Credit : WHO
นี่อาจบ่งชี้ว่า คนไทยกำลังตระหนักถึงการขยับเขยื้อนร่างกายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องไลฟ์สไตล์หรือการคำนึงถึงสุขภาพอย่างจริงจัง
แต่ปัจจัยเบื้องหลังหนึ่งที่สำคัญมาก มาจากการผลักดันโยบายชาติ ที่เรียกว่า “Physical Activity” หรือ “กิจกรรมทางกาย” ที่ไม่ได้เป็นเพียงการรณรงค์แบบปากเปล่าในประเทศเท่านั้น แต่เป็นมติสำคัญที่ไทยนำไปเสนอไกลถึงเวทีสมัชชาอนามัยโลก และได้รับการรับรองมติอย่างเป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกทั่วโลกมาแล้ว
ปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่ต่อยอดมตินี้มาใช้ แต่ Physical Activity ยังกลายเป็นกระแสที่อยู่ในความสนใจของหลายประเทศและเป็นแนวคิดสำคัญที่นำมาสู่การเกิดอิเวนต์อย่าง “Walk the talk” ที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly: WHA)
Policy Watch ชวนทำความเข้าใจ กับมติสำคัญอย่าง Physical Activity หรือ กิจกรรมทางกาย ที่มีความหมายมากไปกว่าการเต้นไก่แดนซ์ เพราะนี่คือนโยบายระดับชาติที่ได้รับการยอมรับแล้วในระดับโลก ไปกับ นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ
ทำไมต้อง Physical Activity ?
เมื่อก่อน เราอาจเห็นค่านิยมว่า หากต้องการมีสุขภาพที่ดี ต้อง “ออกกำลังกาย” และการออกกำลังกายคือการ “เล่นกีฬา” ซึ่งหลายครั้งถูกเจาะจงไว้สำหรับนักกีฬา ผู้มีรายได้ หรือผู้มีเวลาว่างเท่านั้นโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อความเป็นเลิศทางกีฬา (sport for excellent) ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่เรียกว่า “Physical Activity”
แต่ “Physical Activity” หรือ “กิจกรรมทางกาย” มีเป้าหมายการคิดในมุมกลับ นั่นคือ เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนบางกลุ่ม แต่ต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นสิทธิของทุกคน และไม่ได้ทำเพื่อมุ่งหวังเพื่อความเป็นเลิศ แต่เป็นกิจกรรมที่เกิดได้ทุกช่วงเวลาในชีวิตประจำวัน
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Physical Activity อาจยังเป็นคำที่ฟังดูเข้าใจยาก แต่หากกล่าวโดยง่าย มันคือ การขยับเขยื้อนร่างกายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการซักผ้า ถูบ้าน เดินไปขึ้นรถประจำทางตอนเช้า เดินไปสั่งข้าวเที่ยงที่โรงอาหารจากป้าร้านโปรด หรือการพักยืดเส้นสายระหว่างวันยามบ่าย กิจกรรมเหล่านี้ใช้เวลาไม่มาก ไม่ต้องการความเป็นเลิศหรือความชำนาญใด ๆ แต่หากต้องแฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน
แต่อย่าเพิ่งสบประมาทไป ว่าทำแค่นี้จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้อย่างไร เพราะกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ หากทำจนเป็นนิสัย จะช่วยลดการนำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-Communicable Diseases) ได้ โดยงานวิจัยชี้ว่า การนั่งดูทีวีเฉย ๆ บนโซฟา หรือการนั่งไถจอมือถือไปเรื่อย ๆ เป็นต้นเหตุให้เกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Behavior) ที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพพอ ๆ กับการสูบบุหรี่ทีเดียว
Physical Activity: เส้นทางมติไทยในเวทีโลก
ที่ผ่านมา ไทยมีส่วนในการพยายามผลักดันประเด็นทางสุขภาพในเวทีโลกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการรณรงค์เรื่องสุขภาพกายอย่าง เช่น Healthy Meeting รวมถึง Physical Activity
แต่กว่าเส้นทางการขับเคลื่อนมติ Physical Activity จะไปสู่เวทีโลกและกลายเป็นแผนชาติได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ผ่านการพิสูจน์ความสำเร็จและความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง
การเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2559 สสส. จับมือกับกระทรวงสาธารณสุข
และกทม. ร่วมกับ สมาคมนานาชาติเพื่อการมีกิจกรรมทางกายและสุขภาพ (The International Society for Physical Activity and Health – ISPAH) จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016) ที่ประเทศไทย
การประชุมในครั้งนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นหยิบยกเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพมาพูดคุยในงานประชุมครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียนแล้ว
ยังเป็นเวทีที่สร้างโอกาสให้ประเทศไทยนำเสนอเรื่องราวของ “กิจกรรมทางกาย” ในรูปแบบนโยบายและกิจกรรมต่อนานาชาติด้วย
หลังเสร็จสิ้นการประชุม เกิดเป็นคำมั่นสัญญาสำคัญอย่าง “ปฏิญญากรุงเทพมหานคร ด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นปฏิญญาฉบับแรกของโลกที่ว่าด้วยหลักวิธีและการปฏิบัติเพื่อให้คนในประเทศมีกิจกรรมทางกาย ที่กลายเป็นคู่มือเล่มสำคัญของโลก
และความสำเร็จในครั้งนี้เป็นเหมือนสปริงบอร์ด ที่เป็นแรงส่งให้ประเทศไทยได้ผลักดันวาระ “Promoting Physical Activity in Southeast Asia Region” ในที่ประชุม RC สมัยที่ 69 และได้การรับรองมติจากที่ประชุมในปีเดียวกัน
ในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยได้นำเสนอวาระ “Revitalizing Physical Activity for Health” เพื่อพิจารณาในที่ประชุม EB สมัยที่ 140 โดยที่ประชุมมีข้อตัดสินใจให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำร่าง “Global Action Plan on Physical Activity”
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2561 ทีมไทยได้เข้าร่วมปฏิบัติงานในองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อร่วมจัดทำร่าง “Global Action Plan on Physical Activity 2018-2030” และได้รับการรับรองมติจากที่ประชุม EB สมัยที่ 142(10) และ WHA สมัยที่ 71(11) ด้วย
“สมัยก่อน หากเราถามคนว่าทำไมคนไม่ออกกำลังกาย อาจเพราะคนยังไม่มีความรู้ แต่ตอนนี้โลกไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว ทุกคนรู้หมดว่าการออกกำลังกายเป็นเรื่องดี แต่ความรู้อย่างเดียวไม่พอแล้ว มันต้องมีนโยบายรัฐ มีระบบที่เหมาะสม และมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เขาด้วย”
“พอไทยเสนอเรื่องนี้ไป เราได้รับเสียงตอบรับจากประเทศสมาชิกดีมาก ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพราะนี่เป็นประเด็นที่ทุกคนเห็นด้วยร่วมกันโดยไม่มีข้อโต้แย้งเลย” นพ.ไพโรจน์เล่า
สำหรับ “Global Action Plan on Physical Activity 2018–2030: more active people for a healthier world (GAPPA)” ดังกล่าว เป็นเหมือนคู่มือสำคัญที่รวบรวมข้อมูล งานวิจัย และประสบการณ์ในการทำงานด้าน Physical Activity ซึ่งประเทศไทยมีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูล
โดยภายใต้ความหนากว่า 104 หน้าของคู่มือดังกล่าว มีสาระสำคัญที่ระบุไว้ คือ หากประเทศต้องการส่งเสริมให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกาย จำเป็นต้องสร้าง 4 ปัจจัย ได้แก่
- Active Societies
- Active Environments
- Active People
- Active Systems
หลังรับรองมติ คนไทยมีกิจกรรมทางกายสูงขึ้นอย่างชัดเจน
“เมื่อก่อนเราคนเป็นโรค NCDs จะอยู่ในวัย 50-60 ปี แต่ตอนนี้เจอในคนวัย 30 ปีเท่านั้น เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป เด็ก ๆ ในยุคก่อนจะมีพฤติกรรมเล่นนอกบ้าน มีกิจกรรมทางกายที่แอคทีฟตลอดเวลา แต่เด็กยุคนี้โตมากับเทคโนโลยี ติดหน้าจอ และยังต้องเรียนหนังสือเยอะมาก ทำให้นั่งติดที่และมีกิจกรรมทางกายน้อยมาก
สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการเรียนรู้และสุขภาพอย่างชัดเจน”
นพ.ไพโรจน์ย้ำว่า กลุ่มเด็กวัยเรียนกำลังตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า ตอนนี้เด็กทั่วโลกมีกิจกรรมทางกายน้อยมากเพียงแค่ 26% เท่านั้น ปัญหาระดับโลกนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่ทำไมทุกประเทศทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญและนำมติ physical Activity ไปปรับใช้ในประเทศรวมทั้งไทยด้วย
“หลังจากเกิดมตินี้ หลายประเทศนำไปปรับใช้ตามบริบทรวมทั้งประเทศไทย นำโดยประทรวงสาธารณสุข เราเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมขึ้น เพราะมียุทธศาสตร์และตัวชี้วัดรองรับ”
“ผลที่เกิดขึ้นคือ คนไทยก็มีกิจกรรมทางกายสูงขึ้นทุกปี (1-2% ต่อปี) จากปี พ.ศ. 2555 ที่คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพียงแค่ 56% เท่านั้น จนตอนนี้สูงขึ้นเป็น 74.6% ซึ่งใกล้เป้าหมายที่เราตั้งไว้แล้วคือ 75% ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นผลสำเร็จที่ชัดเจน”
ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ อธิบายเพิ่มเติมว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา มีการรณรงค์อยู่บ้านต้านโควิด ทำให้คนมีกิจกรรมทางกายลดลงอย่างชัดเจนเหลือเพียงแค่ 55% เท่านั้น แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย เรากลับได้เห็นการพัฒนาพื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นหลายที่ และการมีนโยบาย Pocket Park หรือสวนขนาดย่อมในชุมชนก็เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี
จาก Physical Activity ถึง Walk the Talk: เมื่อมติถูกใช้อย่างเป็นรูปธรรม
Physical Activity ได้รับการยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมมาก หลายประเทศนำไปปรับใช้ รวมถึงที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกเองด้วยจนเป็น “Walk the Talk” กิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีก่อนการเริ่มงานประชุม มีผู้คนให้ความสนใจล้นหลามจนจัดติดต่อกันมาแล้วถึง 5 ครั้ง
Credit: WHO
Walk the Talk จะมีรูปแบบคล้ายงานเดิน-วิ่ง ในบ้านเราแต่มีกิจกรรมที่หลากหลายรวมอยู่ในนั้น ทั้งการเต้นรำ เล่นบาสเก็ตบอล หรือเล่นเกมทดสอบกิจกรรมทางกาย บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน คึกคักจากเหล่าประเทศสมาชิกทั่วโลก รวมถึงคนทั่วไปในท้องถิ่น บ้างก็มาในรูปแบบชมรมกีฬา และบ้างก็พากันมาทั้งครอบครัว เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์ประจำปีของเมืองเจนีวาก็ไม่เกินเลยนัก
ในขณะที่อีกหนึ่งประเทศสมาชิกอย่าง “จาไมกา” ก็นำมติ Physical Activity ไปปรับใช้เพื่อรณรงค์ให้ลดอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในประเทศเช่นกัน
สตีเฟ่น เดวิดสัน (Stephen Davidson) ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุขและความเป็นอยู่ที่ดีในประเทศจาไมกา
สตีเฟ่น เดวิดสัน (Stephen Davidson) ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุขและความเป็นอยู่ที่ดีในประเทศจาไมกา เล่าว่าประเทศจาไมกามีแคมเพน “Jamica Move” เป็นการทำกิจกรรมทางกาย ส่งเสริมความรู้เรื่องอาหาร และการดูแลร่ายกายที่เหมาะสมเพื่อแก้วิกฤต NCDs ในประเทศ
“คุณไม่จำเป็นต้องไปเข้ายิมก็ได้ คุณจะเต้นก็ได้ วิ่งก็ได้ มันสนุก ผ่อนคลาย ถ้าร่ายกายคุณแข็งแรง สุขภาพจิตคุณก็จะแข็งแรงด้วย เราพยายามสนับสนุนให้คนในประเทศขยับร่างกายตลอดเวลา เพราะมันทำให้คุณอายุยืนได้” เดวิดสัน เล่า
Credit: WHO
เร่งผลิตงานวิจัย ผลักดันนโยบายพร้อมภาคประชาชน
หากชวนมองไปข้างหน้า ถึงเส้นทางของมตินี้ในประเทศไทย แม้จะได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีแต่ยังคงมีข้อจำกัดอยู่บ้าง โดยเฉพาะในด้านงานศึกษาวิจัยและการสื่อสาร ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้ง ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (Thailand Physical Activity Knowledge Development Centre : TPAK)
“แม้เราจะมีงานวิจัยเรื่องกีฬาอยู่บ้าง แต่งานวิจัยเรื่องกิจกรรมทางกายยังคงมีจำกัด ต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์การอนามัยโลกเพื่อเอาข้อมูลวิชาการมาปรับใช้ในไทย ซึ่งตอนนี้เราร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อทำฐานข้อมูล พัฒนาศักยภาพนักวิจัย และรวบรวมเครือข่ายด้วย”
ในด้านการพัฒนานโยบาย นพ.ไพโรจน์ บอกว่า หลังจากนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนที่จะช่วยผลักดัน เพราะหลายเรื่องที่รัฐไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่สำเร็จได้ด้วยแรงจากประชาชน ดังเช่นตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดคือ การเกิดกระแสวิ่งทั่วประเทศตอนนี้
“เมื่อสิบปีก่อน เราแทบไม่เห็นคนออกมางานวิ่ง แต่วันนี้กระแสวิ่งบูมมาก เราเห็นคนวิ่งกันทั่วประเทศ นี่คือตัวอย่างของการทำงานร่วมกันอย่างลงตัวของภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเองโดยที่ภาครัฐแทบไม่ต้องทำอะไรเลย”
การที่ประเทศไทยพามติ “Physical Activity” ไปนำเสนอในระดับโลกและได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการได้สำเร็จนั้น นอกจากจะเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศที่ระดับสากลเชื่อมั่นแล้ว ยังเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ไทยและประเทศสมาชิกได้ทำงานร่วมกันภายใต้กติกาใหม่ในบริบทของตัวเอง
“การนำมติของประเทศไปเสนอในระดับเวทีนานาชาติ นอกจากจะบ่งชี้ถึงวิสัยทัศน์และความก้าวหน้าของประเทศไทยแล้ว ยังช่วยยกระดับการทำงานด้านสาธารณสุขไทยไปพร้อม ๆ กับระดับสากล และนี่คือโอกาสสำคัญในการพัฒนาประเทศ” นพ.ไพโรจน์ย้ำ
ซึ่งสุดท้ายแล้ว มตินี้ส่งผลดีกลับมาสู่ประเทศไทยเองที่ทำให้เกิดการผลักดันเรื่องการมีกิจกรรมทางกายที่เข้มข้นมากขึ้นในประเทศ และกลายเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมให้คนไทยขยับเขยื้อนร่างกายจนเป็นนิสัย ได้มีสุขภาพที่ดีตั้งแต่ต้นทาง และลดการพึ่งพาโรงพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยอีกต่อไป