ThaiPBS Logo

ลาคลอด 180 วัน : ประโยชน์และความเป็นไปได้

15 เม.ย. 256813:14 น.
ลาคลอด 180 วัน : ประโยชน์และความเป็นไปได้
  • การลาคลอดขั้นต่ำ 180 วันเป็นไปตามหลักสากลขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดให้เด็กแรกเกิดควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
  • การมีขยายวันลาคลอดช่วยส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็กและส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศ
  • การแก้ไขกฎหมายเพื่อสิทธิแรงงานยังคงมีปัญหาในการสร้างความเป็นธรรมให้กับแรงงาน เพราะไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
การแก้ไขกฎหมายแรงงาน ขยายสิทธิลาคลอดเป็น 120 วันโดยได้รับค่าจ้าง จะได้รับการพิจารณาในสภาอีกครั้ง แม้ว่าภาคประชาสังคมและขบวนการแรงงานจะเรียกร้องวันลาคลอด 180 วัน เพราะให้ความสำคัญถึงสุขภาพแม่และเด็กเป็นสำคัญ

ขบวนการแรงงานและภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เป็นต้น ได้รวมตัวกันผลักดันการแก้ไขกฎหมายแรงงาน ขยายสิทธิให้แรงงานลาคลอดได้ 180 วัน และรับค่าจ้างเต็ม

วันลาคลอด 180 วันนั้นถือว่าเป็นการกำหนดเวลาขั้นต่ำเท่านั้น เพราะ 180 วันเป็นเพียงช่วงเวลาสำคัญของการให้นมบุตร แต่การลาคลอดต้องครอบคลุมถึงช่วงเวลาการดูแลสุขภาพของแรงงานผู้ตั้งครรภ์ ทั้งก่อนและหลังคลอดด้วย

แต่เมื่อเข้าสู่สภา มีการต่อรองปรับลดวันเหลือเพียง 120 วัน และเพิ่มสิทธิให้กับแรงงานบางประการ ในกรณีลูกที่เกิดมาเจ็บป่วยหรือพิการสามารถเพิ่มวันลาได้อีก 15 วัน และคู่สมรสก็สามารถลาเพื่อเลี้ยงดูลูกได้ 15 วัน

แม้จะไม่ได้วันลาคลอด 180 วัน อย่างที่คาดหวังไว้ แต่ก็ถือว่าเป็นพัฒนาการทางกฎหมายเพื่อสิทธิและสวัสดิการแรงงาน บนเส้นทางการต่อสู้ของพี่น้องแรงงานและประชาสังคมที่ยาวนานและเนิ่นนาน

ประวัติศาสตร์วันลาคลอด

พ.ศ. 2534 รัฐบาลแก้ไขระเบียบการลาคลอดของข้าราชการหญิงให้มีสิทธิลาคลอดได้ 90 วันจากเดิม 45 วันโดยรับเงินเดือนเต็ม แต่ไม่ครอบคลุมไปถึงลูกจ้างเอกชน  ที่ลาคลอดบุตรได้ 60 วัน แต่ได้รับค่าจ้าง 30 วันเท่านั้น กลายเป็นความไม่เท่าเทียมทางโอกาส และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของระหว่างผู้หญิง กลุ่มลูกจ้างเอกชนหญิงเห็นถึงการเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย

พ.ศ. 2535 สหภาพแรงงานและเครือข่ายเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องการขยายสิทธิลาคลอดเรื่อยมา เพราะก่อนหน้านั้นเมื่อแรงงานหญิงตั้งครรภ์ บางคนถูกไล่ออกจากงาน หรือบางคนรัดหน้าท้องซ่อน บางคนไม่ยอมไปพบแพทย์ เพราะการลาเท่ากับขาดรายได้ และถูกตัดเบี้ยขยัน หรือกลับเข้าไปทำงานหลังจากคลอดเพียง 15 วัน ทั้งๆที่ร่างกายยังไม่ฟื้นตัว และไม่ได้เปลี่ยนแผนกให้ทำงานเบาลง ส่งผลกระทบทั้งแม่และเด็ก

