สศช. ออกบทวิเคราะห์ “นโยบายสวัสดิการทางสังคมและนัยต่อการใช้จ่ายรัฐบาลในระยะปานกลาง” ในการแถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3/2566 ระบุว่าเมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดำเนินนโยบายสวัสดิการทางสังคมที่สำคัญ เพื่อดูแลกลุ่มคนตามช่วงอายุ กลุ่มรายได้ และกลุ่มเปราะบาง พบว่าในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2566 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 170,087.5 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.0 ของ GDP)
แบ่งเป็น การใช้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 84,364.4 ล้านบาท บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 49,700.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.4 และร้อยละ 29.1 ของการใช้จ่ายด้านสวัสดิการทางสังคมที่สำคัญ ในขณะที่เบี้ยยังชีพผู้พิการ 19,412.4 ล้านบาท และเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 16,609.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.4 และร้อยละ 9.7 ตามล าดับ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของรายจ่ายในแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง
หากพิจารณาแนวโน้มภาระค่าใช้จ่ายในระยะต่อไป โดยอาศัยข้อมูลโครงสร้างประชากรของไทยตามคาดประมาณการประชากรของ สศช. พบว่า ในระยะปานกลาง (ปี 2567 – 2570) ภาครัฐจะมีค่าใช้จ่ายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 32,063.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปีฐาน (ปี 2563 – 2566) ร้อยละ 38
ขณะที่ค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดปรับตัวลดลง โดยเฉลี่ยปีละ 1,227.9 ล้านบาท หรือลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปีฐานร้อยละ 7.4 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรของไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ส่งผลให้การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันทางการคลังจากภาระการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคด้านการคลังในระยะต่อไปจึงควรมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal consolidation) โดยเฉพาะการเร่งรัดเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาล เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคมสูงวัยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดูแลสวัสดิการด้านอื่น ๆ และความคุ้มครองทางสังคมแก่ประชากรกลุ่มต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและทั่วถึง