จากกรณีพิพาทที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยอ้างว่าเกิดจากการใช้แผนที่คนละฉบับในการออกที่ดินส.ป.ก. และการจำแนกที่ดินของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นขั้นตอนหนึ่งที่นำไปสู่การจัดสรรที่ดินส.ป.ก. ทำให้คณะกรรมการพัฒนาที่ดินปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำแนกประเภทที่ดิน
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ครั้งที่ 1/2567 มีมติเห็นชอบการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำแนกประเภทที่ดินใหม่
หลักเกณฑ์การจำแนกประภทที่ดินใหม่ มีรายละเอียดดังนี้
พื้นที่ซึ่งจะต้องรักษาไว้เป็นป่าไม้ถาวร
พื้นที่นอกเขตตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กฎหมายว่าด้วยสวนป่า กฎหมายว่าด้วยป่าชุมชน และมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- พื้นที่ซึ่งมีสภาพเป็นป่าไม้
- พื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 หรือชั้นที่ 2
- พื้นที่ซึ่งดินไม่เหมาะสมในการทำเกษตรกรรม
- พื้นที่ซึ่งเป็นภูเขา หรือ พื้นที่ซึ่งมีความลาดชันเกิน 35% ที่เป็นผืนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ (0.5 เฮกตาร์) ซึ่งมีสภาพเป็นป่าไม้
พื้นที่ป่าไม้ถาวร ซึ่งสมควรจำแนกออกเป็นที่ทำกินหรือใช้ประโยชน์อื่น ๆ
- พื้นที่ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมและดินเหมาะสมแก่การเกษตรมีการถือครองหรือทำประโยชน์อื่นแล้ว
- พื้นที่สาธารณประโยชน์ที่พลเมืองใช้ร่วมกัน
- พื้นที่ซึ่งใช้ประโยชน์ของหน่วยราชการ
การจำแนกที่ดิน เป็นการสำรวจและพิจารณาแบ่งพื้นที่ป่าไม้ออกเป็น 2 ประเภท ตามหลักเกณฑ์การจำแนกประเภทที่ดิน คือ 1) พื้นที่รักษาไว้เป็นป่าไม้ถาวร เพื่อดำเนินการสงวนเป็นป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติ และ 2) พื้นที่ ที่จำแนกออกจากป่าไม้เพื่อเป็นที่จัดสรรเพื่อการเกษตรกรรม เพื่อเป็นที่ทำกินของราษฎร หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น
ทั้งนี้ เพื่อให้การจำแนกที่ดินเป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพื่อให้คณะอนุกรรมการพัฒนาที่ดินจังหวัด สามารถปฏิบัติหน้าที่กลั่นกรองการจำแนกประเภทที่ดินให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร คณะกรรมการพัฒนาที่ดินจึงเห็นชอบหลักเกณฑ์ใหม่
สำหรับประเด็นการจำแนกประเภทที่ดิน “ป่าที่จะดำเนินการหมายเลข 92” จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการพัฒนาที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำเรื่องกลับไปทบทวนให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจำแนกประเภทที่ดินที่มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ เพื่อให้มีความชัดเจนในการดำเนินงานและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยั่งยืน