ปัจจุบันประชากรไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบแล้ว โดยมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตแนวโน้มผู้สูงอายุไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแตะ 17.5 ล้านคน หรือ 26.56% ของประชาชนทั้งประเทศ ในปี 2576 และแตะ 20.5 ล้านคน หรือ 32.12% ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2583
ในอนาคตไทยอาจมีความต้องการเครื่องมือแพทย์ที่มากขึ้น เพื่อดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุจำนวนมาก แต่ปัจจุบันไทยผลิตเครื่องมือแพทย์ได้น้อย และต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน เช่น เครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องเอกซเรย์ เครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ/สมอง ผลิตภัณฑ์ทางจักษุวิทยา กลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค เป็นต้น
อีกทั้งยังเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล เพราะเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจะมีราคาแพง ทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็กในชนบทเข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้ได้น้อย ดังนั้น หากไทยมีอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศ ก็จะสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ประหยัดงบประมาณรัฐ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาล ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ทั่วถึงและเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนการวิจัยและการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้ใช้เครื่องมือ จะเป็นสิ่งสำคัญช่วยผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคที่งานวิจัยไม่สามารถนำไปใช้งานได้จริง หรือไม่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้
นักวิจัยไม่รู้ความต้องการผู้ใช้งาน
ในเวทีนโยบายสาธารณะ Policy Forum “ยกระดับงานวิจัยสู่การผลิต: เปลี่ยนอนาคตเครื่องมือแพทย์ไทย” ภายใต้หลักสูตรการพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ด้านนโยบาย รุ่นที่ 2 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้มีการพูดคุยถึงอุปสรรคของการทำวิจัยเครื่องมือการแพทย์ของไทย ซึ่งพบว่ามีปัญหามาตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นทำวิจัย
ธีรวัฒน์ วิวัฒน์พาณิชย์ ผู้จัดการแผนงานวิจัยและนักวิจัย หน่วยประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อการผลิตนวัตกรรม (MIDAS), โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ระบุว่า สาเหตุที่นวัตกรรมเครื่องมือการแพทย์จากงานวิจัยส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกนำออกมาใช้จริง เพราะนักวิจัยไม่รู้ใครจะเป็นผู้นำไปใช้ต่อ และใช้อย่างไร เมื่อคิดค้นออกมาแล้ว แม้จะขึ้นทะเบียนขออนุญาตใช้งานได้ แต่ก็มีราคาแพงเกินไปจนไม่มีใครซื้อไหว
ขณะที่หน่วยงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของทางภาครัฐ ก็มีงบประมาณที่จำกัด การจะลงทุนซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ จึงต้องมีการประเมินถึงความคุ้มค่าว่าซื้อไหวหรือไม่ และมีความคุ้มค่าในการใช้งาน
แม้จะมีทีมวิจัยสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (UCBP) ช่วยแนะนำข้อมูลกับทางภาครัฐว่าควรจะใช้ลงทุนในนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์อย่างไร แต่ก็กลายเป็นดาบสองคม เพราะนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง ต่อให้มีประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างมาก แต่ภาครัฐกลับเอามาใช้ไม่ได้ เพราะประเมินแล้วไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน
นอกจากนี้ ผู้ให้แหล่งเงินทุนก็มีความสำคัญ เพราะตลอดงานวิจัยจะต้องใช้แหล่งเงินทุนจากหลายที่ ซึ่งมีภารกิจที่แตกต่างกัน และมักเกิดปัญหาในขั้นตอนการวิจัย
ผลงานวิจัยใช้จริงไม่ได้
ด้านฝั่งผู้ให้ทุนวิจัย จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้กล่าวถึงกรอบเป้าหมายของการให้ทุนวิจัยด้วยว่า สวรส. มีกรอบการสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และวัสดุทางการแพทย์ โดยมีเป้าหมาย คือ ต้องพัฒนาเครื่องมือแพทย์จนสามารถสร้างรายได้สนับสนุนให้เศรษฐกิจประเทศ ด้วยงบฯ ทุนวิจัยหลักสิบล้านบาท ระยะเวลาทำงาน 2 ปี สวรส. ได้มีการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องและปรับปรุงกรอบการวิจัยของผู้ที่ได้รับทุนดังกล่าว โดยให้นักวิจัยค่อย ๆ พัฒนางานไปทีละขั้นตอน และหวังว่างานที่ได้สามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ รวมถึงสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะช่วยยกระดับบริการสาธารณสุขไทยได้อย่างมั่นคง
สวรส. จะเน้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนเข้าถึง และใช้ระบบบริการสาธารสุขได้ ดังนั้น เทคโนโลยีจะเป็นนวัตกรรมแบบใหม่ หรือต่อยอดจากนวัตกรรมแบบเดิมก็ได้ เพื่อให้นำไปใช้แก้ปัญหาระบบสุขภาพของประเทศ
แต่ปัญหาแรกที่เจอ คือ งานวิจัยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการให้ทุนวิจัยได้ เนื่องจากงานวิจัยไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง หรือทดสอบจริงในพื้นที่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลงานวิจัยไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การตัดสินใจขาดข้อมูลจากผู้ใช้งานจริง และสุดท้ายนวัตกรรมไม่ตอบโจทย์คนใช้งาน
ปัญหาที่สองเมื่อบริษัทเอกชนได้นำผลงานวิจัยไปผลิตจริง กลับพบว่าไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน เพราะเทคโนโลยีขาดการพัฒนา และไม่มีนโยบายจากภาครัฐที่จะสนับสนุนธุรกิจ SME ซึ่งถือเป็นช่องว่างขนาดใหญ่
ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. แนะนำนักวิจัยว่า จะต้องวางจุดยืนนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยว่าจะนำไปใช้อย่างไร มีระบบรองรับหรือไม่ และใครจะผู้นำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบการวิจัยจะต้องเปลี่ยนความคิดและมุมมองให้ตรงกัน เพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่จะพัฒนา นอกจากนี้ ทีมพัฒนาต้องช่วยกันมองงานให้ทะลุปรุโปร่ง รวมถึงสำรวจความมุ่งมั่นของตนเองด้วยว่ามีความต้องการที่อยากจะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และนำไปสู่การแก้ปัญหาได้จริงตามที่ต้องการหรือไม่
ขาดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเป็นทีม
ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไทยมีแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 สาขาเครื่องมือแพทย์ โดยมียุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงกลยุทธ์ที่ 3 ส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีเป้าหมายให้พึ่งพาตนเอง โดยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และสุขภาพลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และการสร้างมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์
เฉลิมพล ปุณโณฑก ประธานบริษัท ซีที เอเซีย โรโบ ติกส์ จำกัด ระบุว่า ในฐานะที่เคยได้เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินั้น พบว่าไทยมีแต่แผนการดำเนินงาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนแบ่งออกหลายกลุ่ม แต่ยังขาดยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนเป็นทีมให้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทำให้แข่งขันในต่างประเทศได้ยาก โดยเฉพาะการยกระดับเครื่องมือแพทย์ ที่ยังไม่รู้ว่าไทยอยากชูจุดเด่นเรื่องอะไร
พร้อมเปรียบผู้ประกอบการเสมือนนักกีฬา ที่ต้องการความเป็นทีม ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้ทุน นักวิจัย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ได้
ถ้าไทยยังตอบไม่ได้ว่าจะเอาเหรียญทองอะไรในเครื่องมือแพทย์ ก็เหมือนฝูงเป็ด บ้างพยามบิน บ้างพยายามว่าย บ้างพยายามวิ่ง บ้างต้องให้ทุน นี่ก็จะว่าย นี่ก็จะวิ่ง ก็ให้ไปเท่า ๆ กัน เพราะจะให้เฉพาะบางคนก็ไม่ได้ แล้วกองทุนก็ให้มาแค่นี้ จะไปคว้าโอลิมปิก ให้มา 2 ปี มันจะเป็นไปได้ยังไง แปลว่าเราหลอกตัวเองกันทั้งชาติอยู่
ปัจจุบันไทยเหมือนอยู่ใน ภาวะในขนมครก อยู่ในแต่เบ้าของตนเอง ตั้งแต่เรียนจนจบออกมาทำงาน คนที่เรียนด้านไหนก็มักจะรู้แต่ด้านนั้น ไม่ได้สนใจในศาสตร์เรื่องอื่น นอกจากนี้ บางกระทรวงส่งเด็กไปศึกษาการสร้างนวัตกรรมในต่างประเทศ แต่เวลาทำจัดซื้อระบุในเงื่อนไข TOR ให้ซื้อของต่างประเทศเท่านั้น ไทยจะสู้ต่างประเทศได้อย่างไร
ดังนั้น ตนเสนอให้มีการพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ จับคู่ผู้ประกอบการกับนักวิจัยสร้างทีมขึ้นมา โดยมีโค้ชจากผู้ให้ทุนอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จากนั้นนำทุกทีมมาแข่งขันกัน เพื่อคัดเลือกว่านวัตกรรมของทีมไหนเหมาะสมที่จะให้ทุนไปทำวิจัย เพื่อให้เครื่องมือแพทย์ที่วิจัยออกมาสามารถใช้งานได้จริง และแข่งขันกับต่างประเทศได้
