การประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563 โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็น โดยวาระการพิจารณา “การแก้ปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน”
ในการระชุม มีการชี้แจงข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน และคำชี้แจงของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จากนั้น มีการซักถามในหลายประเด็นถึงการบุกรุกเข้าไปประกอบธุรกิจหรือสร้างอาคารในพื้นที่
นายวราวุธ ได้สอบถามถึงความประสงค์ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเข้าพิจารณา
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่าผู้ตรวจการแผ่นดินต้องการให้นำเรื่องการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวตอนหนึ่งว่า “จากที่ได้เคยหารือกับผู้ตรวจการแผ่นดินว่าหากไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ จะถือว่ามีความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผู้ตรวจการแผ่นดินจะแจ้งผลไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ นายมกลชัย รัตนสกาวงศ์ กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่าในกรณีนี้ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 157 เพราะการกระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องเป็นการประทำที่ประกอบไปด้วยเจตนาที่จะฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ในกรณีนี้ยังไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากต้องใช้เวลาพิสูจน์ข้อเท็จจริง
นายศราวุธ ยังถามอีกว่าผู้ที่เข้าไปประกอบธุรกิจในพื้นที่ ใช้สิทธิ์อะไรในการเข้าไปดำเนินการประกอบธุรกิจหรือก่อสร้างอากาคารต่าง ๆ
นายธัญญา ชี้แจงว่า ส่วนใหญ่ที่ได้มีการดำเนินคดีจะไม่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นเพียงการซื้อขายสิทธิ์ต่อกันมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของกรมอุทยานแห่งชาติฯ แต่มีบางรายที่ได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว
นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าปัจจุบันได้มีการดำเนินคดีผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจรีสอร์ทผิดกฎหมายประมาณ 493 ราย โดยจำนวนนี้ยังไม่รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยอีกจำนวนมาก มีการรื้อถอนไปแล้วบางส่วนประมาณ 130 ราย ซึ่งบางรายก็ดำเนินการรื้อถอนโดยสมัครใจ แต่บางรายก็ดำเนินการฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว
นายวราวุธ ถามอีกว่า การฟ้องร้องต่อศาลปกครองของผู้ประกอบการเป็นการฟ้องลักษณะใด และสิทธิ์ในการฟ้องเป็นสิทธิ์ประเภทใด
นายกมลชัย ชี้แจงว่าการฟ้องร้องในลักษณะดังกล่าวเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด และผู้ประกอบการอ้างว่าถูกกระทบสิทธิ์ จึงดำเนินการฟ้องศาลปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่ศาลมักจะให้ความคุ้มครอง และเป็นการหยุดการกระทำของเจ้าหน้าที่ชั่วคราว ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ในระหว่างนั้น ผู้ประกอบการก็ยังคงดำเนินธุรกิจในพื้นที่ต่อไป ซึ่งสิทธิ์ที่ใช้ในการฟ้องร้องนั้นเป็นเพียงสิทธิ์ที่ผู้ประกอบการอ้างถึงเท่านั้น ไม่ใช่สิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ได้ข้อยุติแล้ว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่เป็นเพียงการซื้อสิทธิ์ครอบครองต่อมา ในข้อเท็จจริง ผู้ประกอบการไม่ได้ให้ความสนใจกับเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายมากนัก เพราะหวังเพียงแต่กำไรจากการประกอบธุรกิจเท่านั้น
นายศศิน เฉลิมลาภ กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่ามีกรณีหนึ่งที่อยาก คือ กรณีที่มีผู้ที่ทราบข่าวว่าจะมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และได้ซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าว ซึ่งผู้ซื้อก็อ้างว่าไม่มีเจตนาบุกรุกพื้นที่ป่า เป็นการซื้อที่เพื่อนำไปสร้างที่อยู่อาศัยเท่านั้น ไม่ได้ดำเนินการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีข้อสงสัยว่าการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแนะให้มีการปรับปรุงแนวเขต โดยให้ใช้เส้นแนวเขตตามที่เคยมีการสำรวจและจัดทำไว้เมื่อปี 2543 หากดำเนินการเช่นนั้นจะเป็นการเื้อประโยชน์ให้บุคคลบางกลุ่มหรือไม่ เพราะที่ดินบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นการได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และอาจจะกระทบต่อพื้นที่อุทยานแห่งชาติแห่งแื่น ๆที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันหรือไม่