ความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หลังการดำเนินงานระยะที่ 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 ได้รับเสียงตอบรับดีจากประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการใกล้บ้าน
และเป็นครั้งแรกของการสร้างระบบนิเวศการให้บริการด้านสุขภาพที่มีหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือที่เรียกว่า “หน่วยบริการนวัตกรรมวิถีใหม่” เข้ามามีส่วนร่วม เช่น คลินิกทันตกรรม คลินิกเวชกรรม ร้านยา ฯลฯ ที่มาเข้าร่วมให้บริการเพิ่มขึ้นถึง 541 แห่ง เกินจากเป้าหมายที่วางไว้ที่ 478 แห่ง ซึ่งช่วยให้ประชาชนมีหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านมากขึ้น
ขณะที่ระบบการเบิกจ่าย เป็นอีกความท้าทายใหม่ของนโยบายรักษาทุกที่ ซึ่งมีการเชื่อมข้อมูลทุกระบบเพื่อการเบิกจ่ายในทุกหน่วยบริการ โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจสอบก่อนจ่ายให้หน่วยบริการ และการใช้ระบบการแสดงตนยืนยันสิทธิหลังสิ้นสุดบริการเหล่านี้ทำให้หน่วยบริการใน 4 จังหวัดนำร่องกว่า 70% ได้รับค่าบริการจาก สปสช. ภายใน 3 วัน ตามเป้าหมายที่วางไว้ และป้องกันการซ้ำซ้อนของข้อมูล โดยข้อมูลจากวันที่ 7 ม.ค. – 17 ก.พ. 2567 สปสช. จ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการแล้วถึง 71,556,068 บาท
เชื่อมโยงประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (PHR)
สำหรับการเดินหน้าต่อในระยะที่ 2 อีก 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา ซึ่งตั้งเป้าจะคิกออฟในเดือนมี.ค. 2567 นี้ ในส่วนของการเชื่อมโยงประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (PHR) โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน 8 จังหวัดรวม 96 แห่งดำเนินการครบถ้วนแล้ว แต่ละจังหวัดยังมีความก้าวหน้าอย่างมากในหลาย ๆ เรื่อง เช่น
- พังงา ประชาชนยืนยันตัวตนแล้ว 52%
- นครราชสีมา ประชาชนยืนยันตัวตน 95% ให้บริการการแพทย์ทางไกลสูงสุด 11,517 ครั้ง
- สระแก้ว ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลสูงสุด 29,594 ใบ
- หนองบัวลำภู ให้บริการนัดหมายออนไลน์สูงสุด 1,489 ครั้ง และจัดบริการส่งยาและเวชภัณฑ์ผ่าน Health Rider ครบทั้ง 6 โรงพยาบาล
เห็นได้ว่า 8 จังหวัดนำร่องในระยะที่สอง มีความพร้อมในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ยังต้องให้ประชาชนยืนยันตัวตน Health ID เพื่อให้เข้าการเข้าถึงการรักษาให้ครอบคลุมมากที่สุด และติดตามผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนการดำเนินงานใน 8 จังหวัดนำร่องต่อไป
เพิ่มหน่วยบริการนวัตกรรมวิถีใหม่อีก 451 แห่ง
ปัจจุบัน 8 จังหวัดนำร่องดังกล่าว มีจำนวนสถานบริการสาธารณสุขที่เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (PHR) แล้ว 857 แห่ง ผู้ป่วย 6.1 ล้านคน และมีชุดข้อมูล 85.1 ล้านชุดข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมา มีการส่งยาและเวชภัณฑ์ผ่าน Health Rider ใน 5 จังหวัด 17 โรงพยาบาล มีหน่วยบริการนวัตกรรมวิถีใหม่ได้สมัครเข้าร่วมให้บริการใน 8 จังหวัดแล้ว จำนวน 451 แห่ง ประกอบด้วย
- ร้านยา 281 แห่ง
- คลินิกการพยาบาล 86 แห่ง
- ทันตกรรม 50 แห่ง
- กายภาพบำบัด 12 แห่ง
- คลินิกเวชกรรม 8 แห่ง
- คลินิกเทคนิคการแพทย์ 5 แห่ง
- คลินิกแพทย์แผนไทย 4 แห่ง
เมื่อแยกข้อมูลรายจังหวัด พบว่าแต่ละจังหวัดมีหน่วยบริการนวัตกรรมวิถีใหม่รวมให้บริการเพิ่มเติม ดังนี้
- เพชรบูรณ์ 55 แห่ง
- นครสวรรค์ 73 แห่ง
- สิงห์บุรี 13 แห่ง
- สระแก้ว 35 แห่ง
- หนองบัวลำภู 35 แห่ง
- นครราชสีมา 205 แห่ง
- อำนาจเจริญ 19 แห่ง
- พังงา 16 แห่ง
อย่างไรก็ตามเพื่อเตรียมความพร้อม สปสช. ได้ลงพื้นที่ใน 8 จังหวัดที่จะขยายนโยบายเพิ่มเติมแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมและเชิญชวนผู้ประกอบการสถานพยาบาลภาคเอกชนเข้าร่วมบริการ โดยร่วมกับผู้แทนสภาวิชาชีพที่ร่วมให้บริการ เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา
ตั้งเป้ารักษาทุกที่ทั่วประเทศสิ้นปี 67 โจทย์ใหญ่อยู่ที่ กทม.
หลังนำร่องรักษาทุกที่ระยะแรก 4 จังหวัด ระยะสอง 8 จังหวัดรวมกันเป็น 12 จังหวัดในเดือนมี.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศชัดว่านโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ มีเป้าหมายจะขยายให้ทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2567 นี้ ขณะเดียวกันต้องจับตาปัญหาที่กลุ่มผู้ให้บริการ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกชุมชนอบอุ่น ออกมาเคลื่อนไหว หลังประสบปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษาจาก สปสช.
โดยเฉพาะในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จะกลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับนโยบายรักษาทุกที่ ซึ่งนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ก็ยอมรับว่า กทม. จะเป็นพื้นที่สุดท้ายของการดำเนินนโยบายนี้ ด้วยเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ประชากรหนาแน่นมากกว่าทุกจังหวัด อีกทั้งยังมีหน่วยบริการด้านสุขภาพต่างสังกัดอยู่ในที่เดียว นโยบายรักษาทุกที่จึงไม่ง่าย และมีความซับซ้อนที่ต้องเชื่อมโยงข้อมูลต่างสังกัด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาทุกที่
2 โจทย์ใหญ่ของนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่
โดย 2 โจทย์ใหญ่ของนโยบายรักษาทุกที่ คือ 1.การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ กับหน่วยบริการหลายสังกัด (PHR) และ 2.ปัญหารูปแบบการเบิกจ่ายเงินจาก สปสช. ซึ่งชมรมชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้ข้อมูลว่า สปสช.จัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลต่ำกว่าต้นทุน ตัวอย่างผู้ป่วยในโรงพยาบาล สังกัด สธ. มีต้นทุนเฉลี่ยคนละ 13,000 บาท แต่ สปสช. กำหนดค่าใช้จ่าย 8,350 บาท
จากปัญหาการจ่ายเงินของ สปสช. ทำให้โรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่บางราย ระบุว่าร่วมกับทางประกันสังคมยังดีกว่าบัตรทอง เพราะบอร์ดประกันสังคมเองให้ความสำคัญกับทุกทุกองค์ประกอบของระบบบริการ และต้องยอมรับว่าสิทธิประโยชน์ สปสช.ที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ภาระงาน และงบประมาณเพิ่มตาม
สุดท้ายแล้วนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะไปต่ออย่างไร หากยังไม่สามารถมีรูปแบบการจ่ายที่เป็นธรรมกับระหว่างผู้ซื้อบริการ (สปสช.) และผู้ให้บริการ (รพ./คลินิก) ซึ่งยังหาจุดลงตัวกันไม่ได้ ก็คงมีหน่วยบริการที่หนีหายไปจาก สปสช. เหลือไม่กี่ราย ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐไม่อาจหนีได้ ที่สำคัญทุกฝ่ายก็ไม่อยากเห็นปรากฎการณ์ที่โรงพยาบาลมองผู้ป่วยบัตรทองเป็นผู้ป่วยชั้น 2