สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. ….ระหว่างวันที่ 11 มิ.ย.-25 มิ.ย. โดยเป็นการนำ “กัญชา” กลับมาอยู่ในบัญชียาเสพติดอีกครั้ง
ทั้งนี้ การนำ “กัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติดในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว ตามนโยบายกัญชาเสรี โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขในช่วงนั้น ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567
แต่ในช่วงต้นของรัฐบาลเพื่อไทย ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีการเตรียมเสนอร่างกฎหมายเฉพาะ เพื่อกำกับดูแลการใช้กัญชา โดยห้ามเพื่อนันทนาการ แต่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายสมศักดิ์ ประกาศว่าจะมีการดึง “กัญชา” กลับมาอยู่ในบัญชียาเสพติดอีกครั้ง โดยอ้างว่ามีการร้องเรียนว่าประชาชนได้รับผลกระทบจากนโยบายเสรีกัญชา
ต่อมา มีการนำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. ….และเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียผ่านช่องทางออนไลน์ บนเว็บไซต์ “LAW ระบบกลางทางกฎหมาย” ซึ่งมีผู้แสดงความเห็นมากเป็นประวัติการถึง 111,201 ครั้ง
นายสมศักดิ์ระบุว่าจาการรับฟังความเห็น มีผู้เห็นด้วย 76.54% ไม่เห็นด้วย 23.25% และไม่แสดงความเห็น 0.22%
หลังจากสรุปผลการรับฟังความเห็น จะมีการนำร่างประกาศดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 5 ก.ค. 2567
จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการป้อวกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในเดือนก.ค.นี้ และหาไม่มีการปรับแก้ไข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะลงนามประกาศและประกาศในราชการกิจจานุเบกษา
เหตุผลและความจำเป็นต้องควบคุม
การอออกประกาศระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉบับใหม่มาแทนฉบับเดิม ต้องการควบคุม “กัญชา” โดยระบุว่าปัจจุบัน พืชกัญชา ไม่ถูกควบคุมเป็น ยส.5 ประกอบกับมีข้อมูลว่า ประชาชนมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม จึงเห็นควรให้มีการควบคุมการปลูกนำเข้า ส่งออก หรือเสพกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัย หรือประโยชน์อื่น ที่มิใช่เพื่อการนันทนาการ จึงเป็นการสมควรระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแลยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นไปด้วยความรัดกุมรอบคอบ เพื่อนำไปใช้ในทางที่เหมาะสม
ดังนั้น สมควรระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแลยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นไปด้วยความรัดกุมรอบคอบ เพื่อนำไปใช้ในทางที่เหมาะสม
ร่างประกาศระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ. 2564 และมาตรา 29 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. ….”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2565
ข้อ 4 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
(1) กัญชา (cannabis) พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
(ก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
(ข) ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
(ค) สารสกัดที่มีสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำนัก
(ง) เมล็ดกัญชา
(2) กัญชง (hemp) พืชซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabis sativa L.) และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชง ยกเว้นวัตถุ หรือสารดังต่อไปนี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
(ก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
(ข) ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
(ค) สารสกัดที่มีสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
(ง) เมล็ดกัญชง
(3) พืชฝิ่น พืชซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Papaver somniferum L.และPapaver bracteatum Lindl. หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝิ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น
(4) เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis (Earle) Singer หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin
ข้อ 5 กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ 4 ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์นั้น ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
โทษยาเสพติดประเภทที่ 5
ผลิต/นำเข้า/ส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท หากกระทำเพื่อจำหน่าย (มีปริมาณตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป สันนิษฐานว่าเพื่อจำหน่าย) มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 1,500,000 บาท
จำหน่าย/มีไว้เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต (หากครอบครองตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไปให้สันนิษฐานว่าเพื่อจำหน่าย)
หากปริมาณไม่ถึง 10 กิโลกรัม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้ง
จำทั้งปรับ
หากมีปริมาณตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-1,500,000 บาท
วิธีแบ่งประเภทยาเสพติดให้โทษ
ประเภทที่ 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน (Heroin) แอมเฟตามีน (Amphetamine, Methamphetamine) ยาอี (Ecstasy) หรือยาเลิฟ ยาไอซ์ (Ice)
ประเภทที่ 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น ใบโคคา (Coca) โคเคนหรือโคคาอีน (Cocaine) มอร์ฟีน
(Morphine) ฝิ่นยา (Medicinal Opium) เป็นฝิ่นที่ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งเพื่อใช้ในทางยา หรือ ฝิ่น (Opium)
ไม่ว่าจะเป็น ฝิ่นดิบ ฝิ่นสุก มูลฝิ่น
ประเภทที่ 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นต้นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ผสมอยู่ด้วย คือ ยารักษาโรคที่มียาเสพติดประเภทที่2 เป็นส่วนประกอบอยู่ในสูตรยา เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ท้องเสีย
ประเภทที่ 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 หรือ ประเภทที่ 2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์(Acetic Anhydride) อาเซติลคลอไรด์(Acetyl Chloride)
ประเภทที่ 5 ยาเสพติดให้โทษที่ไม่เข้าอยู่ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น เห็ด ขี้ควาย