การฟ้องปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participation: SLAPP) หรือการนำเอากระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือในการคุกคาม (Judicial Harassment) เพื่อไม่ให้ประชาชนและกลุ่มหรือองค์กรต่าง ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและปกป้องประโยชน์สาธารณะจากกิจกรรมหรือกิจการต่าง ๆ โดยอาจมีรูปแบบการฟ้อง ทั้งทางอาญา ทางแพ่ง ทางวินัย หรือทางปกครอง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการฟ้องรูปแบบใดก็ล้วนแต่มุ่งเน้นให้ผู้ถูกฟ้องได้รับโทษทางกฎหมาย ที่จะนำไปสู่การสูญเสียสิ่งต่าง ๆ มากมาย ทั้งเวลา เงินและสุขภาพจิต อันสะท้อนความต้องการของผู้ฟ้องร้องเพื่อปิดปากที่ต้องการจะข่มขู่และขัดขวางการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบหรือการปกป้องประโยชน์สาธารณะในกระบวนการต่าง ๆ
8 ประเด็นจาก 212 คดี เข้าข่ายฟ้องปิดปาก
โดยในประเทศไทยก็ยังคงขาดกฎหมายในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการฟ้องปิดปาก จากการแสดงความเห็น การให้ข้อมูล และการคัดค้านหรือมีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งคดีที่เข้าข่ายการฟ้องปิดปากในไทยระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2562 มีจำนวนทั้งหมด 212 คดี โดยแบ่งออกเป็น 8 ประเด็นดังนี้
(1) การเมืองและความชอบธรรมของรัฐบาล (39.13%)
(2) สิ่งแวดล้อม (32.07%)
(3) การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐและกระบวนการยุติธรรม (12.26%)
(4) การทุจริต (5.66%)
(5) แรงงาน (5.18%)
(6) ทางการแพทย์และสาธารณสุข (2.35%)
(7) พลังงาน (2.35%)
(8) ประเด็นอื่น ๆ (0.94%)
ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ว่าจะเป็นคดีประเด็นใดก็มีจุดมุ่งหมายที่ไม่ต่างกันคือการข่มขู่และขัดขวางการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบหรือการปกป้องประโยชน์สาธารณะ
ปลาหมอคางดำ สู่เหตุผลทำไมถึงต้องมีกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 เกิดเหตุแจ้งความดำเนินคดี โดยมีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “CPF” เป็นผู้กล่าวหา มีนายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร เป็นผู้รับมอบอำนาจ ต่อนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) จากกรณี “ปลาหมอคางดำ” ถึง “ไบโอไทย” ซึ่งแจ้งว่าเป็นการฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีเจตนาปกป้องประโยชน์สาธารณะเพราะการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นดังกล่าวเป็นความต้องการที่จะหาทางแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ เพื่อการ การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ
เหตุการณ์นี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างและเหตุผลว่า “ทำไมถึงต้องมีกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Law) ?” เพราะการฟ้องร้องในลักษณะดังกล่าวก็เป็นการกระทำเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งส่งผลให้ความพยายามในการมีส่วนร่วมตรวจสอบและปกป้องประโยชน์สาธารณะลดลงจากความกลัวที่จะถูกฟ้องปิดปาก
นอกจากนี้ การฟ้องปิดปากไม่ได้ส่งผลแค่กับกลุ่มนักเคลื่อนไหวแต่ยังส่งผลไปถึงนักข่าว นักวิชาการ รวมทั้งประชาชนที่เห็นและต้องการชี้ถึงปัญหา เพราะจากสถิติผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของการฟ้องปิดปาก ตามรายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย พบว่า ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของการฟ้องคดีตั้งแต่ปี 2544-2565 คือชาวบ้านและผู้ที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวระดับท้องถิ่น (78%) นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหว (10%) นักสหภาพแรงงาน (6%) สื่อมวลชน (3%) นักวิชาการ (1%) นักการเมือง (1%) และกลุ่มอื่น ๆ (1%)
การที่ ชาวบ้านตกเป็นเป้าหมายหรือเหยื่อของคดีฟ้องปิดปากอาจเป็นผลมาจากปัญหาเรื้อรังอย่างการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจโดยรัฐเกี่ยวกับกิจการสาธารณะ ที่เมื่อรัฐอนุมัติให้นักลงทุนดำเนินโครงการหรือการประกอบกิจการในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว แต่ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงกับคนในชุมชนซึ่งเป็นผู้ต้องรับผลทั้งดีและร้ายที่จะเกิดขึ้น จึงนำไปสู่ความขัดแย้งที่ภาคธุรกิจจะใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อจัดการกับกลุ่มคู่ขัดแย้งหรือขัดขวางการประกอบกิจการ
ก้าวสำคัญคู่การปกป้องสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น
กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP law) จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะไม่ใช่เพียงแค่การช่วยเหลือเหยื่อแต่ยังเป็นการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งในปัจจุบันก็มีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา โดยถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องประชาชนจากการฟ้องคดีที่มีจุดประสงค์เพื่อข่มขู่ คุกคาม หรือปิดปากผู้ที่แสดงความคิดเห็นอย่างสุจริต ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการอิสระ หรือผู้สื่อข่าว การพัฒนากฎหมายนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการปกป้องสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนในสังคมไทย
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ … ) พ.ศ. … ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (23 กรกฎาคม 2567) มีมติเห็นชอบ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สศก.) ตรวจพิจารณาแล้ว และมีมติรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ตามที่มีการเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.)
โดยร่างกฎหมายนี้ได้เพิ่มเติมมาตรการหรือกลไกในการป้องกันการฟ้องปิดปากเพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่มีใน (ร่าง) พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Laws) ในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญถึง “การเพิ่มกลไกและมาตรการในการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็น แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ อันเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าว อาจถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดีทางอาญา ถูกฟ้องคดีทางแพ่ง หรือถูกดำเนินการทางวินัยจากการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งสร้างกลไกเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น”
อย่างไรก็ตามขอบเขตของร่างกฎหมายนี้ดูเหมือนจะไม่ครอบคลุมทุกกรณีตามข้อมูลที่มีการรวบรวมโดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เพราะมุ่งเน้นเพียงแค่การป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐเท่านั้น การจำกัดขอบเขตเช่นนี้อาจทำให้ไม่ครอบคลุมถึงกรณีหรือประเด็นอื่น ๆ ที่มีการใช้กระบวนการทางกฎหมายในการคุกคามหรือปิดปากบุคคลที่แสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตซึ่งอาจเป็นการดำเนินการโดยผู้มีอำนาจที่ไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและปกป้องประโยชน์สาธารณะ
กรณีศึกษาจากต่างประเทศสู่ข้อเสนอเพิ่มเติม
จากประเด็นดังกล่าวจึงมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติม เพื่อให้ (ร่าง) พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Laws) มีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้นที่จะนำไปสู่การปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างสิทธิการแสดงออกอย่างเสรีและครอบคลุม จึงได้มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงกฎหมายในต่างประเทศที่มีการกำหนดใช้แล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และแคนาดา โดยเล็งเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวของประเทศไทยมีประเด็นที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมดังนี้
(1) นิยามและความหมาย : ปัจจุบันนิยามและความหมายของเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการฟ้องปิดปากมุ่งเน้นไปที่การป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่นำไปสู่การฟ้องปิดปาก ดังนั้นหากมีการทบทวนนิยามและความหมายให้ครอบคลุมถึงประเด็นอื่น ๆ มากยิ่งขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อทุกคนที่ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ
(2) การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือทางกฎหมาย : ควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนทางการเงินและทางกฎหมายให้แก่ผู้ที่ถูกฟ้องคดีปิดปาก เพื่อให้สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และไม่ต้องเผชิญกับภาระทางการเงินที่หนักหน่วง เนื่องจากการฟ้องปิดปากมักนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือโดยมิชอบ ดังนั้นหากมีการสนับสนุนทางด้านการเงินและกฎหมายก็จะเป็นการบรรเทาผลกระทบหลังจากถูกฟ้องร้องและส่งเสริมให้ทุกคนไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวต่อการฟ้องปิดปากจากการแสดงเจตนารมณ์อย่างสุจริต
(3) การจัดตั้งเครือข่ายการสนับสนุนทางจิตใจ : การฟ้องปิดปากไม่ได้ทำให้ผู้ถูกฟ้องสูญเสียเงินและเวลาระหว่างการฟ้องร้องเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ ดังนั้นจึงควรมีการจัดตั้งเครือข่ายการสนับสนุนทางจิตใจสำหรับผู้ที่ถูกฟ้องร้องคดีปิดปาก เพราะการปกป้องสุขภาพจิตของผู้ถูกฟ้องร้องก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อให้ผู้ที่ถูกฟ้องร้องยังคงยืนหยัดต่อเจตนารมณ์ของตน
(4) การให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในกฎหมายจากความร่วมมือ : ในบางประเทศต้องพิจารณาถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเข้าร่วมในกระบวนการสาธารณะก่อนที่จะพิจารณาคดี การให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพจะช่วยให้กฎหมายมีความยุติธรรมและปกป้องสิทธิของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ก็จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
(5) การสร้างความรู้และการมีส่วนร่วม : ควรมีการให้ความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนด้วยกระบวนการต่าง ๆ เพราะเป็นส่วนที่สำคัญที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจถึงสิทธิของตนและสามารถใช้สิทธิเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่
สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ร่วมกันตรวจสอบปกป้องประโยชน์สาธารณะ
หากรัฐไทยมีกฎหมายที่ปกป้องเหยื่อจากการถูกฟ้องปิดปากอย่างปลอดภัยและครอบคลุมถึงทุกกรณี ที่มีการใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่ หรือคุกคามผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและปกป้องประโยชน์สาธารณะซึ่งรวมถึงการแสดงความคิดเห็น ก็จะช่วยให้เกิดการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพราะการปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะจากความไม่กลัวที่จะถูกคุกคามด้วยการดำเนินคดีทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม จะนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการวิจารณ์และการเรียกร้องสิทธิที่ดึงดูดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมกันตรวจสอบและปกป้องประโยชน์สาธารณะ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีความพยายามในการต่อต้านคอร์รัปชันด้วยความพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านการใช้เทคโนโลยีอย่าง “ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)” ในการสร้างเครื่องมือสู้โกงภาคประชาชน เช่น ACT Ai ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์กรต่อต้านการทุจริต (ประเทศไทย) ร่วมกับ HAND Social Enterprise เพื่อลดข้อจำกัดด้านการเข้าถึงฐานข้อมูลรายละเอียดของโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งระบบ AI แจ้งเตือนความเสี่ยงเมื่อพบความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งนำไปสู่การเปิดข้อมูล และดำเนินการตรวจสอบเพื่อขยายผลต่อไป และ ACT Ai Politics Data เครื่องมือในการตรวจสอบฐานข้อมูลความโปร่งใสของนักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึง โรงเรียนโปร่งใส แพลตฟอร์มที่เป็นฐานข้อมูลโรงเรียน เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถตรวจสอบข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน และสนับสนุนให้นักเรียนได้มีบทบาทในการตั้งคำถาม ตรวจสอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกลับไปยังโรงเรียนและผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนของตนเอง
โดยทั้งหมดนี้จะเห็นถึงความพยายามของภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเปิด (Open Data) แต่หากยังมีกฎหมายที่ปิดปากประชาชนความพยายามดังกล่าวก็อาจไร้ค่า เพราะทุกคนอาจกลัวที่จะมีภัยมาถึงตนเอง
อย่างไรก็ตาม หากมีกฎหมายที่คุ้มครองผู้ที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชันอย่างครอบคลุม มีเครื่องมือที่เอื้อให้การตรวจสอบและปกป้องผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างง่าย และมีคนหรือกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นเครือข่ายเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันก็อาจทำให้ปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญเชิงสถิติและเชิงพฤติกรรมจากวัฏจักรที่ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมกันตรวจสอบและปกป้องประโยชน์สาธารณะ จากการส่งเสริมให้เกิดความยุติธรรมและการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคมไทยที่ไม่เพียงนำมาสู่การร่วมกันต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ยังส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาธิปไตยไทยที่สุดท้าย “ประชาชนคนไทยจะได้ไม่ต้องทนและไม่ต้องกลัวต่อผู้มีอำนาจที่ใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ”
อ้างอิง
- โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย, รายงานการศึกษาเรื่องกฎหมายและมาตรการป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะในบริบทธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน, [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567]
- พัชรา พุกเศรษฐี, กฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ, [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567]
- รัฐบาลไทย, ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่…) พ.ศ…., [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567]
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, การฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทย: สถานการณ์และผลกระทบ, [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567]
- สำนักข่าวอิศรา, เปิดร่างแก้ไข ‘กม.ป.ป.ช.’ คุ้มครองประชาชนถูก’ฟ้องปิดปาก’ ไม่ต้องรับผิด ‘อาญา-แพ่ง-วินัย’ , [สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567]
- American Bar Association, Mental Health and the Legal Profession, [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567]
- BIOTHAI Editorial Team, ปล่อยหมัดเด็ด ปลาหมอคางดำ ไม่ได้ตายตามคำอ้าง เลี้ยงบ่อดินอีกหลายรุ่น หนุนเกษตรกรฟ้องคดี ท้า CPF อย่าพูดลอยๆงัดหลักฐานมาพิสูจน์, [สืบค้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567]
- Canadian Mental Health Association, Mental Health Support for Legal Professionals, [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567]
- Citizen Media Law Project, Anti-SLAPP Law in the United States, [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567]
- Environment Defenders Office, SLAPP Suits in Australia, [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567]
- iLaw, ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (SLAPP), [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567]
- Public Interest Advocacy Centre, SLAPP Suits and Public Participation in Canada, [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567]
- Public Participation Project, Anti-SLAPP Legislation Across the U.S., [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567]
- Thai PBS, “ซีพีเอฟ” แจ้งความดำเนินคดี “ไบโอไทย” กรณี “ปลาหมอคางดำ”, [สืบค้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567]