แนะประเมินความคุ้มค่าก่อนวิจัย
การประเมินความคุ้มค่าของนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ นักวิจัยจาก HITAP เสนอว่า ควรส่งเสริมให้นักวิจัยเริ่มคิดประเมินความคุ้มค่าตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อดูว่าหากผลงานผ่านการขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว จะเกิดความไม่คุ้มค่าหรือไม่ หากประเมินแล้วไม่คุ้มค่าก็สามารถปรับเปลี่ยนการพัฒนานวัตกรรมได้ทัน โดยไม่ต้องเสียเงินทุนจำนวนมาก
นอกจากนี้ ควรมีเครื่องมือเชื่อมโยงให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดสามารถมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันได้ ทั้งผู้วิจัย ผู้ให้ทุน ผู้ผลิต และผู้ควบคุมกฎหมาย เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับงานวิจัย
นักวิจัยส่วนมากคิดไม่ถึงในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณในระบบสาธารณสุข อันนี้คือประสบการส่วนตัว ตอนอยู่ในแล็บผมไม่เคยคิดเลยว่า งานที่ทำอยู่ใครจะเอาไปใช้ จนสุดท้ายคุยกันในแล็บว่าจะใช้ยังไง เริ่มคิดแล้วว่าจะเป็นสตาร์ทอัพไหม จะขยายออกมายังไง อยากแรกเลยไม่ได้แพงเกิน แค่ทำงานสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ทุนยังไม่พอเลย แล้วจะไปให้ระดับโรงพยาบาล ระดับหมอเขามาใช้ ไม่มีใครใช้
ปัจจุบันภาครัฐมีสวัสดิการทางสังคมดูแลสุขภาพคนไทยครอบคลุมประชากรกว่า 99 % ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น ลูกค้ารายใหญ่ในตลาดเครื่องมือการแพทย์ คือ ภาครัฐ ซึ่งจะต้องหาวิธีให้ภาครัฐสามารถซื้อสินค้าทางการแพทย์ของคนไทยให้ได้ โดยจะต้องดูผลกระทบด้านราคา ประสิทธิภาพในการรักษา และผลกระทบทางสังคมในเรื่องจริยธรรมต่าง ๆ รวมถึงต่อมาจะต้องหาทางเข้าตลาด ตลอดจนการเสนอขายให้กับภาครัฐ สุดท้ายงานนอกจากจะต้องมีคุณภาพเชิงวิชาการแล้ว จะต้องมีความเป็นไปได้ที่จะนำใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย
นอกจากนี้ควรจัดลำดับความสำคัญของนวัตกรรม เพื่อดูว่ามีนวัตกรรมอะไรที่กำลังเป็นที่นิยมในระบบสุขภาพ และระบบสุขภาพต้องการอะไร ผู้กำหนดนโยบายต้องการอะไร รวมไปถึงภาระโรคของผู้ป่วย และภาระค่าใช้จ่าย เพื่อดูว่านวัตกรรมแบบใดที่นักวิจัยควรพัฒนา หรือต่อยอดจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ตรงกับความต้องการของสาธารณสุข สุดท้ายประเมินนวัตกรรมตัวใหม่ ที่บ่งบอกได้ว่ามีความคุมค่าจริง
ตัวอย่างการจัดลำดับความสำคัญจากมุมมองสาธารณสุขของประเทศไทย เทียบเลยว่าภาระโรค จำนวนปีที่ผู้ป่วยในประเทศจะต้องอยู่ในสภาวะร่างกายไม่สบาย บวกจำนวนปีที่สูญเสียไป เนื่องจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการเป็นโรคต่าง ๆ เมื่อนำข้อมูลภาระโรคมาเทียบกับข้อมูลการลงทุนจากระบบหลักประกันสุขภาพ ก็คือข้อมูลการเบิกจ่ายของ สปสช. แล้วก็มาดูแต่ละกลุ่มโรค ว่ามีกลุ่มโรคไหนที่มีผลกระทบสูงในแง่ของงบประมาณที่ทางภาครัฐจะต้องมารองรับ มีผลกระทบสูงในแง่ของสาธารณสุข ประชานคนไทยสุขภาพไม่ดีเกิดอะไรขึ้น ก็เอาพวกนี้มาจัดลำดับความสำคัญ
ประโยชน์ของการจัดลำดับความสำคัญ จะช่วยเป็นข้อมูลให้ผู้ให้เงินทุนวิจัยใช้พิจารณาว่าควรจะสนับสนุนงานอะไรที่จะตอบโจทย์ต่อระบบสาธารณสุข และนักวิจัยก็จะทราบว่าควรพัฒนางานอย่างไรให้ตอบโจทย์บริการสาธารณสุข ยิ่งกว่านั้น ยังสามารถทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับผู้กำหนดนโยบายได้ว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายอะไรได้บ้าง
นอกจากนี้ในการวิจัยยังสามารถใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือจำลองสถานการณ์โดยใช้หลักคณิตศาสตร์ทำนายแนวโน้มโอกาสความสำเร็จของงาน หากมีโอกาสสำเร็จน้อยก็สามารถปรับเปลี่ยนการพัฒนาได้ทัน
เครื่องมือทั้งหมดเหล่านี้จะเป็นช่วยเชื่อมโยงความคิดของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ ว่าต้องการนวัตกรรมแบบไหน ตั้งแต่ระดับผู้กำหนดนโยบาย นักวิจัย ผู้ให้เงินทุน ผู้ผลิต ผู้ควบคุมกฎหมาย และผู้ป่วย เป็นต้น
ข้อเสนอรัฐหนุนเครื่องมือแพทย์ไทย
คณะทำงานสมุดปกขาวการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ด้วยนวัตกรรมได้ ได้มีข้อเสนอนโยบายสำคัญถึงภาครัฐในการช่วยยกระดับการพัฒนาเครื่องมือการแพทย์ของไทย ดังนี้
เสนอให้มีการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ และการสร้างความเชื่อมั่น โดยการกำหนดทิศทางและลำดับความสำคัญการวิจัยพัฒนาสาขาเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้เกิดการส่งต่อผลิตภัณฑ์ในแต่ละระยะการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้ทุนวิจัยที่เชื่อมโยงผู้ผลิตกับความต้องการของตลาด และสร้างความเชื่อมั่นให้เครื่องมือแพทย์ไทย เพื่อให้ภาคการผลิตสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้อย่างแท้จริง และส่งเสริมให้เครื่องมือแพทย์ไทยเข้าสู่ตลาดได้
เสนอให้มีแพลตฟอร์มสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้ประกอบการ และนักวิจัยนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย โดยให้มีการรวบรวมทรัพยากรที่หลากหลาย มาแลกเปลี่ยนและใช้งานร่วมกัน เพื่อร่วมกันลดต้นทุน ลดความผิดพลาด เสริมศักยภาพให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ และเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย
หากมีการบริหารจัดการข้อมูลด้านเครื่องมือแพทย์ที่เป็นระบบ หน่วยงานรัฐจะสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ได้อย่างตรงจุด อีกทั้งสามารถออกนโยบายหรือมาตรการ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ เพิ่มการใช้งานนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ สร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ได้
เสนอให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เสนอสินค้าที่เป็นผลงานนวัตกรรมราคาสูงกว่าผู้เสนอราคารายอื่น ไม่เกินร้อยละ 5 ของราคาต่ำ
กรณีผู้เสนอสินค้าที่เป็นผลงานนวัตกรรม ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มีราคาสูงกว่า ผู้เสนอราคารายอื่น ไม่เกินร้อยละ 5 ของราคาต่ำสุด เป็นการให้แต้มต่อให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมไทย สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการพัฒนาและผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานสูง และมีศักยภาพในการเติบโตตลาดต่างประเทศได้ เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ของสินค้าในบัญชีนวัตกรรมทั้งในด้านราคาและคุณภาพมาตรฐาน
กรณีผู้เสนอราคา เสนอราคาสินค้าที่เป็นผลงานนวัตกรรม และผู้ประกอบการได้รับการขึ้นทะเบียน THAI SME-GP จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตามมาตรการการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น หน่วยงานภาครัฐที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างสามารถให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เสนอราคาเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุด ได้ไม่เกินร้อยละ 15
กรณีผู้เสนอราคา เสนอราคาสินค้าที่เป็นผลงานนวัตกรรม และเป็นสินค้าที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้การรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand : MIT) นั้น หน่วยงานภาครัฐที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างสามารถให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เสนอราคาเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดได้ไม่เกินร้อยละ 10
กรณีผู้เสนอราคา เสนอราคาสินค้าที่เป็นผลงานนวัตกรรม เป็นสินค้า MIT และผู้ประกอบการได้รับการขึ้นทะเบียน THAI SME-GP นั้น หน่วยงานภาครัฐที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างสามารถให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เสนอราคาเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุด ได้ไม่เกินร้อยละ 20
เสนอให้ภาครัฐอุดหนุนแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพเกี่ยวข้องกับข้อมูลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินงาน เสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบหลัก สนับสนุนแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพ ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่
- การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G, Cloud, Blockchain, Data Analytics และ AI
- การพัฒนาแพลตฟอร์มแบบ Dev SecOps : หน่วยวิจัยพัฒนาร่วมกับหน่วยงานบริหารด้านสุขภาพ
- การสร้างความยั่งยืนผ่านโมเดลทางธุรกิจความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน