ปรากฏการณ์คดีร้อนทางการเมืองที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพร้อมกันในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ทั้งคดีถอดถอน เศรษฐาพ้นนายกฯ คดียุบพรรคก้าวไกล รวมถึงคำร้อง 4 มาตรา ในกฎหมายเลือก สว. แม้จะยังไม่นำไปสู่จุดพลิกผันทางการเมือง แต่ก็พอทำให้เห็นความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับบทบาท หน้าที่ ของ สว.ชุดใหม่ ที่ต้องเข้าไปให้ความเห็นชอบบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาที่การเลือก สว.ชุดใหม่กำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกในระดับประเทศ
นอกจากกระบวนการเลือกที่ชวนให้สับสนแล้ว หนึ่งประเด็นสำคัญทางการเมืองคือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่ต้องใช้เสียง สว. ถึง 1 ใน 3 ก็นำมาซึ่งคำถามว่า สว.ชุดใหม่ 200 คน จะดำเนินการตามความคาดหวังของประชาชนได้แค่ไหน อย่างไร
ไทยพีบีเอส ร่วมกับสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า และ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดพื้นที่สนทนา ถกแถลงปมปัญหา แลกเปลี่ยน และรวบรวมความเห็นระหว่างภาคประชาสังคม นักวิชาการ และคนรุ่นใหม่จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ผ่าน วงเสวนา Policy Forum ครั้งที่ 13 : โค้งสุดท้ายเลือก สว.โอกาสเปลี่ยนประเทศ ? เพื่อสรุปเป็นข้อเสนอและส่งต่อความคาดหวังต่อการทำหน้าที่ของ สว.ชุดใหม่ที่กำลังจะเข้าไปทำหน้าที่ในสภา
Policy Forum ครั้งที่ 13 I โค้งสุดท้ายเลือกสว.
“สว. 2567” โดดเด่นอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีทีม-มีดวง
บทสนทนาของวงเสวนา เริ่มต้นด้วยการเปรียบเปรยกติกาการเลือก สว. แบบเลือกกันเอง ที่ออกแบบมาไม่ต่างจากการบังคับให้ตั้งทีมฟุตบอล คือผู้สมัครต้องมีพวก มีเครือข่าย เพื่อให้ได้รับเลือก
ระบบการเมืองครั้งนี้กำลังบอกว่า ถ้าคุณจะได้ตำแหน่งต้องตั้งทีมฟุตบอล ถ้าหัวเดียวกระเทียมลีบหมดสิทธิ์เลย ถึงจะแน่จริงแต่ไม่จัดตั้งอะไรเลย ก็ยากมาก
สมบูรณ์ คำแหง
ไม่เพียงแต่ สว.จะต้องเจอปัญหาโดนล็อกผลโหวต หรือแม้ว่าจะมีการจัดตั้งกันเข้ามา แต่ยังมีเรื่องของ “ดวง” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะมีทั้งการจับฉลากในกรณีคะแนนเท่ากัน และ “ระบบเลือกไขว้” ข้ามกลุ่มที่ไม่อาจการันตีคุณสมบัติของผู้สมัครจากแต่ละกลุ่มอาชีพได้จริง
สมบูรณ์ คำแห่ง ประธาน สมัชชา กป.อพช., ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธาน ครป. และ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม สามผู้สมัคร สว.ที่ผ่านระบบการคัดเลือกในรอบอำเภอและจังหวัดมาแล้ว ยังสะท้อนความเห็นถึงระบบการเลือกในทิศทางเดียวกันว่า “ยังมีปัญหา” เพราะผู้สมัครตัวเต็งที่เป็น “ตัวจริง” ในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ถูกคัดออกจำนวนมาก ชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่ากระบวนการเลือก สว.จะช่วยคัดสรรให้ได้คนที่มีคุณภาพจริงหรือไม่ โดยปัญหาหลัก ๆ ที่พบมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเด็นคือ
