“ครอบครัว” เป็นหน่วยพื้นฐานของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ๆ ของสังคม แต่ไม่นานมานี้ เริ่มเกิดปรากฏการณ์ “แซนด์วิช เจเนอเรชั่น (Sandwich Generation)” ซึ่งไม่เพียงแต่ในสังคมไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
“แซนด์วิช เจเนอเรชั่น” คือใคร?
“แซนด์วิช เจเนอเรชั่น (Sandwich Generation)” โดยทั่วไปมักใช้เรียกคนที่อยู่ตรงกลางที่ต้องรับผิดชอบดูแลทั้งพ่อแม่สูงอายุและลูกของตนเอง ทั้งทางการเงิน ร่างกาย และทรัพยากรด้านอื่น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากประชากรสูงวัยทั่วโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่วัยแรงงานมีจำนวนลดลงหรือเท่าเดิม ทำให้ประชากรของหลายประเทศตกเป็นคนกลุ่ม Sandwich Generation
จากผลการศึกษากลุ่ม Sandwich Generation ในสหรัฐอเมริกาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan)39 พบว่า มีประชากรเกือบ 1 ใน 4 ของประเทศที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ประชากรกลุ่มนี้มีแนวโน้มมีปัญหาทางการเงินเพิ่มเป็นสองเท่าของประชากรทั่วไป รวมถึงมีแนวโน้มเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าคนที่ดูแลแค่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่านั้น
สำหรับประเทศไทย การศึกษาถึงคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการสำรวจในระดับพื้นที่และไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง แต่จากบริบทสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวในฐานะสถาบันหลักที่ทำหน้าดูแลคุ้มครองสมาชิกในครัวเรือนหรือมีค่านิยมการพึ่งพาอาศัยกัน และมีการดูแลระหว่างรุ่นที่หลากหลาย ทำให้ไทยอาจมีกลุ่ม Sandwich Generation เป็นจำนวนมาก
เมื่อพิจารณาตามนิยามของครัวเรือน ซึ่งมี 3 ลักษณะใหญ่ คือ 1) ครัวเรือนอยู่คนเดียว 2) ครัวเรือนเดี่ยวหรือครัวเรือนที่ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 2 รุ่น และ 3) ครัวเรือนขยาย หรือที่มีสมาชิก 3 รุ่นขึ้นไป อาจกล่าวได้ว่าครัวเรือน Sandwich มีความใกล้เคียงกับครัวเรือนขยาย หรือมีการอยู่อาศัยในครัวเรือนเดียวกันตั้งแต่ 3 รุ่นขึ้นไป
4 ลักษณะเด่นของ “แซนด์วิช เจเนอเรชั่น”ในสังคมไทย
จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบลักษณะที่น่าสนใจของครัวเรือนดังกล่าว ดังนี้
1. ครัวเรือนไทยที่มีลักษณะเป็น Sandwich มีจำนวนทั้งสิ้น 3.4 ล้านครัวเรือน ในปี 2566 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.0 ของครัวเรือนทั้งหมด
แต่ครัวเรือนลักษณะนี้มีสัดส่วนลดลง โดยในปี 2560 มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 18.2 ของครัวเรือนทั้งประเทศ และเมื่อพิจารณาลักษณะของครัวเรือน พบว่า ครัวเรือน Sandwich ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือน 3 รุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 97.1
ขณะที่ครัวเรือน 4 รุ่น มีสัดส่วนร้อยละ 2.9 อีกทั้ง ส่วนใหญ่เป็นความสัมพันธ์ที่หัวหน้าครัวเรือนอาศัยอยู่กับลูกและหลาน โดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 75.4 ของครัวเรือน Sandwich ทั้งหมด รองลงมาเป็น ครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนต้องดูแลพ่อแม่และลูกของตนเอง หรือมีสัดส่วนร้อยละ 20.1 ทั้งนี้ ครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนอาศัยอยู่กับลูกและหลาน กว่าร้อยละ 63.3 มีหัวหน้าครัวเรือนเป็นผู้สูงอายุ
2. ครัวเรือน Sandwich แม้สมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นวัยแรงงาน แต่มีอัตราการพึ่งพิงสูง โดยในปี 2566 วัยแรงงานมีสัดส่วนร้อยละ 53.8 ขณะที่วัยสูงอายุมีสัดส่วนร้อยละ 21.8 และเด็กมีสัดส่วนร้อยละ 24.3
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาโครงสร้างตามช่วงวัยของครัวเรือน Sandwich พบว่า วัยสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่วัยแรงงานมีสัดส่วนลดลง ส่งผลให้อัตราการพึ่งพิงของครัวเรือนSandwich มีสัดส่วนสูง คือ วัยแรงงาน 100 คน ต้องดูแลเด็กและผู้สูงอายุรวม 86 คน ขณะที่ครัวเรือนประเภทอื่น (ครัวเรือนคนเดียวและครัวเรือนเดี่ยว)วัยแรงงาน 100 คน ต้องดูแลเด็กและผู้สูงอายุรวมเพียง59 คนเท่านั้น
เมื่อพิจารณาหัวหน้าครัวเรือนของครัวเรือน Sandwich ยังพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยร้อยละ 48.6 เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เหลือเป็นวัยแรงงาน แบ่งเป็นอายุ 45 – 59 ปีที่ร้อยละ 37.3 และอายุ 35 – 44 ปี ที่ร้อยละ 10.2 โดยคนที่เป็น Sandwich Generation มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 58.6 ปี
นอกจากนี้ ครัวเรือน Sandwich บางส่วนอาจต้องสูญเสียกำลังแรงงานเพื่อดูแลวัยอื่น โดยสมาชิกในครัวเรือน Sandwich ที่เป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ในชีวิตประจำวันโดยปราศจากคนช่วยเหลือและไม่สามารถเดินทางไปนอกพื้นที่อื่นด้วยตัวเอง มีสัดส่วนถึงร้อยละ 15.2 และ 24.5 ของจำนวนเด็กหรือผู้สูงอายุทั้งหมดในครัวเรือน Sandwich ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าภาพรวมของประเทศที่อยู่ที่ร้อยละ 9.9 และ 17.2 ของกลุ่มเด็กหรือผู้สูงอายุทั้งประเทศ ตามลำดับ
3. สมาชิกในครัวเรือน Sandwich ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ โดยร้อยละ 47.2 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเป็นแรงงานทั่วไป (คนท าความสะอาด รับจ้างทั่วไป) ขณะที่หัวหน้าครัวเรือนร้อยละ 31.9 ท างานส่วนตัว รองลงมาเป็น พนักงานเอกชน และผู้ช่วยธุรกิจในครัวเรือน ที่ร้อยละ 15.9 และ 11.7 ตามลำดับ ทำให้ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ขาดหลักประกันรายได้ที่มั่นคงในยามเกษียณ
ขณะเดียวกัน ครัวเรือน Sandwich ยังเป็นกลุ่มที่มีทรัพย์สินทางการเงินเพื่อการออมน้อย โดยร้อยละ 41.8 ของครัวเรือน Sandwich มีเงินออมมูลค่าน้อยกว่า 20,000 บาทต่อครัวเรือน ทำให้เมื่อสูงวัยจะต้องพึ่งพาสวัสดิการจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ
4. ครัวเรือน Sandwich มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงกว่าคนกลุ่มอื่น โดยครัวเรือน Sandwich มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 31,452 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ขณะที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 39,414 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนหรือมีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.1 ของรายได้ ซึ่งสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับครัวเรือนลักษณะอื่น และค่าเฉลี่ยของประเทศ
การที่แรงงานในครัวเรือน Sandwich มีรายได้ไม่สูงนัก ส่วนหนึ่งเกิดจากส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาต่ำ โดยร้อยละ 57.7 ของสมาชิกในครัวเรือน Sandwich จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า และมีเพียงร้อยละ 12.7 ที่จบการศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไปจากสถานการณ์ข้างต้น
การเงินเปราะบาง สุขภาพย่ำแย่
แม้ว่าแนวโน้มครัวเรือน Sandwich จะลดลง แต่คนที่เป็น Sandwich Generationยัง มีภาระที่ต้องแบกรับ ดังนี้
1. ความเปราะบางทางการเงิน สะท้อนได้จากรายได้สุทธิต่อเดือน (รายได้หักค่าใช้จ่าย) ปี 2566 ที่พบว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.1 ของครัวเรือน Sandwich มีรายได้สุทธิคงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากอัตราการพึ่งพิงที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งแรงงานในครัวเรือนที่มีทักษะต่ำเป็นแรงงานนอกระบบ อีกทั้งยังต้องดูแลวัยสูงอายุที่มีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอีกด้วย
จากข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ครัวเรือน Sandwich ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.8 มีภาระหนี้สิน โดยภาระหนี้สินต่อรายได้ต่อเดือนของครัวเรือนมีสัดส่วนร้อยละ 16.6 สูงกว่าภาพรวมครัวเรือนทั้งประเทศที่อยู่ที่ร้อยละ 13.8 ชี้ให้เห็นถึงความไม่มั่นคงทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการเงินในระยะยาว รวมถึงการสะสมทรัพยากรและความมั่งคั่งอาจไม่สามารถทำได้อย่างที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่มีภาระการดูแล
2. ผลกระทบต่อสุขภาพ กลุ่มคน Sandwich Generation นอกจากจะมีปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตแล้ว ยังต้องเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง อาทิ ความดันโลหิตสูงเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง โรคตับแข็ง และโรค NCDs ต่าง ๆ ด้วย
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบการเป็นโรค NCDs จากข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2566 พบว่า คน Sandwich มีสัดส่วนการเป็นหรือเคยเป็นโรค NCDs (อาทิ โรคเบาหวาน ไทรอยด์ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไขมันในเส้นเลือด/คอเลสเตอรอลสูง และโรคมะเร็ง) ถึงร้อยละ 33.9 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของหัวหน้าครัวเรือนทั้งประเทศที่อยู่ที่ร้อยละ 23.0
ขณะที่การศึกษาของต่างประเทศ ซึ่งศึกษาผลกระทบต่อพฤติกรรมทางสุขภาพ การประเมินสุขภาพของตนเอง และความพึงพอใจในชีวิต ของผู้หญิงชาวรัสเซียที่ดูแลครัวเรือน Sandwich พบว่า ร้อยละ 7.0 มีโอกาสพบแพทย์ตามนัดน้อยลง รวมถึงมีโอกาสที่จะเป็นภาวะอ้วน ร้อยละ 6.2 ซึ่งสาเหตุเกิดจากการขาดเวลาในการดูแลตนเอง อาทิ ออกกำลังกาย ทำอาหาร เข้าพบแพทย์ตามนัด
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสุขภาพจิต จากการที่คน Sandwich Generation ต้องมีภาระการดูแลสมาชิกคนอื่น โดยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สหราชอาณาจักร ซึ่งเก็บข้อมูลระหว่างปี 2016 – 2017 พบว่า 1 ใน 4 ของคน Sandwich Generation ประสบปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และการมีความรู้สึกพอใจกับชีวิตน้อยลง มากกว่าคนทั่วไป (ร้อยละ 22.0) อีกทั้งปัญหาสุขภาพจิตจะรุนแรงขึ้นตามระยะเวลาที่ต้องดูแลสมาชิกคนอื่น
กรณีของไทย จากข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2566 พบปัญหาในลักษณะนี้เช่นกัน โดยวัยแรงงานในครัวเรือน Sandwich มีภาวะเครียด/นอนไม่หลับ ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับวัยแรงงานทั้งประเทศที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.6
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้คน Sandwich Generation มีปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการต้องจัดสรรเวลาในการทำงานและดูแลสมาชิกในครัวเรือนไปพร้อมกัน โดยการศึกษาในสหรัฐอเมริกา คน Sandwich Generation โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาในการดูแลเด็กและผู้สูงอายุประมาณ 28 และ 22 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามลำดับ
สำหรับกรณีของไทย หากใช้เวลาในการดูแลเด็กและผู้สูงอายุเท่ากัน เมื่อรวมกับชั่วโมงการทำงานของคน Sandwich Generation ที่ใช้เวลาประมาณ 42.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ดังนั้น คน Sandwich Generation จะต้องใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 13 ชั่วโมงต่อวันในการทำงาน รวมถึงดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้คนกลุ่มนี้เกิดความเครียด และเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง และ NCDs ได้
ที่มา: รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 1/2567, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)