นับตั้งแต่เดือนมีนาคมซึ่งตรงกับช่วงของการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมในปีนี้ เหตุความไม่สงบในชายแดนใต้ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ยิงสามเณร เด็กผู้หญิงและคนชราเสียชีวิต
ผู้เขียนอยากชวนให้ไล่เรียงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อทำความเข้าใจภาพใหญ่และช่วยกันขบคิดอย่างมีสติว่ารัฐบาลและสังคมไทยควรจะเดินหน้าอย่างไรเพื่อหยุดเลือดและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน
รอมฎอนไม่สันติและการโต้กลับด้วยความรุนแรงเหี้ยมโหด
นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนรัฐบาลอย่างกะทันหันในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ได้เกิดสภาวะสุญญากาศในทิศทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ การสิ้นสุดของรัฐบาลเศรษฐาทำให้คณะพูดคุยสันติสุขซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปด้วย
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีแพทองธารให้มากุมบังเหียนเรื่องดับไฟใต้และเป็นเวลากว่าเก้าเดือนแล้วที่ไม่มีคณะพูดคุยฯ ในช่วงต้นเดือนมกราคมปีนี้ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงได้มอบหมายให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไปทบทวนเพื่อนำเสนอ “ยุทธศาสตร์ใหม่” ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอน (1 – 30 มี.ค. 2568) ทางฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนอไปยังกลุ่มบีอาร์เอ็นให้ลดความรุนแรงในช่วงของการถือศีลอด หากสถานการณ์สงบก็จะมีการตั้งคณะพูดคุยฯ ข้อเรียกร้องนี้เกิดจากความกังขาว่าตัวแทนบีอาร์เอ็นบนโต๊ะพูดคุยนั้นคุมกองกำลังได้หรือไม่
บีอาร์เอ็นได้ส่งเอกสารไปยังรัฐบาลไทยผ่านผู้อำนวยความสะดวกชาวมาเลเซียในวันที่ 27 ก.พ. (เอกสารถูกเผยแพร่โดยสื่อมวลชนไทยในวันที่ 4 พ.ค.) ทางบีอาร์เอ็นตอบรับแบบมีเงื่อนไข โดยเสนอให้รัฐบาลไทยเร่งตั้งคณะพูดคุยฯ เมื่อตั้งแล้ว ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็พร้อมดำเนินการ “ความริเริ่มร่วมสำหรับสันติภาพชั่วคราว” โดยจะยุติการปฏิบัติการทางการทหารทั้งสองฝ่าย (bilateral ceasefire) ในพื้นที่ชายแดนใต้ทั้งหมดเป็นเวลา 15 วัน โดยขอให้มีผู้ติดตามการหยุดยิง (monitoring team) ที่เป็นอิสระจากหลายภาคส่วน รวมถึงผู้อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย องค์กรเอกชนระหว่างประเทศและตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่
ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่าฝ่ายไทยไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น แต่ตัวแทนของสภาความมั่นคงแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยฯ ระบุว่าฝ่ายไทยขอให้กลุ่มบีอาร์เอ็นยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนเสียก่อน หลังจากนั้นยินดีที่จะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว
นับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่เดือนรอมฎอนสถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้พุ่งสูงขึ้น วันที่ 8 มี.ค. ชายฉกรรจ์นับสิบคนซึ่งมีอาวุธครบมือยิงโจมตี พร้อมจุดระเบิดคาร์บอมบ์ในที่ว่าการอำเภอสุไหงโกลก จ.นราธิวาส ส่งผลให้อาสาสมัครรักษาดินแดนเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 8 คน
ในวันเดียวกันก็เกิดเหตุระเบิดที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บอีก 1 คน สถานการณ์ความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นอีกหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน หลังจากที่อุสตาซอับดุลรอนิง ลาเต๊ะถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 18 เม.ย. โดยการโจมตีเริ่มขยายเป้าหมายไปสู่พลเรือน ซึ่งข้อมูลจากหลายฝ่ายระบุว่าเขาเป็นแกนนำระดับสูงในฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็น
วันที่ 20 เม.ย. เกิดเหตุระเบิดที่วางไว้ในรถจักรยานยนต์พ่วงข้างที่จอดไว้ใกล้รั้วที่พักตำรวจใน อ.เมือง จ.นราธิวาส ในขณะที่เด็กมุสลิมกำลังเดินผ่านมาพอดี ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 10 คน ในจำนวนนั้นเป็นเด็ก 9 คน ค่ำวันเดียวกันมีเหตุกราดยิงชาวบ้านไทยพุทธที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส มีผู้บาดเจ็บ 7 คน
วันที่ 22 เม.ย. เกิดเหตุการณ์กราดยิงรถกระบะของตำรวจขณะรับพระสงฆ์ออกบิณฑบาตใน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ส่งผลให้สามเณรอายุ 16 ปีเสียชีวิต
วันที่ 2 พ.ค. เกิดเหตุยิงหญิงชราวัย 76 ปี เสียชีวิตที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ในช่วงค่ำวันเดียวกัน เกิดเหตุกราดยิงบ้านชาวบ้านใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 1 คน หนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นเด็กหญิงพิการทางการได้ยินและการพูด อายุ 9 ปี การโจมตีพลเรือน โดยเฉพาะเด็กและคนชราทำให้เกิดกระแสการประณามผู้ก่อเหตุอย่างกว้างขวาง
ผู้เขียนมีข้อสังเกตต่อเหตุความรุนแรงในระลอกล่าสุด 3 ประการ
1) ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนยังคงจำกัดอยู่ที่เป้าหมายแข็ง (hard target) หรือผู้ที่ถืออาวุธซึ่งน่าจะเป็นการตอบโต้ท่าทีของฝ่ายไทยที่เรียกร้องให้ยุติเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน แต่กลับปฎิเสธที่จะพิจารณาข้อเสนอของบีอาร์เอ็นที่ให้ตั้งคณะพูดคุยฯ และการทำหยุดยิงสองฝ่าย
2) หลังการเสียชีวิตของอุสตาซอับดุลรอนิง เริ่มมีการขยายการโจมตีไปยังเป้าหมายอ่อน (soft target) ที่เป็นพลเรือนไทยพุทธอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาความรุนแรงต่อพลเรือนอย่างเหี้ยมโหด เช่น การฆ่าพระ การฆ่าชาวไทยพุทธและเผา เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง และมักจะเกิดในสถานการณ์ “การโจมตีตอบโต้” ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังมีสมาชิกของฝ่ายขบวนการเสียชีวิตจากการถูกสังหารที่เชื่อว่าเป็นการกระทำของฝ่ายความมั่นคง
ในการโจมตีตอบโต้มักจะพุ่งเป้าไปยังพลเรือนชาวไทยพุทธ เนื่องจากพวกเขาเป็นเป้าหมายอ่อนที่โจมตีได้ง่ายและถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่อยู่ฝ่ายเดียวกับ “เจ้าอาณานิคมสยาม” ในการสัมภาษณ์อดีตขบวนการในปี 2559 อดีตสมาชิกขบวนการฯ คนหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าถ้าญูแว (นักรบ) ถูกฆ่า พวกเขาจะตอบโต้ด้วยการฆ่าคน 10 คน ถ้าไม่สามารถเข้าถึงเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้ ก็จะโจมตีชาวไทยพุทธแทน
มีความเป็นไปได้สูงว่าความรุนแรงแบบเหี้ยมโหดที่กระทำต่อพลเรือนในช่วงที่ผ่านมาเป็นการแก้แค้นเอาคืนจากการสังหารแกนนำระดับสูงในฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็น การอธิบายเช่นนี้ไม่ได้ต้องการบอกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม แต่การจะหยุดสถานการณ์แบบนี้ได้ก็ต้องยุติวงจรอุบาทว์ของการสังหารโต้ตอบกัน
รัฐควรจะทำความจริงให้ปรากฏกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับทุก ๆ ฝ่าย ทั้งการเสียชีวิตของอุสตาซอับดุลรอนิงและพลเรือน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ ที่ถูกโจมตีในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน การนำเอาผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมควรจะกระทำอย่างเสมอภาคกันในทุกฝ่ายและดำเนินการตามหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ การแก้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในภาพใหญ่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการ
3) การออกแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นในวันที่ 5 พ.ค. เพื่อยืนยันว่าไม่มีนโยบายโจมตีพลเรือน และขบวนการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากลและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law, IHL) เป็นความพยายามพลิกสถานการณ์กอบกู้ความชอบธรรมในการต่อสู้กลับคืนมา หลังจากที่บีอาร์เอ็นถูกประณามอย่างหนักจากหลายภาคส่วน
แม้กระทั่งจากองค์กรประชาสังคมในชายแดนใต้ที่มีอุดมการณ์ร่วมกันในการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี บีอาร์เอ็นมีรูปแบบองค์กรที่ปิดลับ ฝ่ายการเมืองมักไม่ได้รับทราบรายละเอียดการโจมตีทางการทหาร หลายครั้งที่ผ่านมาปฏิบัติการทางการทหารทำให้บีอาร์เอ็นเสียการเมือง การโจมตีพลเรือนเป็นคำถามใหญ่ที่บีอาร์เอ็นมักจะถูกถามโดยองค์กรระหว่างประเทศที่พวกเขาเองต้องการแรงสนับสนุน สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันรณรงค์ในขณะนี้ คือการเรียกร้องให้คู่สงครามทุกฝ่ายหยุดโจมตีพลเรือน
หากเราย้อนมองดูอดีต เหตุการณ์โจมตีที่ดูโหดร้ายรุนแรงเกิดขึ้นอย่างนับไม่ถ้วนหลังความรุนแรงปะทุขึ้นในปี 2547 ทั้งการฆ่าตัดคอ ฆ่าพระสงฆ์ ยิงและเผา สถานการณ์ความรุนแรงทุเลาลงทั้งในเชิงจำนวนเหตุรุนแรงและการโจมตีพลเรือนหลังการเริ่มพูดคุยสันติภาพในปี 2556
การเปลี่ยนสนามรบจากการต่อสู้กันทางการทหารเป็นหลักมาสู่การต่อสู้กันในทางการเมืองบนโต๊ะเจรจา ทำให้กลุ่มบีอาร์เอ็นต้องระมัดระวังพฤติกรรมของตนมากขึ้นเพื่อสร้างแรงสนับสนุนในเวทีระหว่างประเทศ ในปี 2563 บีอาร์เอ็นได้ลงนามใน Deed of Commitment for the Protection of Children from the Effects of Armed Conflict (หนังสือแสดงเจตจำนงในการปกป้องเด็กจากผลกระทบของความขัดแย้งทางอาวุธ, DOC) กับ Geneva Call ซึ่งมีสาระสำคัญในเรื่องการปกป้องเด็กจากผลกระทบของความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งรวมถึงการไม่ใช้เด็กในการสู้รบ การไม่ใช้โรงเรียนเป็นฐานทหารและการปฎิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
ที่ผ่านมา มีความเข้าใจผิดในเรื่องบทบาทของ Geneva Call ในสังคมไทยค่อนข้างมาก บ้างคิดว่า Geneva Call มีส่วนในเรื่องการสนับสนุนเรื่องการเจรจาสันติภาพ บ้างคิดว่าการเข้ามาของ Geneva Call จะทำให้ภาคใต้มีสถานะเป็นพื้นที่สงคราม (armed conflict) และจะยกระดับสถานะปัญหาภาคใต้ไปสู่สากล
ผู้เขียนได้พูดคุยกับตัวแทนของ Geneva Call เป็นระยะ ๆ ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา หน้าที่หลักขององค์กรเอกชนระหว่างประเทศกลุ่มนี้ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์คือการรณรงค์เพื่อการปกป้องคุ้มครองพลเรือนในพื้นที่ความขัดแย้งด้วยการทำงานกับกลุ่มติดอาวุธและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการเคารพหลักการด้านมนุษยธรรมสากล
Geneva Call ได้ทำงานกับกลุ่มบีอาร์เอ็นและกลุ่มพูโลมาหลายปีเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับบรรทัดฐานและหลักการด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศและสนับสนุนให้กลุ่มติดอาวุธปฏิบัติตามบรรทัดฐานเหล่านี้ด้วยการลงนามใน DOC และใช้กลไกนี้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบว่าพวกเขาเคารพหลักการด้านมนุษยธรรมมากน้อยเพียงไร
