เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ
- การจัดที่ดินยังคงเป็นไปเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามศักยภาพของพื้นที่
- สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด
- ต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนที่ ส.ป.ก. กำหนด
- สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ
- ต้องถือครอง ส.ป.ก. 4-01 และทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี
ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่ โดย ส.ป.ก. จะทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่าง ๆ เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้
กระทรวงเกษตรฯ โดย ส.ป.ก. จะส่งมอบโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่เกษตรกรได้ภายในวันที่ 15 ม.ค. 2567 และจะทยอยให้ ส.ป.ก. จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการออกโฉนดให้กับเกษตรกรทุกจังหวัดที่เข้าหลักเกณฑ์ตามลำดับ
ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างแท้จริง สามารถตกทอดถึงมือทายาท และเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดอาชีพด้านเกษตรได้อย่างยั่งยืนต่อไปด้วย” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว
นอกจากนี้ มีมติเห็นชอบ “โครงการตรวจสอบและดำเนินการกรณีเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินถึงแก่ความตายในเขตปฏิรูปที่ดิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” วงเงิน 22.5 ล้านบาท
เพื่อให้ ส.ป.ก. นำไปใช้จ่ายเพื่อเร่งรัดและติดตามให้ทายาทเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ถึงแก่ความตายมาแจ้งขอรับสิทธิการจัดที่ดินแทนที่ (รับมรดก) ซึ่งยังไม่มาแสดงตนอีก จำนวน 171,434 ราย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ก.ค. 2567 ตามมติ คปก. ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 ที่เห็นชอบให้ขยายระยเวลาออกไปอีก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 2566
ที่มาที่ดิน 22 ล้านไร่
ที่ดินส.ป.ก. เป็นผลจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.. 2518 โดยจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรโดยวิธีการปฏิรูปที่ดิน เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งดำเนินการได้ทั้งที่ดินของรัฐและเอกชนที่มีที่ดินเกินความจำเป็น แต่ส่วนใหญ่มักจะนำที่ดินของรัฐมาจัดสรรให้กับเกษตรกร
ปัจจุบัน ข้อมูลการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ที่อยู่การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ “ส.ป.ก.” ณ สิ้นเดือนส.ค. 2566 โดยมีที่ดิน 3 ประเภท คือ ที่ดินเกษตรกรรม ที่ดินชุมชน และที่ดินเอกชน ใน 72 จังหวัด มีผู้ครอบครอง 2,996,068 ราย รวม 36,582,232 ไร่
หากแบ่งตามที่ได้รับอนุญาตหรืออนุมัติจากปฏิรูปที่ดินจังหวัด หรือ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ซึ่งเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เช่น ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินป่าเสื่อมโทรม ที่ได้มาจากกรมป่าไม้ แบ่งได้ดังนี้
- ที่เกษตรกรรม 67 จังหวัด มีเกษตรกรครอบครอง 2,313,356 ราย จำนวน 3,100,349 แปลง เนื้อที่ 35,635,400 ไร่
- ที่ชุมชน 62 จังหวัด มีการครอบครอง 647,619 ราย จำนวน 696,525 แปลง เนื้อที่ 409,519 ไร่
- ที่ดินเอกชน ได้มาตามมาตรา 25 ทวิ หรือมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คือ ที่ดินพระราชทาน ที่ดินบริจาค ที่ราชพัสดุ และที่ดินเอกชนที่ ส.ป.ก.จัดซื้อโฉนดที่ดิน หรือ นส.3 ใน 55 จังหวัด ครอบครอง 35,093 ราย จำนวน 46,525 แปลง เนื้อที่ 537,313 ไร่
หากพิจารณาจากเงื่อนไขการเปลี่ยนเป็นโฉนด ปรากฏว่ามีผู้ครอบครองใน 67 จังหวัด 2,313,356 ราย จำนวน 3,100,349 แปลง เนื้อที่ 35,635,400 ไร่ และในจำนวนนี้มีเกษตรกรเข้าเงื่อนไขการแปลงเป็นโฉนด 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิ 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่ 22,079,407 ไร่
ทั้งหมด เป็นที่มาของนโยบายการออกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 กว่า 22 ล้านไร่ ทั่วประเทศ