ทั้งนี้ ไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง ทั้งสองพรรคมีแนวโน้มที่จะยังคงสานต่อนโยบายการกีดกันการค้ากับจีนแต่ในระดับที่ต่างกัน อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการขาดดุลทางการคลังตามนโยบายการใช้จ่ายทางการคลังและภาษีที่แตกต่างกันออกไป ท่ามกลางความท้าทายทางการคลังของสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ต้องเผชิญจากระดับหนี้สาธารณะ การขาดดุลทางการคลัง และการจ่ายดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สะท้อนภาพชะลอตัวลง ขณะที่การผ่านร่างกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการคลังยังขี้นอยู่กับเสียงข้างมากในสภาคองเกรส
ดร.ลลิตา เธียรประสิทธิ์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าผลการเลือกตั้งสามารถแบ่งได้ 3 กรณี ที่จะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ค่าเงิน รวมถึงสถานะทางการคลังของสหรัฐฯ ที่แตกต่างกัน ดังนี้
กรณี 1 พรรครีพับลิกันนำโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งและสามารถครองเสียงข้างมากทั้งสภาบนและสภาล่าง (Republican Sweep): มีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเผชิญกับ Stagflation ในระยะยาวจากมาตรการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้า มาตรการกีดกันแรงงานอพยพ และมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและครัวเรือน ที่คาดว่าจะส่งผลให้การขาดดุลการคลังเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ ค่าเงินดอลลาร์ฯ มีแนวโน้มแข็งค่าในระยะสั้น
กรณี 2 พรรคเดโมแครตนำโดย คามาลา แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้งและสามารถครองเสียงข้างมากทั้งสภาบนและสภาล่าง (Democratic Sweep): เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยความเสี่ยงเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในระดับที่จัดการได้ และการขาดดุลการคลังคาดว่าจะไม่สูงเท่ากรณี 1
กรณี 3 ไม่มีพรรคไหนครองเสียงข้างมากได้ทั้งสองสภา (Split Congress or Divided Government): ความเสี่ยง stagflation ยังมีอยู่ หากโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2025 ยังไม่แน่นอน เนื่องจากนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทางการคลังอาจต้องใช้เวลากว่าจะผ่านมติสภา
คาดการณ์ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ นโยบายของแต่ละพรรคมีความแตกต่างกันในหลายนโยบายที่สำคัญ ซึ่งทั้งนโยบายการค้าและนโยบายต่างประเทศ รวมทั้งท่าทีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ของโลก โดยทุกนโยบายของสหรัฐล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเมืองโลก
สรุปนโยบายสำคัญของพรรครีพับลิกันและเดโมแครต
อาเซียนได้ประโยชน์จากความขัดแย้งสหรัฐ-จีน
ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งไม่เพียงมีความเสี่ยงความขัดแย้งจพลุกลามมากขึ้น แต่ยังมีความขัดแย้งทางการค้า ซึ่งทั่วโลกเผชิญมาแล้วก่อนหน้านี้ในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน
อย่างไรก็ตามกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอชียแปซิฟิก ประเมินว่าประเทศในอาเซียนยังคงเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แม้จะยังคงมีความเสี่ยงจากการแตกแยกทางการค้าอยู่ เหมือนกับที่เกิดสงครามการค้าตั้งแต่ยุคทรัมป์สมัยแรก
ไอเอ็มเอฟ มองว่าอาเซียนได้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์มาอย่างยาวนาน ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งกับทั้งสหรัฐฯ และจีน แม้ความขัดแย้งจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ประเทศในอาเซียนสามารถปรับตัวได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา หลายประเทศในอาเซียนมีการส่งออกสินค้าที่ถูกตั้งกำแพงภาษีโดยจีนหรือสหรัฐฯ ขยายตัวเร็วกว่าสินค้าที่ไม่มีกำแพงภาษและประเทศสมาชิกอาเซียนยังส่งออกสินค้าที่ถูกกำหนดภาษีนำเข้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นไปยังประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีนและสหรัฐฯ
แต่สงครามกำแพงภาษีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ไม่ได้ทำให้การส่งออกของทุกประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้น แต่มีเฉพาะบางประเทศ เช่น เวียดนาม ยอดการส่งออกขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง แต่บางประเทศ เช่น ไทย กลับมียอดส่งออกที่ชะลอตัวหรือหยุดชะงัก เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์และสิงคโปร์