ความสุขของประเทศไทยกำลังลดลง จากรายงาน World Happiness Report ปี 2023 ของสหประชาชาชาติ (UN) บ่งชี้ว่า ค่าเฉลี่ยความสุขของประชากรไทยอยู่ในลำดับที่ 60 ของโลก หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างค่าเฉลี่ยช่วงปี 2562-2564 กับช่วงปี 2563-2566 จะพบว่า จากที่เคยอยู่ที่ 5.891 ได้ลดลงมาอยู่ที่ 5.8431
บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอดูแลผู้ป่วย
โดยสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทย ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต 256,000 คน และในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษา 28,775 คน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ในแง่ของบุคลากรทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิตกลับมีไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันมีจิตแพทย์อยู่ประมาณ 845 คน คิดเป็น 1.28 คนต่อแสนประชากร นักจิตวิทยา (คลินิก) มีประมาณ 1,037 คน คิดเป็น 1.57 คนต่อแสนประชากร และพยาบาลจิตเวช 4,064 คน คิดเป็น 6.14 คนต่อแสนประชากรเท่านั้น
อัตราการป่วยไข้จนถึงขั้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เพิ่มขึ้น แต่ภายใต้ข้อจำกัดด้านบุคลากรทางการแพทย์กำลังทำให้ปัญหาดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้ คือ การคัดกรองสุขภาพจิต เพื่อดูแลอย่างเท่าทัน ป้องกันไม่ให้ต้องกลายเป็นผู้ป่วย ที่ถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ร่วมสนับสนุนงานวิจัย ซึ่งเป็นนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในรูปแบบของ แพลตฟอร์มสำหรับการสร้างเครื่องมือช่วยเหลือทางจิตใจ ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์โต้ตอบอัตโนมัติ (แชทบอท)
ปัญญาประดิษฐ์ ช่วยรักษาผู้ป่วยสุขภาพจิต
งานวิจัยนี้เป็นการสร้างแพลตฟอร์ม AI เพื่อการสร้างแชทบอทปัญญาประดิษฐ์ด้านสุขภาพจิตที่สามารถรับข้อมูล ทำการวิเคราะห์ ตอบโต้ผ่านระบบแชทบอทกับคนได้ โดยมีระบบจัดเก็บข้อมูล, ระบบประเมินผล และระบบโต้ตอบ เพื่อคุยบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตในเบื้องต้น ทั้งนี้จุดเด่น คือ ทำให้องค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลด้านสุขภาพจิตของประชาชน สามารถร่วมออกแบบข้อมูลและนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทการดำเนินงานของหน่วยงานได้อย่างสะดวก ประหยัดงบประมาณ
ปัจจุบันมีโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และโรงเรียน กว่า 40 หน่วยงาน ได้นำไปใช้งานจริงแล้ว โดยบุคลากรด้านสุขภาพจิตของแต่ละหน่วยงานสามารถพัฒนาแชทบอทบนแพลตฟอร์มนี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ทำให้ประยุกต์ใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อขยายขอบเขตการให้บริการได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
ขณะที่แชทบอท ดังกล่าว เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นสำหรับนักจิตวิทยาโดยเฉพาะ โดยสามารถออกแบบชุดบทสนทนาสุขภาพจิตที่ต้องการได้เอง ซึ่งจะตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการรักษาดูแล จากนั้น AI จะทำหน้าที่ประมวลชุดบทสนทนาเพื่อใช้โต้ตอบสนทนากับผู้ใช้ระบบ ทำให้นักจิตวิทยามีระบบแชทบอทที่ดูแลสุขภาพจิตได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
แพลตฟอร์มกลางนี้ สามารถช่วยลดต้นทุนให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการมีระบบแชทบอทเพื่อเก็บข้อมูล และประเมินสุขภาพจิต ซึ่งหากจ้างบริษัทเอกชนสร้างระบบฯ ให้ จะมีค่าใช้จ่ายหลายล้านบาท นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานง่าย บุคลากรด้านสุขภาพจิตไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมก็ใช้งานได้ เพราะเป็นแพลตฟอร์มกลางที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถรับข้อมูลในรูปแบบ Drag & Drop ซึ่งสามารถส่งชุดข้อมูลที่เป็นแนวหัวข้อของบทสนทนาแต่ละรูปแบบเข้าไป ระบบก็จะประมวลผลและนำไปเป็นข้อมูลในแชทบอทที่เตรียมสำหรับใช้งานได้ต่อไป
ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ นำแพลตฟอร์มกลางสำหรับการสร้างเครื่องมือบำบัดจิตวิทยาด้วยระบบ AI ไปใช้งานจริงแล้ว ซึ่งมีทั้งสถานพยาบาล สถาบันศึกษาทุกระดับ ขณะเดียวกัน ข้อมูลต่างๆ ก็มีการจัดเก็บอย่างถูกกฎหมายและมีความปลอดภัยที่ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตประเทศไทย เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลและส่งกลับไปในแต่ละพื้นที่ที่ต้องการ รวมถึงเป็นข้อมูลสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพจิตของประเทศด้วย
อย่างไรก็ตามปัญหาด้านสุขภาพจิตเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในระบบการดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งงานวิจัยจึงเข้าไปมีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงระบบ ทั้งในแง่ของการช่วยลดภาระบุคลากรด้านสุขภาพจิตที่ปัจจุบันยังไม่สามารถจัดการให้มีเพียงพอในระบบได้ และสนับสนุนให้นำนวัตกรรมงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการประมวลผลเพื่อนำมาวางแผนการดูแลสุขภาพจิตให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละหน่วยงานมากขึ้น