หลังจากได้ลงนามใน DOC กับทาง Geneva Call แล้ว กลุ่มบีอาร์เอ็นได้ทำคู่มือการปฎิบัติการทางการทหารเล่มเล็กๆ เป็นภาษามลายูอักษรยาวีเพื่อแจกจ่ายภายในองค์กร รวมถึงกองกำลังในพื้นที่ โดยทำเป็น Do and Don’t ทั้งหมด 16 ข้อ อาทิ
- 001 เด็กคือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี พวกเขาไม่สามารถถูกเกณฑ์ (ให้เป็นสมาชิก) ถึงแม้ว่าพวกเขาจะสมัครใจ
- 002 ไม่สามารถใช้เด็กในการปะทะหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกันการปะทะได้ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะสมัครใจก็ตาม 007 เด็ก ๆ และบุคลากรทางการศึกษาควรจะสามารถดำเนินการเรียนการสอนโดยไม่มีการคุกคามความปลอดภัย
- 010 ห้ามใช้วัตถุระเบิดในพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่
(คำแปลโดยฮาร่า ชินทาโร่)
เอกสาร “ข้อกำหนดหลักในเอกสาร Deed of Commitment (DOC) การคุ้มครองเด็กและการให้คำเตือนเกี่ยวกับการใช้วัตถุระเบิด”
ในการสนทนาของผู้เขียนกับตัวแทนของบีอาร์เอ็นบนโต๊ะพูดคุยฯ ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เขากล่าวว่าการระมัดระวังการโจมตีเป้าหมายพลเรือนเป็นผลอย่างสำคัญจากการลงนามกับ Geneva Call แน่นอนว่าเหตุโจมตีระลอกล่าสุดเป็นการละเมิดสิ่งที่บีอาร์เอ็นได้ลงนามไว้และเป็นการละเมิดหลักการด้านมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง
บีอาร์เอ็นคงต้องตอบคำถามนี้ หากเป็นการปฏิบัติการของกองกำลังของตนจริง บีอาร์เอ็นยังคงต้องการแรงสนับสนุนจากประชาคมโลกในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ การเปิดให้กลไกการพูดคุยสันติภาพได้เดินหน้าต่อจะทำให้ทุกฝ่ายได้กลับมาใช้การเจรจาเพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองร่วมกันมากกว่าการปะทะห้ำหั่นกันในทางการทหาร
หลักการที่ว่าต้องหยุดการฆ่าก่อนจึงจะพูดคุยเป็นสิ่งที่เชื่อว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยในหลักการ เพียงแต่ว่าจะมีขั้นตอนอย่างไรที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง
ผู้เขียนได้รับข้อมูลล่าสุดจากหน่วยงานที่กำหนดทิศทางนโยบายภาคใต้ว่ารัฐบาลยังยืนยันจะเดินหน้าการพูดคุยฯ ต่อไป และกำลังพยายามประสานเพื่อให้เกิด “pre-talk” กับผู้นำระดับสูงของบีอาร์เอ็นโดยผ่านผู้อำนวยความสะดวก เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น
ผู้เขียนจึงขอเสนอให้ฝ่ายรัฐและบีอาร์เอ็นร่วมกันทำการยุติการปฎิบัติการทางการทหารสองฝ่าย (bilateral ceasefire) ในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นเวลา 15 วัน โดยให้มีผู้ติดตามการหยุดยิงที่เป็นอิสระจากหลายภาคส่วน โดยยังไม่ต้องตั้งคณะพูดคุยอย่างเป็นทางการ
วิธีการนี้จะทำให้ฝ่ายรัฐสามารถทดสอบด้วยว่าตัวแทนของบีอาร์เอ็นในคณะพูดคุยฯ นั้นมีความสามารถในการคุมหรือสื่อสารกับกองกำลังในพื้นที่ได้จริงหรือไม่ (อีกครั้งหนึ่ง) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าคุยถูกคน การริเริ่มนี้จะเป็นการดึงสถานการณ์ให้ทุกฝ่ายกลับมาแก้ปัญหาความขัดแย้งกันอย่างมีอารยะมากขึ้น ก่อนที่เราจะถลำลึกไปในวังวนของความรุนแรงไปมากกว่านี้
ยิ่งการพูดคุยชะงักงันนานขึ้นเท่าไหร่ ความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจก็จะยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น และการทำให้ขบวนรถไฟกลับมาวิ่งในรางได้ก็จะยิ่งยากเข็ญยิ่งขึ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
ไฟใต้ปะทุ ..เปิดทางเจรจารอบใหม่ “ดับไฟใต้”
ดับไฟใต้: JCPP มีอะไรที่น่ากลัว?
การพูดคุยสันติภาพในภาคใต้: ความเสี่ยงของการถอยกลับ (1)
ปัญหาการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือต่อรอง กับความเสี่ยงของการถอยกลับ