เพราะในทางการแพทย์นั้น ระยะเวลาฟื้นตัวหลังคลอด แม่ต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์สำหรับการคลอดธรรมชาติ และประมาณ 6-8 สัปดาห์ สำหรับคลอดแบบผ่าตัด อีกทั้งในช่วง 3 เดือนหลังคลอด แพทย์แนะนำไม่ให้แม่ใช้แรงงานหนัก และเป็นช่วงสำคัญที่แม่และเด็กจะมีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์โดยตรง

พ.ศ. 2536 สหภาพและเครือข่ายแรงงานหญิงมากกว่า 500 คน รวมตัวกดดันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยกระดับความเข้มข้นด้วยการชุมนุมประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล มีการอดข้าวประท้วงของแรงงานที่ตั้งครรภ์ และเพิ่มแรงกดดันด้วยการกรีดเลือดประท้วง

27 เม.ย. 2536 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แรงงานหญิงสามารถลาคลอดได้ 90 วัน โดยยังได้รับค่าแรงเต็มจำนวน คือได้รับค่าจ้างเต็ม 45 วันจากนายจ้าง และ 45 วันจากกองทุนประกันสังคม เครือข่ายจึงประกาศยุติการชุมนุมโดยประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในวันแรงงาน 1 พ.ค. ปีเดียวกัน

พ.ศ. 2554 มีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อกำหนดให้ลูกจ้างชายสามารถลางานได้ถึง 90 วันติดต่อกัน เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูกที่เพิ่งคลอด แต่ไม่สำเร็จ เพราะเมื่อรัฐบาลขอให้กระทรวงแรงงานแก้ไขกฎหมาย แต่กระทรวงออกประกาศกระทรวงแทน โดยขอความร่วมมือสถานประกอบการให้แรงงานชายสามารถขอลาหยุดงานได้ 15 วันติดต่อกัน ซึ่งประกาศกระทรวงระบุว่า ต้องเป็นภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายจ้างกำหนดวันลา

พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ได้แก้ไขให้แรงงานลาคลอดได้ ไม่เกิน 98 วัน และวันลาเพื่อคลอดบุตร ให้รวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ไม่เกิน 45 วัน และ 45 วันจากกองทุนประกันสังคม เท่ากับว่า 8 วันที่เพิ่มมาแรงงานไม่ได้ค่าจ้างใดๆ

พ.ศ. 2565 กฎหมายกำหนดให้ ผู้ชายสามารถลาไปช่วยเลี้ยงดูลูกได้ 15 วันเฉพาะภาคราชการเท่านั้น ส่วนภาคเอกชนยังไม่มีการบังคับใช้

ความสำคัญของ 180 วันลาคลอด

ที่มาของการขยายวันลาคลอดเป็น 180 วันนั้น มาจากหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่กำหนดให้บุตรควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด

ตามที่องค์การอนามัยโลก สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (AAP) และ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC)  ระบุว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากสำหรับทารก รวมถึงการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของทารก กระตุ้นการพัฒนาสมองในเชิงบวก และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพิ่มขึ้นยังเชื่อมโยงกับการติดเชื้อที่หูน้อยลง และลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนในเด็ก โรคระบบทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน และกลุ่มอาการเสียชีวิตกะทันหันของทารก

การเพิ่มเวลาการดูแลและการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองที่เพิ่มขึ้น ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทารกได้ ให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย ช่วยให้เด็กพัฒนานิสัยที่ดี ช่วยลดโอกาสที่คุณแม่จะมีอาการซึมเศร้าและความเครียด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของลูก

ผู้ปกครองที่มีสิทธิลาเลี้ยงลูกได้ระยะสั้นๆ มักจะต้องพึ่งพาการดูแลที่ไม่ใช่ผู้ปกครองสำหรับบุตรหลานของตนเมื่อกลับไปทำงาน แต่การดูแลที่ไม่ใช่ผู้ปกครองอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาพฤติกรรมของเด็ก ยิ่งเด็กใช้เวลาในศูนย์ดูแลเด็กตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมด้านลบมากขึ้น เด็กที่ได้รับการดูแลจากศูนย์เป็นเวลามากกว่า 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะได้รับผลกระทบทางพฤติกรรมเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ

ช่วงเวลาหลังคลอดนั้นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและเปราะบางอ่อนไหวอย่างยิ่งทั้งแม่และเด็กแรกเกิด คุณแม่ที่เพิ่งคลอดจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น อาการบาดเจ็บจากแผลผ่าตัด กว่าแผลจะสมานกลับเข้าสู่สภาวะปกติจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีอาการปวดเมื่อยตัว-ปวดหลังจากการอุ้มท้อง

ทางด้านจิตใจหลังคลอด คุณแม่ย่อมต้องมีความกังวล ในการปรับตัวให้เข้ากับบทบาทใหม่ ยิ่งมีลูกคนแรกยิ่งต้องปรับตัวมากขึ้น เช่นการให้นมลูก การดูแลทารกแรกเกิด การอดหลับอดนอนในตอนกลางคืน และอาจมีความเครียดสูง สืบเนื่องจากการนอนน้อยและเหนื่อยล้าจากการเลี้ยงลูก ซึ่งสภาวะความเครียดนี้อาจรุนแรงจนนำไปสู่สภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้

การเพิ่มเวลาว่างในระหว่างตั้งครรภ์ยังสามารถเพิ่มสุขภาวะที่ดีให้กับคุณแม่ได้ ซึ่งสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ย่ำแย่ของแม่มีความสัมพันธ์กับผลเสียต่อผลลัพธ์การคลอด เช่น น้ำหนักแรกเกิดและอายุครรภ์ การได้ลาคลอดเป็นระยะเวลานานจะทำให้แก้ปัญหาน้ำหนักทารกต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้ถึง  3.2 % และลดโอกาสการคลอดก่อนกำหนดลง 6.6 %

สิทธิการลาเลี้ยงลูกที่เพิ่มขึ้น สามารถลดค่ารักษาพยาบาลในระยะยาวได้ เนื่องจากทารกที่คลอดครบกำหนดมีผลด้านสุขภาพที่ดีกว่าทารกที่คลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ยังลดอัตราการเสียชีวิตของทารกลงได้อย่างมาก

ความสำคัญทางเศรษฐกิจ

การตั้งครรภ์และลาคลอดลูกนั้นมักถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้หญิงเอง ไม่ใช่เรื่องส่วนรวม ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับแรงงานชายและนายจ้างต้องเสียกำลังการผลิตและเพิ่มค่าใช้จ่าย แต่อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับการผลิตและส่วนรวม จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และช่วยเพิ่มประชากร กระตุ้นสถิติการเกิดและคุณภาพชีวิตของเด็กที่เพิ่งเกิดขึ้นมาได้

ปัจจุบันอัตราเด็กเกิดใหม่อยู่ในตัวเลขที่ต่ำมาก จากสถิติอัตราการเกิดของประชากรในประเทศไทยย้อนหลัง  พบจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

  • ปี 2560 มีเด็กเกิดใหม่ 702,755 คน
  • ปี 2561 มีเด็กเกิดใหม่ 666,109 คน
  • ปี 2562 มีเด็กเกิดใหม่ 618,193 คน
  • ปี 2563 มีเด็กเกิดใหม่ 587,368 คน
  • ปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่ 544,570 คน
  • ปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่ 502,107 คน
  • ปี 2566 มีเด็กเกิดใหม่ 517,934 คน
  • ปี 2567 มีเด็กเกิดใหม่ 461,421 คน

