เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยร่างฯดังกล่าวมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวนไม่เกิน 3,752,700 ล้านบาท และปีนี้ไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
เป้าหมายงบปี 68 เศรษฐกิจไทยโตเต็มศักยภาพ
ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯนี้ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีเป้าหมายทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ ผ่านการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และวิสัยทัศน์ อิกไนท์ ไทยแลนด์ (Ignite Thailand) ประกอบด้วยการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรม บนการพัฒนา 6 พื้นฐานสำคัญ เพื่อมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณ ในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 ขยายตัวต่ำ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ค. 2567) มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 (ค่ากลางร้อยละ 3.0) มีการปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ประมาณการไว้ในแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) ฉบับทบทวน ณ เดือน เม.ย. 2567 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจากความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และสร้างความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2568 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2) และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
สศช.ยังคาดว่าช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก กระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสั่งผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้กับภาครัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศต่อไป
ไทยตั้งเป้าศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ 8 ด้าน
เมื่อต้นปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ อิกไนท์ ไทยแลนด์ ของประเทศไทย เป็นเป้าหมายของการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของ 8 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ ศูนย์กลางเกษตรและอาหาร ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และศูนย์กลางการเงิน บนการพัฒนา 6 พื้นฐานที่สำคัญได้แก่ การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเพื่อความโปร่งใส ความเสมอภาคเท่าเทียม ความสะอาดและปลอดภัย ระบบขนส่งที่เข้าถึงและสะดวก การศึกษาและเรียนรู้สำหรับทุกคน และพลังงานสะอาดและมั่นคง
สำหรับกลยุทธ์ของการมุ่งไปสู่ 8 ศูนย์กลาง คือการต่อยอดจุดแข็งของประเทศด้านต่าง ๆ เช่น สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ทักษะของคนไทย โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนต่อยอด ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาคและของโลกได้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน เป็นต้น
นอกจากนี้อีกกลยุทธ์หนึ่ง คือ การใช้ประโยชน์จากความเป็นกลางทางภูมิรัฐศาสตร์ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ สภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันตก เกิดเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร เป็นต้น โดยความเป็นกลางทางภูมิรัฐศาสตร์จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรม ว่าห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินธุรกิจจะมีความยืดหยุ่น (Resilient) ต่อสถานการณ์ความตึงเครียดต่าง ๆ จึงทำให้ประเทศไทยเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดังกล่าวของภูมิภาคและของโลกได้
ในครึ่งปีแรก 2567 การท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศทั้งปีกว่า 36.7 ล้านคน กลับไปสู่ระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 และรัฐบาลมีแผนที่จะทำให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผ่านการเฟ้นหาจุดเด่น จัดเทศกาล กิจกรรม คอนเสิร์ต หรือการแสดงต่าง ๆ เพื่อเพิ่มระยะเวลาการพำนัก และค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของนักท่องเที่ยวในอนาคต ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศมากยิ่งขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการบิน
ขณะเดียวกันรัฐบาลจะเดินหน้าขยายโครงข่ายสนามบินทั่วประเทศเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และขยายกำลังความสามารถในการขนส่งทางอากาศ การขนส่งควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) และเชื่อมต่อไปยังการขนส่งทางรถ ราง และเรืออย่างครบวงจร ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และเชื่อมต่อไปยังแลนด์บริดจ์ (landbridge) เพื่อไปทั่วโลกได้ เกษตรกรรมและอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง รัฐบาลมีมาตรการที่จะดูแลภาคส่วนนี้ตั้งแต่ต้นน้ำโดยการบริหารจัดการน้ำ ดิน พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การแปรรูป และดูแลบริหารอย่างครบวงจร ทำให้ภาคเกษตรและอาหารแข็งแรงยิ่งขึ้น
ภาระหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตามปัญหาหนี้สินยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินสูงกว่าร้อยละ 91.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และยังมีภาระหนี้นอกระบบ โดยรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ย และจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่ทำผิดกฎหมาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการประเมินว่าธุรกิจ SMEs กว่า 3.2 ล้านราย มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ทำให้ต้องอาศัยแหล่งสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ด้านการใช้จ่ายจำเป็นในการหมุนเวียนประจำวัน และการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ ส่งผลให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง การเจริญเติบโตในภาคธุรกิจ SMEs จึงอยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อในกลุ่มธุรกิจ SMEs มีการขยายตัวติดลบร้อยละ 5.1 ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 1 ของปี 2567
ด้านการลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และได้มีการขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 850,000 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี เป็นผลจากการเดินหน้าเจรจาการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เป็นการดำเนินนโยบายที่ใช้งบประมาณน้อยแต่ได้ผลมาก ตัวอย่างของความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา คือการประกาศเปิดศูนย์ข้อมูล (Data Center) ของภาคเอกชนรายใหญ่จากต่างประเทศ หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายคลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) และเดินหน้าเจรจาการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
การลงทุนดังกล่าวเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ ความสามารถ ทำให้คนไทยและบริษัทไทยเข้าถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ได้ง่ายยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการตื่นตัวของนักศึกษา นักวิจัย และบริษัทเอกชนที่เริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวในการเพิ่มผลิตผล (Productivity) อย่างรวดเร็ว มีหลายบริษัทในอุตสาหกรรมชั้นสูงได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะเข้ามาลงทุนตั้งบริษัท และสำนักงานในประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง อุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น รวมถึงมีความต้องการที่จะลงทุนพัฒนาบุคลากรในประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตอีกด้วย ก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับภาคการศึกษา ภาคแรงงาน และภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
กู้ชดเชยขาดดุล 8.65 แสนล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ภายใต้เศรษฐกิจดังกล่าว ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร (สุทธิ) การขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 3,022,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 135,700 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,887,000 ล้านบาท ประกอบกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 865,700 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
สำหรับฐานะการคลัง มีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 จำนวน 11,474,154.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ขณะที่ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เม.ย. 2567 มีจำนวน 430,076.3 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
กนง.คงดอกเบี้ย 2.5% มองเศรษฐกิจฟื้นไม่ทั่วถึง
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ในการประชุมเมื่อเดือน มิ.ย. 2567 มองว่าเป็นอัตราที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน อีกทั้งมีอัตราเงินเฟ้อที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพ โดยมีปัจจัยมาจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2567 แต่ยังคงต้องติดตามความท้าทายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการส่งออกและภาคการผลิตที่ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก ปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และภาคธุรกิจ SMEs จำนวนมากที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องอาศัยการดำเนินการที่สอดประสานกันระหว่างภาคการเงินและการคลัง
ขณะที่ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566 มีจำนวน 224,483.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก
เดินหน้าใช้งบปี 68 ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท และกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณปีนี้จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 27.9 และสูงที่สุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา โดยการบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย
ธปท.มองเศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ทั่ว กระจุกตัวแค่เมืองท่องเที่ยว
กู้ชนเพดาน ปรับงบปี 67 หนุนแจกดิจิทัลวอลเล็ต
ฐานะการคลังเสี่ยงสูง รายจ่ายรัฐเพิ่มจากสังคมสูงอายุ
ที่มา : ทำเนียบรัฐมนตรี, ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ 19 มิ.ย. 67