การออกโฉนดที่ดินในพื้นที่เขตของสำนักงานการปฏิรูปที่เดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ยังคงเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อนานข้ามปีของไทย โดยเฉพาะการรุกล้ำเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมคนของไทย ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ ได้พบการบุกรุกเขตอุทยานมาจำนวนหลายครั้ง และผู้กระทำผิดมักอ้างว่าได้รับสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01
แต่ครั้งล่าสุดได้กลายมาเป็นความขัดแย้งของ 2 กระทรวง ระหว่าง กระทรวงทรัพยากรแห่งชาติ กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังอุทยานแห่งชาติได้เข้าจับกุมผู้กระทำผิดจำนวน 5 ราย ที่บุกรุกเขตอุทยานฯ บริเวณบ้านเหวปลากั้ง ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งพบพิรุธจำนวนมากในการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. จนทำให้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องหย่าศึกทั้ง 2 กระทรวง และให้กรมแผนที่ทหารลงพื้นที่สำรวจแนวเขตที่ถูกต้อง
ส.ป.ก.รุกอุทยานฯทับลาน 900 ไร่
ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไม่ได้เกิดขึ้นที่เขาใหญ่เป็นที่แรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในพื้นที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือ อุทยานแห่งชาติทับลาน
ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เล่าว่า นับตั้งแต่ปี 2560 ได้มีการจับกุมผู้บุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน แต่พบว่าได้มีการเข้ามาวางผังเขต ส.ป.ก. จำนวนกว่า 900 ไร่ และพบข้อพิรุธว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดิน อีกทั้งระหว่างอยู่ในกระบวนการต่อสู้คดี ปรากฎว่าอีก 3 ปี ต่อมา ส.ป.ก. ได้ออกเอกสารสิทธิ์ทับพื้นที่ดังกล่าว
ในการกล่าวหากันนั้นเขาก็เอาเอกสารฉบันนี้ ยื่นต่อพนักงานสอบสวนชั้นอัยการ สุดท้ายพอศาลรับ เขาเอาเอกสาร ส.ป.ก. ฉบับนั้นมาแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ จากที่เราเป็นโจทก์ เขาเป็นจำเลย วันนี้เราเป็นจำเลย เขาเป็นโจทก์ เจ็บปวดกว่านั้นคือ ขณะที่เราต้องสู้ก็ยังมีลำดับผู้ใหญ่ ยังไปให้กำลังใจอยู่ แต่ในระหว่างที่เราโดนคดี ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้มาดูว่าเราโดนคดียังไง ใครจะไปประกัน ใครจะทำยังไงอะไรต่อ มันไม่ได้ระดับผมไง มันเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ลูกจ้างประจำ ผู้ช่วยอุทยาน หัวหน้าอุทยานที่ถูกฟ้องกลับ นี่คือความเจ็บปวดที่มันซ้ำในหัวใจของผู้พิทักษ์ป่า
หลังจากนั้นเรื่องปัญหาการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานของ ส.ป.ก. ก็ได้มีการถกเถียงกันมาโดยตลอด และทางคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้ปัดตกเรื่องดังกล่าวถึง 2 ครั้ง ทำให้อุทยานแห่งชาติทับลาน รอดพ้นจากการสูญเสียพื้นที่กว่า 2 แสนไร่ ส่วนคดีความต่าง ๆ ที่มีการฟ้องกันก็จบลงด้วยดี
ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 ให้มีความรัดกุมและให้มีประชาชนมีส่วนรวมมากขึ้น ซึ่งในมาตรา 64 และมาตรา 121 ได้ให้สิทธิ์ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยทำกินบนพื้นที่ป่าอนุรักษ์และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยไม่ผิดกฎหมาย
ไฟเขียวยกที่ดินอุทยานฯทับลาน ให้ ส.ป.ก.
แต่ปัญหาในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทับลานยังคงไม่จบ เมื่อในการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา มีมติรับรองกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ เสนอความเห็นเข้ามาที่ ครม. ดังนี้
- เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี 2543
- เห็นชอบในการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดให้เป็นไปตามกระบวนยุติธรรม
- เห็นชอบให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก.ดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชนอาศัยทำกิน
- เห็นชอบให้ภาครัฐ ประกาศหวงห้ามเขตที่ดินของรัฐ ให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ มีส่วนร่วมดำเนินการ
ทั้งนี้ให้ยกเว้น มติ ครม. เมื่อ 30 มิ.ย. 2541 ที่ระบุว่า รัฐจะไม่นำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม. ไปปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (จัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) เฉพาะในกรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งหมายความว่ารัฐจะสามารถนำพื้นที่อุทยานฯทับลาน ไปจัดสรรที่ดินให้กับประชาชนเพื่อทำเกษตรกรรมได้
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ค้านมติอุทยานฯ หวั่นเสียป่าฟรี 2.6 แสนไร่
จากประเด็นดังกล่าว ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่า จะทำให้ไทยสูญเสียพื้นที่อนุรักษ์ขนาดใหญ่จากการเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติทับลานนวน 265,286.58 ไร่ เพื่อส่องมอบให้กับ ส.ป.ก. โดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่กำลังจะมีขนาดเล็กลงจากเดิม
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกหนังสือคัดค้านและขอให้ทบทวนมติของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติดังกล่าว เพราะไม่เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ที่กำหนดให้ต้องมีการเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติให้ได้ 35% ของพื้นที่ประเทศ และไม่เป็นไปตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้ไทยต้องมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่น้อยกว่า 25% ของพื้นที่ประเทศ รวมถึงอาจเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีปัญหาการทับซ้อนจากการที่มีประชาชนเข้าไปอยู่ในอาศัยในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วประเทศ
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาจากมูลนิธิฯ คือ
กลุ่มที่ 1 พื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน (กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เดิมมาตั้งแต่แรก) โดยภาครัฐควรเข้าไปสำรวจพื้นที่ และหาวิธีให้คนกลุ่มนี้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
กลุ่มที่ 2 พื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) ภาครัฐควรเข้าไปจัดการจัดสรรที่ดินให้สามารถอยู่อาศัยและทำกินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการสร้างระบบสาธารณูปโภค
กลุ่มที่ 3 พื้นที่ที่ไม่ใช่กลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 (ของนายทุนหรือบุคคลนอกพื้นที่) ต้องไม่ให้สิทธิ์เป็นพื้นที่ สปก. และดำเนินคดีตามกฎหมาย
ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าตัวอุทยานแห่งชาติทับลานเขาไม่ได้แก้ปัญหา มันมีความพยายามในการแก้ปัญหาโดยตลอด ในเรื่องของการที่จะนำ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 ในเรื่องของการมีแก้ปัญหาพื้นที่อยู่อาศัยทำกินของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ มีการสำรวจ มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา เพียงแต่ว่ากระบวนการทางกฎหมายมันยังไม่ได้ดำเนินการจนได้ข้อยุติ แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นมันอยู่ในระหว่างการดำเนินการทั้งสิ้น ซึ่งการที่อยู่ดี ๆ มีมติ ครม.ออกมาว่าให้เพิกถอนพื้นที่ตรงนี้แล้วส่งให้ ส.ป.ก.ทันทีเลยเนี่ย ผมว่ามันค่อนข้างที่จะมีผลกระทบกับตัวพื้นที่อนุรักษ์อย่างชัดเจน
ปรับเกณฑ์จำแนกที่ดินใหม่ กันพื้นที่”ป่าไม้ถาวร”
ห้ามออกส.ป.ก.พื้นที่อุทยาน-ป่าสงวน
สำหรับอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 39 เมื่อวันที่ 23 ส.ค. โดยมีเนื้อที่ประมาณ 1,400,000 ไร่ เป็นอุทยานฯที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จากยูเนสโก ในปี 2548 แต่พื้นที่อุทยานฯ บางส่วนได้ทับซ้อนที่ดินของประชาชนและบางหน่วยงานราชการ จนกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งเรื่องสิทธิและที่ดินในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว และในช่วงต้นทศวรรษ 2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันที่ 22 เม.ย. 2540 ให้ใช้แนวทางปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งที่ทับลาน และเป็นที่มาของการรังวัดเตรียมการแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543
หลังจากนั้น 1 ปีถัดมา ครม.มีมติยกเลิกแนวทางดังกล่าว และให้ใช้แนวทางพิสูจน์สิทธิในที่ดินแทน ซึ่งได้รับการดำเนินการผ่านนโยบายที่สำคัญฯ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ มารองรับ รวมทั้งนโยบายที่ดินแห่งชาติของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับเรื่องเรียนจากราษฎร และนำเสนอแนวทางการปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯ มาใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานอีกครั้งในปี 2561
ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และประธาน คทช. ในขณะนั้น ได้ตัดสินใจเชิงนโยบายผ่านมติ ครม.ในวันที่ 2 ก.พ. 2564 รับข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน และมีมติเห็นชอบอีกครั้งผ่านการนำเสนอของ คทช. เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One map) ที่ให้ดำเนินใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี
การปรับแนวเขตดังกล่าว จะส่งผลให้มีการกันพื้นที่ป่าที่มีปัญหาทับซ้อนออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,286.58 ไร่ โดย ส.ป.ก. จะรับไปดำเนินการต่อไป ซึ่งการแก้ไขปัญหาแนวทางนี้ไม่สอดคล้องกับนโยบายและการดำเนินงานที่ผ่านมา และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนจากการซื้อขายเปลี่ยนมือของที่ดินไปแล้ว และจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ที่มีปัญหาการทับซ้อนในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2567 ได้มีการบรรจุมติ ครม. 14 มี.ค. 2566 ว่าด้วยการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามเส้นรังวัดในปี 2543 เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตอนการให้ข้อเสนอแนะอย่างละเอียดรอบคอบ ของ คทช. ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจเชิงนโยบายครั้งใหม่ และการดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อผลักดันข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงแนวเขตและกันพื้นที่ป่าออกจากป่าอนุรักษ์ เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิ และที่ดินทับซ้อนในอุทยานแห่งชาติทับลาน และการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ในพื้นที่อนุรักษ์ นำมาสู่การตั้งคำถามจากองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และสาธารณชน ถึงความย้อนแย้งทางนโยบายและการปฏิบัติตามกฎหมายของฝ่ายนโยบายและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตลอดจนความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าของประเทศครั้งใหญ่ และความเหลื่อมล้ำในการดำเนินการที่จะซ้ำเติมความขัดแย้งในหมู่ประชาชนและกับรัฐเอง