว่า เป็นการแก้กฎหมายเพื่อคืนอาชีพให้กับชาวประมงพื้นบ้าน ที่ไม่สามารถทำประมงได้เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎ Illegal, Unreported and Unregulated Fishing (IUU) หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
ยุโรปขู่คว่ำบาตร หากไทยเดินหน้าแก้กฎหมายเมิน IUU
แต่ขณะนี้การแก้กฎหมายประมงฉบับดังกล่าวกำลังเป็นที่จับตามองของนานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรือ อียู (EU) หนึ่งในผู้นำเข้าหลักอาหารทะเลของไทย
โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ เทเลกราฟ ว่า อาจจะพิจารณากลับมาให้ใบเหลือง หรือมาตรการเชิงลงโทษอื่น ๆ หากไทยยังคงเดินหน้าให้มีการลดทอนกฎระเบียบประมง และยืนยันว่าจะไม่ลังเลที่จะใช้มาตราการต่าง ๆ ในสิ่งที่จำเป็นทั้งหมด หากเห็นว่าไทยไม่ให้ความร่วมมือต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย IUU
จากรายงานวิเคราะห์ของ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม หรือ อีเจเอฟ (EJF) ชี้ว่า ความพยายามแก้ไขกฎหมายประมงอาจเป็นอันตรายต่อการค้าอาหารทะเลมูลค่าถึง 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.2 แสนล้านบาท) เนื่องจากมีการเสนอยกเลิกกลไกความโปร่งใส รวมถึงมาตรการกำกับดูแลในการติดตามและจำกัดเครื่องมือประมงทำลายล้าง
โดยมีอย่างน้อย 17 มาตราจากร่างกฎหมายทั้ง 8 ฉบับ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และพรรคการเมือง 7 พรรค ที่จะทำลายความสำเร็จในการปฏิรูปการประมง ทั้งในด้านความโปร่งใส ความยั่งยืน และการคุ้มครองแรงงานหลายประการ ที่มีมาตลอดในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา
“มงคล” ไม่กังวลอียูให้ใบเหลืองไทย
มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ไม่ได้มีความกังวลในเรื่องนี้ เพราะมองว่าข้อมูลจากอีเจเอฟ มีการบิดเบือน ทำให้ยุโรปเกิดความเข้าใจผิด มั่นใจว่ารัฐบาลไทยสามารถชี้แจงทำความเข้าใจได้ ตอนนี้ร่างกฎหมายยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของ กมธ.
ในเรื่องของแรงงานที่ อีเจเอฟ ระบุว่าจะไม่มีการแจ้งรายชื่อนั้น ก็ไม่เป็นความจริง ยังคงมีการให้แจ้งเหมือนเดิมตามกฎหมายบังคับของกรมเจ้าท่า แต่เปลี่ยนจากใช้เอกสารเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด และส่วนการแจ้งจำนวนแรงงานตอนออกเรือ ก็ยังต้องแจ้งไปที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) ให้รับทราบก่อน ทั้งในในส่วนที่เป็นปัญหาคือบทลงโทษที่รุนแรง หากแจ้งผิดพลาดจะโดนปรับ 2 ล้านบาท ซึ่งควรจะต้องถอดออก และให้ไปใช้กฎหมายปกติแทน
“ส่วนการขนถ่ายแรงงาน ในกฎหมายฉบับใหม่ก็มีในเรื่องของการฝากแรงงานไปกับเรือ ไม่ได้ขนถ่ายแรงงานกลางทะเล สมมติว่าเรือออกไปเรามีแรงงานถูกต้องตามกฎหมายแต่คนที่ออกไปมันไม่พอ เราก็ฝากคนออกไปได้ อันนี้ก็เป็นการแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ปกติ ไม่ได้มีการขนถ่ายแรงงานกลางทะเลตามที่ อีเจเอฟ กล่าวหา เหมือนกับเมื่อก่อนที่มีการขนถ่ายแรงงานกลางทะเลแล้วไม่มีการแจ้งอะไร ไม่มีหรอก เราต้องแจ้งให้ทางราชการรับรู้หมด”
สมาคมประมงฯ สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับใหม่ให้เดินหน้าต่อ ?
เดินหน้าต่ออยู่แล้ว เพราะสภาฯรับร่างกฎหมายนี้ 413 เสียง แล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ก็มาจากการเลือกตั้ง กฎหมายที่จะแก้ก็มาจาก สส. ไม่ได้มาจากเผด็จการ ถามว่ายุโรปเป็นประชาธิปไตยอยู่หรือไม่ จะมาข่มขู่คนอื่นกันแบบนี้ไม่ถูกต้อง ไทยก็มีอธิปไตยก็ตนเอง แม้เป็นประเทศเล็ก แต่ก็มีศักดิ์ศรีเพียงพอ
ผลจากกฎของยุโรป สร้างความเสียหายให้กับชาวประมง 2 ล้านล้านบาท พวกเขาจะรับผิดชอบหรือไม่ ในขณะที่ไทยส่งออกอาหารทะเลไปที่ยุโรปมูลค่าไม่ถึง 5,000 ล้านบาท แต่นำเข้าปลาทูน่าจากยุโรปมากถึง 99% ดังนั้นหากจะคว่ำบาตร ผลก็กระทบก็ตกเป็นของยุโรป
“ผมเชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้เขาเข้าใจ เขาศึกษา และชี้แจงได้ ผมเห็นในส่วนของรับบาลนี้ที่เขาเก่ง ๆ กันหลายคนในการเจรจา รอบที่แล้วเราเสียหาย เพราะว่าเราไม่ได้ฝ่ายการเมืองไปเจรจา เราเอาใครก็ไม่รู้ไปเจรจาจนเสียหายเละเทะหมด”
ความเสียหายปีที่ผ่านมาจากการที่ ไทยปฏิบัติตามกฎ IUU
ประมงไทยเสียหายปีละ 2-3 แสนล้านบาท เพราะตอนที่ยุโรปให้ใบเหลือง อยู่ในช่วงที่ไทยมีรัฐบาลเผด็จการ ยุโรปก็อาศัยจังหวะนี้ การที่ยุโรปเป็นประชาธิปไตย แต่ชอบกฎหมายของเผด็จการ ก็ไม่เข้าใจว่ายุโรปเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ สิ่งไหนที่เป็นผลประโยชน์เขาก็จะเอาไป จึงเชื่อว่ายุโรปคงไม่ได้เป็นประชาธิปไตยจริง และการมาข่มขู่ประเทศไทยเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ อย่างไรก็ตามตอนนี้ไทยไม่ได้เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าไปยุโรปแล้ว เพราะนำเข้าสินค้ามาบริโภคมากถึง 6 แสนตันต่อปี
กฎหมายประมงฉบับใหม่ จะทำให้ประมงไทยได้ประโยชน์อะไร
ร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นการแก้ปัญหา และไม่ได้เป็นการแก้กฎหมายทั้งหมด โดยจะแก้เฉพาะตรงที่เป็นปัญหา เช่น โทษที่รุนแรงจากกฎหมาย IUU ที่นำมาใช้ในไทย เปรียบเสมือนการลงโทษคนก่อการร้าย แต่มาใช้กับคนที่ทะเลาะวิวาทกัน จึงไม่สมเหตุสมผล ดังนั้นต้องแก้กฎหมายในส่วนของการกระทำผิดเรื่องเล็กน้อยในประเทศก็ควรให้ใช้กฎหมายปกติ ส่วนกฎหมาย IUU ก็ควรลงโทษในการกระทำความผิดที่รุนแรง เช่น เรือเถื่อน ลักลอกทำประมงในน่านน้ำประเทศอื่น หรือน่านน้ำสากล และการทำลายทรัพยากรอย่างรุนแรง เป็นต้น
“ในอนาคตข้างหน้าอาหารทะเลของประเทศไทยก็จะไม่มี ปีนี้นำเข้ามามาไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน เพราะชาวประมงไทยไม่ได้ออกกันแล้ว เหลือ 4,000-5,000 ลำ เท่านั้นที่ออกได้ จาก 15,000 ลำ เป็นผลจากกฎ IUU ที่รุนแรงเกิน ขาดแคลนแรงงาน เงื่อนไขเยอะ สัตว์น้ำราคาตกต่ำ ถือเป็นปัญหารุนแรง เพราะประเทศที่ไม่ทำ IUU มีการส่งอาหารทะเลเข้าไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา หลายประเทศที่โดนบอยคอตเขาก็ส่งเข้ามาขายไทย ขายเสร็จไม่ว่า แถมแปรรูปส่งออกไปยุโรปอีก มันก็กินกับประเทศดังกล่าว แต่อาหารทะเลไม่ได้มาจากเรือไทย”
หากยุโรปให้ใบเหลืองไทย จะกระทบการเจรจาเอฟทีเอของไทยกับอียู หรือไม่
ตรงนี้เกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน เพราะยุโรปกำหนดให้เรื่องประมงอยู่ในเงื่อนไขของการเจรจาข้อตกลงการเขตค้าเสรี หรือ เอฟที (FTA) โดยยุโรปต้องวัดใจ หากให้ใบเหลืองและไม่ทำเอฟทีเอกับไทย ยุโรปก็จะเสียประโยชน์ เช่น รถยนต์ ตอนนี้จีนเข้ามาครองตลาดหมดแล้ว เพราะยุโรปมัวแต่เอาเรื่องไร้สาระ แต่จีนไม่ได้สนใจเรื่องนี้ ถ้าหากยุโรปไม่ทำเอฟทีเอกับไทย การจะนำเข้ารถยนต์มาไทยก็จะถูกเก็บภาษีแพง และขายในราคาที่สู้กับจีนไม่ได้
“ตอนนี้เราตายอย่างเดียวไม่มีโอกาสฟื้นเลย เพราะเราไปเปิดเอฟทีเอจีนกับอาเซียน รัฐบาลที่แล้วไปเจราจาแล้วก็ไปเซ็นเอฟทีเอ จีน-อาเซียน กลายเป็นว่าทุกประเทศก็ส่งสินค้าประมงเข้ามา ทีนี้สินค้าประมงเราก็เจ๊งหมด เพราะเราต้องทำตาม IUU ทำให้มีต้นทุนสูง ต่างจากประเทศอื่นในอาเซียนที่ไม่ต้องทำตาม IUU
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง