หากย้อนดูที่มาที่ไปของนโยบายการควบคุมกัญชาจะพบว่า ช่วงปี 2562 เปิดกระแสเรียกร้องให้ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด หลังปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ตรวจยึดต้นกัญชา และแจ้งจับ เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เมื่อเดือนเมษายน ปี 2562
สังคมรู้จัก “อาจารย์เดชา” ในนามนักเคลื่อนไหวด้านเกษตรกรรมยั่งยืน และผู้บุกเบิกเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งเริ่มสนใจศึกษาศาสตร์ของกัญชาในฐานะตัวยารักษาโรคอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2556 หลังแม่และคนในครอบครัวเสียชีวิตด้วยมะเร็งตับ เขาผลิตน้ำมันกัญชาเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ป่วยที่ดูแลแบบประคับประคอง แบบใต้ดินมานานหลายปี จนกระทั่งเกิดกระแส #saveเดชา
การเลือกตั้งครั้งใหญ่เมื่อปี 2562 พรรคภูมิใจไทยเสนอนโยบายปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด อนุญาตให้ปลูกกัญชาได้บ้านละ 6 ต้น พร้อมสัญญาประชาคม ที่จะทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่แก้ทั้งความเจ็บป่วย และความยากจนไปพร้อมกัน
หลังการเลือกตั้งพรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคร่วมรัฐบาล อนุทิน ชาญวีรกูล ขอโควต้า กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขับเคลื่อนนโยบายกัญชาโดยเฉพาะ โดยในระหว่างที่กัญชายังเป็นยาเสพติด มีช่วงการนิรโทษกรรม 90 วัน ที่เปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองกัญชาทางการแพทย์ยื่นจดแจ้งโดยไม่ต้องรับโทษ
- อ่าน นับถอยหลังดึงกัญชา กลับเข้าบัญชียาเสพติด
- อ่าน มองรอบด้าน ‘กัญชา’ กลับเป็นยาเสพติด
- อ่าน นโยบายยาเสพติดแนวใหม่
เริ่มผลักดันพ.ร.บ.กัญชา กัญชง
นับแต่ปี 2564 เรื่อยมา มีความพยายามในการร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ในวาระแรกกฎหมายฉบับนี้ได้รับเสียงข้างมากจากทางพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน แต่มาสะดุดลงในวาระที่สองเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเองก็เห็นต่าง ทำให้เกิดกรณีสภาล่มหลายครั้ง จนร่างกฎหมายยังคงค้างอยู่ในสภาฯ
ในช่วงเวลาที่ กฎหมายควบคุมกัญชายังไม่ผ่านสภา อนุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เซ็นอนุมัติประกาศกระทรวง ให้กัญชาออกจากบัญชียาเสพติดโดยมีผลเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565
หลังจากนั้นเกิดภาวะสุญญากาศกัญชา ร้านค้ารายย่อย หรือ แคนนาบิส ช็อป ขายช่อดอกเพื่อนันทนาการอย่างเปิดเผย ไม่ถูกจับกุม อาหาร-เครื่องดื่มผสมกัญชาขายอย่างไร้การควบคุม จนสังคมเริ่มตั้งคำถามว่า นี่เป็นการปลดล็อกกัญชา ตรงตามเจตนารมณ์เดิม เพื่อการแพทย์หรือไม่
สถิติของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุงานวิจัย เยาวชนสูบกัญชาเพิ่ม 10 เท่า หลังปลดล็อคกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ 2 ฉบับห้ามสูบในที่สาธารณะและห้ามจำหน่ายช่อดอกแก่เยาวชน แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการผุดขึ้นของร้านแคนนาบิสช็อป รวมทั้งยังพบการนำเข้ากัญชาจากประเทศเพื่อนอย่างผิดกฎหมาย
เครือข่ายอาจารย์แพทย์หลายคนเริ่มส่งเสียงเตือนภาวะสุญญากาศกัญชา ที่น่าห่วงที่สุดคือส่งผลกระทบต่อเยาวชน และมีข้อสังเกตว่าผู้ป่วยจากการใช้กัญชาทั้งจากการสูบ การกิน สูงขึ้น 3 เท่า ที่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล นี่กลายเป็นดาบที่ย้อนกลับมาทิ่มแทง นโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทย ที่ได้รับเสียงตอบรับดีในช่วงแรก
กระแสตีกลับ ไม่เลือกพรรคชูนโยบายกัญชาเสรี
ก่อนเลือกตั้งปี 2566 ไม่กี่เดือน ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เปิดแคมเพนรณรงค์ให้คนไม่เลือกพรรคที่มีนโยบายกัญชาเสรี ในขณะที่จุดยืนของหลายพรรคสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ กระทั่งบันทึกข้อตกลง (MOU) การจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล ปรากฏข้อที่ 16 ต้องการดึงกัญชากลับไปขึ้นบัญชียาเสพติด โดยให้มีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา ทำให้สถานะของกัญชากลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมอีกครั้ง
จากที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคเพื่อไทยมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ในยุคของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังไม่มีแนวคิดที่จะนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด แต่มีความคืบหน้าในการผลักผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง ฉบับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งห้ามใช้เชิงนันทนาการ
หลังการปรับครม. มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็น สมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งประกาศชัดเจนว่าจะดึงกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด พร้อม ๆ กับ การแก้กฎกระทรวงยาบ้า 5 เม็ดเหลือ 1 เม็ด เพื่อลดกระแสสังคมที่ต่อต้านทั้งยาบ้าและกัญชา มีการรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 จากเครือข่ายแพทย์-นักวิชาการหลายครั้ง มีการนำเสนอข้อมูลเชิงผลกระทบจากการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
จนนำมาสู่การตัดสินใจ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำกัญชากลับไปเป็นพืชยาเสพติดแบบอ่อน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำกัญชาเข้าสู่บัญชียาเสพติดอย่างเป็นทางการในต้นปี 2568
ทางเลือกในการใช้กฎหมายควบคุมกัญชา
หากพิจารณาจากข้อเสนอข้อเรียกร้องที่ปรากฏในปัจจุบันพบว่ามีการเรียกร้องให้ใช้นโยบายควบคุมดูแลกัญชา เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ซึ่งมีจุดยืนคัดค้านกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เข้าพบกับ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่ต่ำกว่าสองครั้ง เพื่อยืนยันให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติควบคุมกัญชาที่ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วในสมัย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ในการควบคุมมากกว่าที่จะกลับไปใช้กฎหมายยาเสพติดอีกครั้ง
ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้เคยผลักดันนโยบายกัญชา บอกว่า เครื่องมือที่จะทำให้การควบคุมมีประสิทธิภาพสูงสุด ก็คือการออก พ.ร.บ.กัญชากัญชง ที่เคยพยายามผลักดัน หากรัฐบาลจะผลักดันอีกครั้งในรอบนี้ก็คงจะผ่านแต่หากกลับเป็นยาเสพติด ผู้ประกอบการที่เริ่มลงทุนเปิดตลาดไปแล้ว และชาวบ้านที่ใช้รักษาตัวตามภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่ก็จะได้รับผลกระทบ
แต่อย่างไรก็ตาม สมศักดิ์ ยืนยันว่าตามหน้าที่ ย้ำว่ากัญชาเป็นยาเสพติดไม่กระทบการแพทย์ โดยที่ต้องเอาไปเป็นยาเสพติดเพราะกระบวนการจัดทำ พ.ร.บ.กัญชาฯ ยังต้องใช้เวลา เพราะประมวลกฎหมายยาเสพติด ต้องทำกฎหมายอื่นให้เสร็จ ภายใน 2 ปี แต่ขณะนี้เลยมาแล้ว ต้องขอสภาฯ ต่อเวลาอีก 2 ปี ซึ่งจะครบในเดือน พ.ย.นี้
ในนามกระทรวงสาธารณสุข ต้องทำไม่ให้เกิดความวุ่นวายเสียหายซึ่งเร็วสุดคือ การประกาศกฎกระทรวง เป็นแนวทางยาเสพติด แบบอ่อน ๆ และเขียนใช้ทางการแพทย์ โดยไม่ได้ตัดสิทธิประชาชน เมื่อขั้นตอนทำ พ.ร.บ.กัญชาฯ จบ ประกาศกระทรวงก็ตกไป
“ถ้าท่านทำ พ.ร.บ. กัญชาฯ หากผ่านสภาฯ พ.ร.บ.มีศักดิ์ใหญ่กว่าประกาศกระทรวงก็ตกไป แต่ท่านจะมาบังคับไม่ให้ผมออกประกาศกระทรวงไม่ได้ และผมก็ไม่สามารถห้ามท่านไม่ให้เดินหน้า พ.ร.บ.กัญชาฯไม่ได้” นายสมศักดิ์ กล่าว
การควบคุมกัญชาภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดและพระราชบัญญัติกัญชามีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านโครงสร้างกฎหมายและการบังคับใช้ ดังนี้
ประมวลกฎหมายยาเสพติด
- ประเภทของยาเสพติด: กัญชาถูกจัดอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท 5 ซึ่งห้ามการครอบครอง ใช้ และจำหน่าย ยกเว้นการใช้ในทางการแพทย์และการวิจัยที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
- การบังคับใช้กฎหมาย: การครอบครองหรือใช้กัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงโทษจำคุกและปรับ
- การปลูกและผลิต: การปลูกและผลิตกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์และการวิจัยต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานรัฐและอยู่ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวด
พระราชบัญญัติกัญชากัญชง
- ประเภทของสาร: กัญชาถูกปลดล็อกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ทำให้การครอบครอง ใช้ และจำหน่ายสามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกัญชา
- การควบคุมการใช้: การใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การวิจัย และการใช้ในครัวเรือนเป็นไปได้อย่างเสรีมากขึ้น แต่ยังคงมีการกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดเพื่อป้องกันการใช้ที่ไม่เหมาะสม
- การปลูกและผลิต: การปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด ในกรณีของการปลูกเพื่อการค้า ต้องได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามข้อกำหนดที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกัญชาฯ
ความแตกต่างระหว่างประมวลกฎหมายยาเสพติด กับ พ.ร.บ.กัญชา
โครงสร้างกฎหมาย: ประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นกฎหมายที่ควบคุมสารเสพติดทั้งหมดในภาพรวม ขณะที่พระราชบัญญัติกัญชาเป็นกฎหมายเฉพาะที่ควบคุมการใช้กัญชาและกัญชงโดยเฉพาะ
ระดับการควบคุม: ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด การใช้และครอบครองกัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายยกเว้นในกรณีที่ได้รับอนุญาต ขณะที่ภายใต้พระราชบัญญัติกัญชา การใช้และครอบครองกัญชาถูกผ่อนคลายมากขึ้น แต่ยังคงมีข้อกำหนดเพื่อป้องกันการใช้ในทางที่ผิด
การบังคับใช้: การบังคับใช้ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดมีโทษที่เข้มงวดและเน้นการควบคุมที่เข้มงวด ขณะที่พระราชบัญญัติกัญชาเน้นการควบคุมที่ยืดหยุ่นและส่งเสริมการใช้กัญชาในทางที่เป็นประโยชน์
สรุปคือ ภายใต้พระราชบัญญัติกัญชา การใช้และครอบครองกัญชาถูกผ่อนคลายมากขึ้น และมีการควบคุมที่เฉพาะเจาะจงกว่าเมื่อเทียบกับการควบคุมภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด