ไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย หลังจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างรวดเร็วจนเหลือเพียง 4 แสนคนในปี 2564 สวนทางกับยุคปัจจุบันที่เริ่มมีผู้สูงอายุมากขึ้นตลอด และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 5 แสนคน ซึ่งไม่สมดุลกับอัตราการเกิดใหม่ที่ลดต่ำลง อีกทั้งมีคาดการณ์ว่าในอีก 60 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ. 2626 ไทยจะเหลือประชากรแค่ 33 ล้านคนเท่านั้น
คนไทยใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น เฉลี่ย 5.8%
ท่ามกลางประชากรผู้สูงอายุที่แนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจสุขภาพจึงเป็นหนึ่งในธุรกิจศักยภาพที่เติบโตต่อเนื่อง สะท้อนได้จากมูลค่าการใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยซึ่งเติบโตเฉลี่ยที่ 5.8% (CAGR) ในช่วงปี 2560-2566 และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.0% ในปี 2567 จากปัจจัยหนุน ได้แก่
- จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นตามโครงสร้างสังคมสูงอายุ ซึ่งไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุขั้นสุดยอด ในปี 2572 จึงอาจมีความต้องการดูแลรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นตามความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases) เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน
- สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและปัญหามลพิษ เช่น อากาศร้อนจัด หรือฝุ่น PM 2.5 รวมถึงความรุนแรงของโรคและโรคอุบัติใหม่ ทำให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลป้องกันสุขภาพมากขึ้น
สังคมสูงวัยช่วยหนุนร้านขายยาเติบโต
โดยร้านขายยา ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เติบโตต่อเนื่อง เพราะเป็นช่องทางการเข้าถึงทั้งยารักษาโรค เวชภัณฑ์ และสินค้าสุขภาพที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกใช้บริการสำหรับการเจ็บป่วยเบื้องต้นและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน
ในปี 2566 มีจำนวนร้านขายยา ที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวม 21,648 ราย ซึ่งจำนวนร้านขายยาในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือปัจจุบันมีสัดส่วนราว 62% ของจำนวนร้านขายยาทั้งหมด ขณะที่จำนวนร้านขายยาในจังหวัดที่เหลือทยอยลดลง หรือมีสัดส่วนที่ 38% ของจำนวนร้านขายยาทั้งหมด
สัญญาณดังกล่าวสะท้อนถึงการกระจุกตัวของธุรกิจในจังหวัดหลัก โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของร้านขายยาเชนสโตร์ที่มีหลายสาขา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งผู้ผลิตยา โรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการค้าปลีก รวมถึงร้านขายยารายย่อยที่ไม่มีสาขา ที่ยังขยายสาขาในทำเลที่มีศักยภาพ
คาดปี 67 ธุรกิจร้านขายยาในไทยแข่งขันรุนแรง
ปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายของร้านขายยา จะอยู่ที่ 43,000 ล้านบาท เติบโต 4.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ในหลายประเด็น ได้แก่
1. การรุกขยายสาขาของร้านเชนสโตร์ทำให้รายย่อยแข่งขันลำบาก ทั้งแฟรนไชส์รายใหญ่ ผู้ผลิตยาและโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางตรง รวมถึงธุรกิจค้าปลีกที่แตกไลน์ธุรกิจร้านขายยาและสินค้าสุขภาพเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะมีข้อได้เปรียบในเรื่องของทำเลที่ตั้งที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้สะดวก ส่งผลให้ร้านขายยารายย่อยบางส่วนแข่งขันรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองและพื้นที่ชุมชนซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพ สะท้อนได้จาก ยอดขายของร้านขายยาเชนสโตร์ในปี 2567 คาดว่าจะมีสัดส่วนราว 30% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีสัดส่วนมูลค่าราว 28% ขณะที่สัดส่วนยอดขายของร้านขายยารายย่อยน่าจะมีแนวโน้มลดลง
2. การแข่งขันเพื่อแย่งชิงเภสัชกร แม้ปัจจุบันจะมีจำนวนเภสัชกรที่ปฏิบัติหน้าที่ในร้านขายยาประมาณ 22,000 คน ซึ่งยังมีเพียงพอกับจำนวนร้านขายยา แต่ในระยะข้างหน้า หากผู้ประกอบการโดยเฉพาะเชนสโตร์ยังคงมีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้น อาจทำให้ท้ายที่สุด จำนวนเภสัชกรเพิ่มขึ้นไม่ทันกับจำนวนสาขาร้านขายยา ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการเชนสโตร์รายใหญ่เปิดรับสมัครเภสัชกรทั้งฟูลไทม์ พาร์ทไทม์ โดยแข่งกันเสนอทั้งเงินเดือน ค่าประสบการณ์ สวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้ร่วมเป็นเจ้าของร้านขายยาเพื่อดึงดูดให้เภสัชกรเข้ามาทำงาน
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ปิยะวดี จิระศิริสุวรรณ เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส, วรรณวิษา ศรีรัตนะ ผู้บริหารงานวิจัย
เคาะขึ้น “เบี้ยผู้สูงอายุ” จ่ายทุกคน 1,000 บาท/เดือน