หากใครที่ติดตามความขัดแย้งระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร(ส.ป.ก.) กับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในเรื่องการปักหมุดที่ดินส.ป.ก.4-01 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกโลกทางธรรมชาติของไทย ก็จะเห็นว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในกระบวนการออกที่ดินส.ป.ก. โดยมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นทั้งที่ประกาศไปแล้วและเตรียมแจกเพิ่มเติมประมาณ 2,933 ไร่ และคาดว่าจะมีมากกว่าพื้นที่ที่ตรวจพบ
จากข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมา ทั้งจากส.ป.ก.จังหวัดนครราชสีมาและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ จะเห็นว่ากระบวนการประกาศที่ดินส.ป.ก. 4-01 เริ่มตั้งแต่เดือนก.ค. 2566 ที่เริ่มมีเจ้าหน้าที่ส.ป.ก.เข้าไปปักหมุด และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ได้คัดค้าน โดยระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ดังนั้นไม่สามารถออกส.ป.ก.ได้ ทำให้การบุกรุกพื้นที่แรกไม่สามารถทำได้
แต่ต่อมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตรวจพบว่ามีการบุกรุกในพื้นที่ใหม่และได้ดำเนินการออกส.ป.ก.ไปแล้วกว่า 100 ไร่ รวมทั้งส่วนที่เตรียมการไว้ออกส.ป.ก.อีกประมาณ 2,800 ไร่ โดยความขัดแย้งระหว่าง 2 หน่วยงานปะทุขึ้นเมื่อมีการจับกุมผู้บุกรุกพื้นที่ 5 รายและเรื่องก็บานปลายเมื่อเกิดการโต้แย้งกันอย่างดุเดือดจากคณะกรรมการจังหวัดที่ตั้งขึ้น
ข้อถกเถียงเรื่องใครผิด-ใครถูก คงต้องรอคณะกรรมการสอบสวนว่าการออกเอกสารสิทธิ์ทำได้อย่างไร แต่ประเด็นที่น่าพิจารณา มาจากข้อมูลของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เจ้าของวลีเด็ด “ผมอยากมีเรื่อง” ที่ระบุว่าขณะนี้มีรายงานเร่งด่วนจากอุทยานทั่วประเทศ 43 แห่งถูกบุกรัก รวมพื้นที่ประมาณ 150,000 ไร่
แม้ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ดำเนินการตามกฎหมายในการบุกรุกอุทยาน และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกคำสั่งห้ามออกส.ป.ก.ในพื้นที่ทับซ้อนอุทยานแห่งชาติ รวมถึงสวนป่าและป่ากันชน และมีการลงนามร่วมกันให้การออกส.ป.ก.มีทุกฝ่ายเข้าเป็นกรรมการระดับจังหวัด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคำสั่งรัฐบาลในเรื่องการออกส.ป.ก.ในครั้งนี้ ดูเหมือนจะขัดแย้งกับนโยบายการแปลงพื้นที่ส.ป.ก.เป็นโฉนด 22 ล้านไร่ แต่ก็เชื่อว่านโยบายของรัฐบาลยังดำเนินต่อไป โดยเฉพาะผู้ที่ถือครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่การออกส.ป.ก.โดยทุจริตจากการใช้อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่เคยแก้ไขได้ในเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์
ประเด็นที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ หากต้องการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินอย่างเด็ดขาด (โดยอ้างความจำเป็นและเดือดร้อนที่ดินทำกิน) จะต้องแก้ไขข้อกฎหมายระหว่างหน่วยงานรัฐให้ชัดเจน ไม่ใช่ให้หน่วยงานรัฐถือกฎหมายคนละฉบับและมีการตีความต่าง ๆ กัน เพื่อให้การรักษาพื้นที่ป่าไม้ตามเป้าหมาย 40% หากเรายังต้องการให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เพราะการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินโดยการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด และเป็นเพียงเอ็มโอยู ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันอะไรที่จะปิดช่องทางการออกเอกสารสิทธิ์หรือการเบียดบังที่ดินของรัฐจาก “กระบวนการฟอกที่ดิน” ที่มีการกระทำเป็นกระบวนการ และเกิดขึ้นมานาน ซึ่งก็มักจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องทุกครั้งไป แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ร่วมมือด้วย
ดังนั้น กระบวนการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น ต้องเริ่มที่กระบวนการทางกฎหมายให้มีความชัดเจน ตั้งแต่เรื่องอำนาจหน้าที่ จนถึงเรื่องแผนที่รังวัด เพราะเมื่อมีปัญหาทุกครั้ง เจ้าหน้าที่รัฐมักจะอ้าง 2 ประเด็นนี้มาโต้แย้งกัน และในที่สุดเรื่องก็เงียบหาย แต่ปัญหาก็ยังอยู่ต่อไป รอปะทุขึ้นมาใหม่ และหากพยานหลักฐานชัดเจนจริง ๆ บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะโทษว่าเป็นเรื่อง “ส่วนบุคคล”
กรณีการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นับเป็นเรื่องสะเทือนใจอย่างมากสำหรับคนไทยทั่วไป ที่เห็นภาพช้างป่าลงมาหากินในพื้นที่บุกรุก แต่กระบวนการค้าที่ดินรัฐที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหา “ส่วนบุคคล” แต่เป็นปัญหาของระบบราชการเองในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับทุกหน่วยงานดังที่คนไทยพบเห็นแทบทุกวัน
เมื่อมีปัญหาหนักจริง ๆ วิธีการแก้ต่างของหน่วยงานราชการ คือ การอธิบายว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่อง “ส่วนบุคคล” แต่ระบบดีออยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ ต้นตอปัญหาก็มาจากการตีความอำนาจหน้าที่ทางกฎหมายที่เปิดช่องให้มีการใช้อำนาจอย่างผิด ๆ และนับวันโครงการการใช้อำนาจแบบนี้ก็ใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ จนแต่ละหน่วยงานสร้างอาณาจักรของตนเองขึ้นมา
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้อง “ขีดเส้น”อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะหาไม่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ที่มีพฤคิกรรมทุจริตรวมตัวกัน ขอบเขตการทุจริตก็จะขยายวงออกไป และส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนโยบายหลายรัฐบาลที่ประกาศต่อต้านการทุจริตและหน่วยงานรัฐชอบโฆษณา “No Gift Policy” ที่เป็น “ความว่างเปล่า” แต่คนไทยก็จะอยู่กันอย่างไร้ความหวังต่ออนาคตของประเทศ