ในพ.ศ. 2563 วารสาร The Lancet ตีพิมพ์งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ที่คาดคะเนไว้ว่าอีกหลายปีข้างหน้า หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จะมีจำนวนประชากรเกิดใหม่ที่ลดลง และคาดการณ์ว่าภายในพ.ศ. 2643 เมืองไทยจะประชากรลดลงจาก 71 ล้านคน มาอยู่ที่ 35 ล้านคน ซึ่งเท่ากับว่าลดลงมาร้อยละ 51

อัตราการเกิดลดลง ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจที่จะทำให้มีแนวโน้มจะชะลอตัว ทำให้คนวัยทำงานลดน้อยลงจนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้อัตราการเติบโตของ GDP ลดลง และต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น แต่วิธีการนี้จะไม่สามารถทำได้ในสถานการณ์ที่ประชากรลดลงทุกประเทศ รวมถึงการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการใช้งานสำหรับคนจำนวนมากๆ จะสูญเปล่า

เด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่ จะเป็น หนึ่งในแรงงานที่เป็นกำลังสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในอนาคต จะไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตและพัฒนาการที่ดีได้ หากขาดซึ่งการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครองตั้งแต่แรกเกิด เด็กแรกเกิดได้เติบโตมาด้วยการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครองด้วยความใกล้ชิดตั้งแต่ในครรภ์จะส่งเสริมสุขภาพ ความแข็งแรง และพัฒนาการของเด็กที่จะเป็นแรงงานสำคัญทางเศรษฐกิจต่อไป เพราะพื้นฐานทางอารมณ์ของทารกมีความแตกต่าง เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมขณะที่อยู่ในครรภ์เป็นสำคัญ ที่ส่งผลให้ทารกแรกเกิดแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกัน คุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงแรกเกิดยังเป็นรากฐานที่สำคัญของคุณภาพชีวิตในทุกมิติ

ไม่เพียงแก้ที่มาตรา แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายแรงงานก็ต้องแก้ด้วย

แม้ “แรงงานสร้างชาติ” ทว่าโครงสร้างสิทธิและสวัสดิการแรงงานในชาติ ยังไม่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานทั้งหลาย เพราะที่ผ่านมา กฎหมายแรงงานสำคัญ เช่น กฎหมายเงินทดแทน กฎหมายประกันสังคม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ยังคงกำหนดสวัสดิการและสิทธิไม่มากไปกว่าระดับขั้นต่ำเท่านั้น ทำให้การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการมีอย่างจำกัด ไม่รอบด้าน และไม่มีเจตนารมณ์ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานอย่างจริงจัง เพียงแค่ประกันไม่ให้ตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ และยังมุ่งให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างและนายจ้างไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่สนใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันแต่แรกระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ไม่ได้คำนึงว่า แรงงานและลูกจ้างไม่ได้มีสถานะเทียบเท่านายจ้าง เป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองต่ำกว่า ตามโครงสร้างระบบทุนนิยม

กฎหมายคุ้มครองแรงงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องโอบอุ้มให้ความสำคัญแรงงานลูกจ้างมากกว่านายจ้าง ในเรื่องของสิทธิและสวัสดิการ กฎหมายแรงงานจึงต้องกำหนดหลักการหรือสิทธิประโยชน์ที่เน้นตัวลูกจ้างและแรงงานเป็นสำคัญ ความเป็นธรรมจึงจะเกิดขึ้น การคุ้มครองสิทธิแรงงานจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:

https://policywatch.thaipbs.or.th/article/life-48

https://theactive.thaipbs.or.th/read/maternity-leave-rights

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

อนามัยเจริญพันธุ์

นโยบายส่งเสริมการมีบุตรเป็นหนึ่งใน 13 นโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส ที่เตรียมผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ หวังเพิ่มอัตราการเกิดของเด็กที่มีคุณภาพ สร้างความเข้าใจการมีบุตรเมื่อพร้อม และสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม “มีลูก มีแต่ได้” สร้างคลินิกส่งเสริมการมีบุตร จังหวัดละ 1 แห่ง ภายในสิ้นปี 2566

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

ผู้เขียน: