วันที่ 21 ธ.ค. 2566 เครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันยื่นรายชื่อ 43,826 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่งสังคมสูงวัยเต็มตัว และมาตรการในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพได้ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (Welfare Watch Network) จึงได้เสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ เพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้ จ่ายเป็นรายเดือนอย่างสม่ำเสมอ และไม่น้อยกว่าระดับรายได้ตามเส้นแบ่งความยากจนที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) เพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอแก่การดำเนินชีวิตตามหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
หลักการสำคัญ 5 ข้อ
- เปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า
- เปลี่ยนแนวคิดของการสร้างหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุจากการสงเคราะห์เป็นการให้แบบถ้วนหน้าอย่างสมศักดิ์ศรี
- จ่ายบำนาญให้ทุกคน เมื่อมีอายุครบ 60 ปี โดยไม่มีเงื่อนไข
- เป็นรายได้แบบรายเดือนอย่างถ้วนหน้า ทั่วถึง และเป็นธรรม
- กำหนดอัตราการจ่าย อัตราเงินบำนาญต้องไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนตามเกณฑ์สภาพัฒน์ฯ กำหนดต้องจัดทําแผนบํานาญพื้นฐานแห่งชาติและพิจารณาเกณฑ์ทุก 3 ปี ในส่วนของภาคประชาชนเสนอ 3,000 บาทถ้วนหน้า
จัดการระบบในรูปแบบกองทุน
มี “คณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” ที่มีองค์ประกอบทั้งภาครัฐและผู้แทนองค์กรเอกชน เข้ามาช่วยมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายการจ่ายบํานาญพื้นฐานแห่งชาติที่เป็นธรรมและยั่งยืนสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม
กำหนดแหล่งที่มาของรายได้กองทุน ผ่านการจัดเก็บภาษี
จัดตั้ง “กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ
รายได้มาจาก 14 แหล่ง เช่น เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ ภาษีสรรพสามิต สลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนแบ่งค่าสัมปทานคลื่นความถี่ ค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยแร่ เงินบํารุงภาษีรถยนต์ ส่วนแบ่งกฎหมายว่าด้วยการพนัน ส่วนแบ่งรายได้ขุดเจาะน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีกำไรจากหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ภาษีมรดก ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (ภาษีลาภลอย) ภาษีเงินได้จากการยกเลิกบีโอไอ หรือสิทธิพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น
สาเหตุที่ต้องแก้พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ เดิม
เพราะการสงเคราะห์ ≠ สิทธิ์พื้นฐาน
กฎหมายเดิมยังมีหลักการแนวคิดการจ่ายเงินสนับสนุนผู้สูงอายุ เป็นลักษณะเบี้ยยังชีพที่ยังมีเบื้องหลังความเชื่อในลักษณะสงเคราะห์ที่ไม่ใช่สิทธิ์พื้นฐาน เพราะไม่ระบุจำนวนเงิน
กฎหมายเดิมไม่มีการระบุอัตราการจ่าย ส่งผลให้สามารถเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินในการจ่ายตามนโยบายรัฐบาลปัจจุบันมีการจ่าย “เบี้ยยังชีพ” ให้คนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 600 ,700, 800 และ 1,000 บาทตามอายุ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
เพราะไม่กำหนดเกณฑ์การจ่ายที่ชัดเจน
แม้ว่าปัจจุบันมีการจ่ายถ้วนหน้าให้ผู้สูงวัยทุกคน แต่เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดความชัดเจนว่าควรมีเกณฑ์การจ่ายอย่างไร แต่ละปีจึงขึ้นอยู่กับหน่วยงานรัฐว่าจะเสนอเปลี่ยนแปลงเกณฑ์หรือไม่ เช่น เปลี่ยนจากให้ถ้วนหน้าเป็นเลือกให้บางกลุ่มเท่านั้น เป็นต้น
ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ฉบับพรรคก้าวไกล
นอกจากนี้ ยังมี ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ที่ถูกเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล โดยถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่างการเงินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 134 ทำให้ไม่สามารถสามารถถูกบรรจุเข้าวาระการประชุมสภาฯ ได้ จนกว่าจะได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี
ที่มาข้อมูล
- Pension 4all
- เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (Welfare Watch Network)
- ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ฉบับประชาชน
- รายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)
- ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ฉบับพรรคก้าวไกล