- การให้แนะนำตัว 5 บรรทัด น้อยเกินไป โดยเฉพาะเมื่อมีระบบการเลือกแบบไขว้ระหว่างสายอาชีพ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าแล้วผู้สมัครต่างกลุ่มจะรู้จักและมีข้อมูลเพียงพอต่อการพิจารณาเลือกได้อย่างไร
- โดนบล็อกโหวต จากผู้สมัครที่เข้ามาเป็นกลุ่ม หรือเครือข่าย
- ปิดกั้นคนบางกลุ่ม จากระบบ “เลือกกันเอง” ระหว่างผู้สมัครเท่านั้น และคนที่มีอายุไม่ถึง 40 ปี ไม่มีสิทธิสมัครเข้ามาเลือก
- บังคับให้มีทีม กลับไปเข้าทางกลุ่มการเมือง กติกาเลือก สว.นี้ต้องการแก้ปัญหาการถูกครอบงำจากนักการเมือง แต่ระบบเลือกกันเอง-เลือกไขว้ ทำให้คนไม่มีเครือข่ายหรือจัดตั้งจาก “กลุ่มการเมือง” ยากมากที่จะได้รับคะแนนโหวต
การเลือก สว. ใน 2 รอบที่ผ่านมา ทำให้ได้เห็นหน้าตาของผู้สมัครจำนวน 3,000 คน ที่กำลังจะเข้าสู่การคัดเลือกรอบสุดท้ายในระดับประเทศ ในวงเสวนาได้ร่วมนิยามบุคลิกออกมาเป็น 4 กลุ่มคือ
- จริต – คือผู้สมัครที่แนะนำคุณสมบัติตัวเองในแบบที่เก่ง และเบ่งเกินไปจนไม่ถูกเลือก
- อามิสสินจ้าง รางวัล – มีระบบการจัดตั้ง มีการฮั้ว แลกรับผลประโยชน์
- เครือข่ายอุปถัมภ์ – ผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเครือข่ายเดียวกัน
- อุดมการณ์ – กลุ่มคนที่เข้ามาด้วยอุดมการณ์ของตัวเอง และคนที่สมัครเพื่อโหวต
4 คำที่อธิบายถึง สว.ชุดนี้คือ จริต คนเก่งจำนวนมากตกรอบเพราะเบ่งเกินไปจนไม่ถูกเลือก อามิสสินจ้าง มีการจัดตั้ง มีการฮั้ว เครือข่าย มีพวกพ้อง และอุดมการณ์ คือคนที่เสียสละตัวเองเพื่อไปโหวต
ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้ คือมีใครได้ไปต่อบ้าง เพราะนี่จะเป็นตัวชี้วัดว่า ระบบ “เลือกกันเอง” มีประสิทธิภาพหรือไม่ และทิศทางการเมืองของประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป
ในร้ายยังมีดี “ความหลากหลาย” ทำให้ได้ สว.ชุดใหม่ดีกว่าเดิม
ในมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่าผลลัพธ์ที่กำลังเกิดขึ้น มาจากกติกาที่บิดเบี้ยว และเป็นการออกแบบมาเพื่อ “ตัดประชาชนออกจากห่วงโซ่ความรับผิดชอบ” และไม่ไว้ใจนักการเมือง กลัวว่าการคัดเลือกแบบเดิมจะทำให้ สว.ถูกครอบงำ แต่สุดท้ายระบบการเลือกครั้งนี้ก็ได้เครือข่ายนักการเมืองอยู่ดี
“ปัญหาหลักคือ สว.ชุดนี้เป็นตัวแทนของใคร แม้จะบอกว่าเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพ เพราะกลุ่มอาชีพเลือกมา แต่ต้องถูกเลือกไขว้จากกลุ่มอื่นอีก สิ่งนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของ สว. เมื่อเขาไม่ได้มาจากประชาชน เขาจะตอบโจทย์ ตอบสนองประชาชนไหม ? โจทย์ใหญ่ต่อจากนี้ต้องคิดกันว่า สว.ที่เรากำลังจะได้มา จะต้องมีบทบาทหน้าที่ต่อไปอย่างไร นั่นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” – ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
อย่างไรก็ตาม แม้กระบวนการได้มาซึ่ง สว.จะบิดเบี้ยว แต่ ศ.สิริพรรณยังชี้ให้เห็นข้อดี เพราะถึงจะมีการจัดตั้งหรือรวมกลุ่มเข้ามา ก็ยังมีความหลากหลายของผู้สมัคร อย่างน้อยก็เป็นการเปิดประตูการมีส่วนร่วมมากขึ้น และจะทำให้มี สว.ชุดใหม่ที่ดีกว่า 250 คนที่ถูกหยิบมาจากมือ คสช.
ต้องได้ สว.ชุดใหม่เข้าไปทำงานเร็วที่สุด หวังเป็นจุดเปลี่ยนการเมือง
การได้มาซึ่ง สว.อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง แต่ในวงเสวนา เห็นตรงกันว่า ควรได้ สว.ชุดใหม่เข้าไปทำหน้าที่ให้เร็วที่สุด เพราะยังมีหลายกฎหมายสำคัญที่รอพิจารณา เช่น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568, ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์, ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด, ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 และโดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะนำไปสู่วาระสำคัญ ที่เป็นความคาดหวังของประชาชน คือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
ดังนั้น สำคัญที่สุดคือ สว.ต้องทำตามอำนาจหน้าที่อย่างถูกต้อง และ “เข้าใจสังคมรวมถึงความคาดหวังของประชาชน” ทั้งการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย , การพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ และการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งองค์กรกรรมการอิสระ ซึ่งในวาระ 5 ปี สว.ชุดนี้ต้องให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งใน 6 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ถึง 32 ตำแหน่ง
นอกจากหน้าที่ของ สว.ที่ประชาชนอยากให้เป็น อีกเรื่องที่ สว.ควรมี คือ “บุคลิกลักษณะที่ดี” โดยผลการสำรวจของสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย พบว่าประชนต้องการ “นักปฏิบัตินิยม” หรือคนทำงานตัวจริง โดยจะต้องมีความฉลาดรอบรู้ ทำงานกับผู้อื่นได้ดี และเปิดรับความคิดเห็นหรือไอเดียใหม่ ๆขณะเดียวกันก็ต้องมีความเป็นธรรม ซื่อสัตย์และจริงใจ มีความน่าเชื่อถือ รวมถึงต้องสงบควบคุมอารมณ์ได้ดี
ขณะเดียวกัน สว.ชุดใหม่ต้อง “เข้าไปสร้างบรรยากาศการเมืองที่ดี” เช่น เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ติดตามการทำหน้าที่ เป็นการเปลี่ยนภาพจำเดิม ๆ ต่อ สว.ที่ถูกมองในแง่ลบและอาจนำไปสู่จุดเปลี่ยนทางการเมืองได้
ถึงแม้ตัวเต็ง สว. ของเราอาจเข้าไปไม่ถึง 67 คน หรือ 1 ใน 3 ที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่การตั้งกระทู้ หรือการสร้างการมีส่วนร่วมในสังคม จะไปทำให้บรรยากาศเปลี่ยน สร้างการเปลี่ยนแปลง เกิดการเมืองแบบใหม่ขึ้นได้
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์
2 หมุดหมาย สู่การสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ฉันทามติของประชาชนคือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” แต่จะสำเร็จได้ต้องใช้เสียง สว. 1 ใน 3 หรือจำนวน 67 คน แต่ต่อจากนี้ไม่ว่าผลลัพธ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคือทุกคนจะต้องช่วยกันเดินหน้าต่อแต่จุดอ่อนไหวที่วงเสวนาแนะนำให้หาข้อสรุปกันก่อนมี 2 เรื่อง
เรื่องแรก ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมี 2 สภาอยู่หรือไม่ ถ้ายังจำเป็น โจทย์ต่อไปคือต้องหาวิธีคัดเลือก สว.ตามเจตนารมณ์สังคม โดยต้องหาข้อสรุปว่าจะใช้รูปแบบการเลือกแบบใด จะคัดสรรเหมือนระบบ สส. หรือจะใช้ “การเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ” แต่กรณีนี้จะต้องปรับการแบ่งกลุ่มอาชีพที่มีอยู่เดิม 20 กลุ่ม ให้มากขึ้นเป็น 40 กลุ่ม เพื่อให้สอดคล้องกับความหลากหลายในสายอาชีพ และเรื่องที่สอง จะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราหรือทั้งฉบับ
ประเทศไทยวันนี้มีฉันทามติที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดทำด้วยไม่ใช่แก้ไข ดังนั้นเชื่อว่าผู้สมัคร สว.อีก 3,000 คนที่กำลังจะเข้าสู่การคัดเลือกรอบประเทศ อย่างน้อย 2,000 คนจะแก้รัฐธรรมนูญ จุดอ่อนไหวอยู่ที่ จะแก้บางรายมาตราหรือทั้งฉบับ แต่เราจะได้เห็นการจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แน่นอน
ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
และเมื่อถึงวันที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากประชาชนจะอยากได้ สว.ที่ตัวเองเลือกเองได้ ก็คือ “สสร.” ที่ต้องมาจากเสียงของประชาชน 100%
ฝากถึง สว.ชุดใหม่ อย่าทำให้พวกเราผิดหวัง
แม้ไม้ไม่เลือก แต่ขอร่วม นี่เป็นเสียงของกลุ่มนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และคนรุ่นใหม่ ที่ไม่อยู่ในกระบวนการเลือกขั้นสุดท้าย แต่ร่วมกันส่งต่อและฝากความหวังของประชาชน ถึง สว.ชุดใหม่ว่าเมื่อเข้าไปในสภาขอให้ปลดล็อกตัวเอง แล้วทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระและเที่ยงธรรม
ไม่ว่าใครจะขนานนามท่านว่าเป็น สว.ชุดที่เลือกยากที่สุดในโลก มากับดวง หรืออย่างไรก็แล้วแต่ การทำหน้าที่ของท่านสักครั้งหนึ่งในชีวิต ขอให้ท่านตระหนักว่าท่านคือผู้แทนของปวงชนชาวไทย
บรรหาร กำลา
และอีกสิ่งสำคัญของ สว.ก่อนที่จะไปถึงรัฐธรรมนูญคือ เร่งพิจารณารับร่าง “พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ” ให้เร็วที่สุด หลังถูกชะลอมานานแล้วตั้งแต่ในยุค คสช. เพื่อเปิดโอกาสในการแก้กฎหมายที่ยังลิดรอนสิทธิของประชาชนอยู่ ขณะเดียวกันก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึง สว. และเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเวทีหรือเปิดพื้นที่ให้ได้ร่วมตัดสินใจ
โดยมีหนึ่งประโยคที่ครอบคลุมสิ่งที่ประชาชนต้องการที่สุด ที่ถูกฝากไว้โดย สมบูรณ์ คำแหง ประธาน สมัชชา กป.อพช. ว่า “อย่าทำให้เราผิดหวัง”
สร้างส่วนร่วมผ่านกลไกตรวจสอบติดตามการทำหน้าที่ สว.
สุดท้ายแม้เราจะได้ สว. 200 คนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาแล้ว แต่ความหวังของประชาชนไม่ได้มีเพียงให้ สว.ทำงานอยู่ฝ่ายเดียว แต่คือการร่วมทำงานไปด้วยกัน ผ่านกลไกการตรวจสอบติดตามการทำหน้าที่ของ สว.
โดยหนึ่งกลไกในการติดตามการทำงานของ สว.คือ กิจกรรมของเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ บริเวณ อิมแพ็ค ฟอรัม เมืองทองธานี ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่จะตั้งบูธเปิดให้ว่าที่ สว.เข้ามาลงชื่อสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากมีคนลงชื่อมากกว่า 67 เสียง นั่นหมายความว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เริ่มต้นแล้ว”
ขณะเดียวกัน “Lawlink” แม้จะไม่ใช่ระบบที่พัฒนามาให้ติดตาม สว.โดยตรง แต่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถใช้ในการเช็กผลการดำเนินงานแทนได้
Lawlink เป็นแพลตฟอร์มรับฟังความคิดเห็นทางกฎหมายและพื้นที่ถกเถียงประเด็นทางสังคม ที่ปัจจุบันใช้กันในสภา แต่ สว.สามารถเข้ามาค้นหาสิ่งที่ผู้คนสนใจในกระทู้นี้ แล้วนำไปใช้ในการพิจารณากฎหมายได้ ในขณะเดียวกันประชาชนก็ใช้แพลตฟอร์มนี้ไว้ตรวจสอบผลการดำเนินงาน
สติธร ธนานิธิโชติ
อีกหัวใจสำคัญคือ “การทำให้ประชาชนเข้าถึงได้” โดยอาจถ่ายทอดสดการประชุมสมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการต่าง ๆ และเปิดเวทีให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการถกแถลง อภิปราย ในสภาให้ได้มากที่สุด
ทั้งหมดนี้คือกลไกการตรวจสอบของกลุ่มนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และคนรุ่นใหม่ที่จะใช้ในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของ สว. ซึ่งไม่ได้จบลงที่โค้งสุดท้ายของการเลือกตัวแทนประเทศเท่านั้น เพราะการได้มาซึ่ง 200 คน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในการทำงานร่วมกันกับประชาชน ที่จะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของทุกคนอย่างแท้จริง