สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มีภารกิจตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่างบประมาณแผ่นดินจะถูกนำไปใช้อย่างถูกต้อง โปร่งใส เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน แต่ สตง.กำลังถูกตรวจสอบอย่างหนัก
ทว่าจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ทำให้ อาคารแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างพังถล่มราบลงมาทั้งหลัง ภายใน 8 วินาที ทำให้ สตง. ที่มีสมัญญานามว่า “ผู้พิทักษ์เงินแผ่นดิน” ถูกตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใส ความถูกต้องของโครงการและมาตรฐานการตรวจสอบ การก่อสร้างอาคาร จากประชาชน ประชาสังคม และสื่อมวลชน ใน 7 ประเด็นใหญ่ๆ ประกอบด้วย
1. บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างมีประวัติด่างพร้อย
โครงสร้างบริษัทที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ 33 ชั้นก่อสร้างบนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน ด้วยงบประมาณ 2,560 ล้านบาท มีกำหนดแล้วเสร็จใน 2569 ดำเนินงานโดย
ผู้ออกแบบ : กลุ่มร่วมค้า บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามสัญญาจ้าง เมื่อ 9 ต.ค. 2561
ผู้ควบคุมงาน : กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนชัลแทนส์ จำกัด) ลงนามสัญญาจ้าง เมื่อ 14 ม.ค. 2564
ผู้รับจ้างก่อสร้าง : กิจการร่วมค้า ITD-CREC โดยมี บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด (มหาชน) (ITD) ซึ่งเป็นหุ้นส่วนหลัก กับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด (CREC No.10) ลงนามสัญญาจ้าง เมื่อ 23 พ.ย. 2563 และลงนามข้อตกลงคุณธรรม ความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภายหลังเมื่อ 10 ก.พ. 2564
ปัญหาแรกที่พบพิรุธ คือ ผู้รับจ้างก่อสร้างในนาม กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ITD-CREC) ซึ่งมีบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในผู้รับเหมาหลักจากประเทศจีน จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยในพ.ศ. 2561 ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ สถานที่ทำการ ทางรถไฟ ทางรถสาธารณะ ทางรถไฟฟ้าใต้ดิน
บริษัท CREC No.10 ประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นใหญ่สุดคือ CREC No.10 จากประเทศจีน ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ จำกัด (CREC) รัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งมีประวัติการทำงาน ด่างพร้อย ร้ายแรง เช่น โครงการสร้างสะพานซิกิริ สะพานมิตรภาพ จีน-เคนยา ที่พังถล่ม เมื่อ 26 มิ.ย. 2560 ระหว่างก่อสร้าง และ คดีพัวพันกับการทุจริตและการฮั้วประมูลโครงการรัฐในเปรู จนถูกระงับโครงการใน พ.ศ. 2566 จนทำให้ บริษัทCREC และบริษัทในเครือ ถูกขึ้นบัญชีดำของธนาคารโลก ใน พ.ศ. 2562
ถึงจะมีประวัติการทำงานที่บกพร่องและมีปัญหาในต่างประเทศ แต่บริษัท CREC กลับได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐของไทย และรับงานจากหลายหน่วยงาน ระหว่างพ.ศ. 2562-257 มากถึง 29 สัญญา ผ่านการเป็น 11 กิจการร่วมค้าและบริษัทในเครือข่าย จำนวนหลายโครงการ เช่น โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยลงนามในสัญญาโครงการเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2566 ร่วมกับ บริษัท ITD และ CREC No.10
นอกจากนี้ยังมี โครงการก่อสร้างต่างๆทั่วประเทศเช่น สร้างอาคารหอพักบุคลากรทางการแพทย์ เชียงราย, ศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ ที่ ต.น้ำชำ, อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนราธิวาส, อาคารศูนย์ฝึกกีฬามวยมาตรฐานระดับสากล สนามกีฬาหัวหมาก, อาคารที่ทำการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จ.นนทบุรี,และการสร้างถนนอีกหลายสาย
2. นอมินีและฮั้วประมูล
นอกจากนี้ยังพบปัญหาการใช้นอมินี เพื่อจัดตั้งบริษัท และ อาจจะเข้าข่ายฮั้วประมูล โดยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 รองผู้ว่า สตง. เข้าชี้แจงแทน กมธ. กิจการงบประมาณฯ และกมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ ฯ ที่รัฐสภา ว่า เข้าใจว่าผู้ดำเนินการก่อสร้างเป็นบริษัท ITD เป็นหลัก ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล แต่ไม่ใช่บริษัท CREC No.10 ที่เข้ามาก่อสร้าง และยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างยึดหลักกฎหมาย
ข้อสงสัย เรื่องฮั้วประมูล มาจากการที่บริษัท CREC No.10 ประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นใหญ่สุดคือ CREC No.10 จากประเทศจีน เป็นสัดส่วน 49% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ต่างชาติถือ ส่วนผู้ถือหุ้นไทย มีนายโสภณ มีชัย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดในผู้ถือหุ้นไทยซึ่งคือ 40.80% จำนวน 407,997 หุ้น และเป็นกรรมการร่วมกับนายชวนหลิง จาง (Mr. Chuanling Zhang) ซึ่งเป็นบุคคลเพียง 1 ราย ที่ถือหุ้นในสัดส่วนของชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีผู้ถือหุ้นชาวไทย คือนายประจวบ ศิริเขตร ถือหุ้น 10.20% และนายมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้นเพียง 3 หุ้น
จากการตรวจสอบ พบว่า รายชื่อกรรมการของ บริษัท CREC No.10 ถือหุ้นในอีกหลายบริษัท มีเพียง นายชวนหลิง จาง ไม่มีประวัติการถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ขณะที่ นายโสภณ เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นอีกหลายบริษัทในประเทศไทย เช่น บริษัท ไซเบอร์ เทเลคอม จำกัด ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์เครือข่าย โดยถือหุ้น 60 % , เป็นกรรมการบริษัท ไฮห่าน จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยถือหุ้น 51 % และ เป็นกรรมการ บริษัท เอที แคปปิตอล โซลูชั่น จำกัด เคยถือหุ้น 60 %
เข่นเดียวกับ นายมานัส ศรีอนันท์ ผู้ถือหุ้น 10.2 % ของ CREC No.10 (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า เป็นกรรมการในอีก 11 บริษัท เช่น บริษัท สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีนายโสภณ เป็นผู้ถือหุ้น ด้วย และมีที่ตั้งบริษัทเดียวกับบริษัท CREC No.10 ประเทศไทย
จากการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พบว่า ทั้ง 3 หุ้นส่วนคนไทย นายโสภณ มีชัย, นายประจวบ ศิริเขตร, นายมานัส ศรีอนันท์ มีสถานะทางเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับการถือหุ้น และไม่เคยทำงานเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
- นายโสภณ มีรายได้ประมาณ 10,000 บาท/เดือน
- นายประจวบ ประกอบอาชีพรับจ้างก่อสร้างรายได้ 10,000 บาท/เดือน
- นายมานัส ประกอบอาชีพรับจ้างส่งของ-ยกของ มีรายได้รายวัน
และกล่าวได้ว่า บริษัทไชน่า จดทะเบียนเป็นกิจการร่วมค้า โดยมีเจตนาประมูลโครงการภาครัฐถึง 11 กิจการร่วมค้า และได้รับการประมูลโครงการของภาครัฐไปแล้ว 25 โครงการ และยังใช้ที่ตั้งร่วมกับนิติบุคคลอื่น ๆ อีก 10 บริษัท และมีชาวไทยถือหุ้นในเครือบริษัทไชนา เรลเวย์ อีก 21 นิติบุคคล แต่มีสถานะไม่เหมาะสม และ ประกอบธุรกิจที่อาจจะมากกว่า 21 นิติบุคคล ซึ่งไม่สอดคล้องกับการทำธุรกิจ และสถานะทางเศรษฐกิจ
มีข้อสังเกตว่า การกระทำของบริษัท CREC No.10 ประเทศไทย อาจมีความผิด ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่ห้ามต่างด้าวประกอบธุรกิจบางประเภท โดยเฉพาะการทำก่อสร้าง แม้นิติบุคคลต่างด้าวถือหุ้นไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แต่หุ้นส่วนคนไทยที่เกินกึ่งหนึ่ง ถูกตั้งคำถามว่า อาจเป็นการถือหุ้นที่แท้จริงหริอไม่ หรือ เป็นการถือหุ้นโดยอำพราง หรือ นอมินี
และในวันที่ 19 เม.ย. 2568 ดีเอสไอนำหมายจับในความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ในข้อหานอมินี เข้าจับกุม นายชวนหลิง จาง กรรมการผู้ถือหุ้น 49 % และออกหมายจับกรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยอีก 3 คน ในข้อหาเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือ คดีนอมินีบริษัททุนจีน โดยเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งติดตามจับกุมตัว
ส่วนความผิดอื่นๆที่พิจารณาควบคู่ไปด้วยคือ ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ “พ.ร.บ. ฮั้วประมูล” เพราะการฮั้วทำได้ในหลายลักษณะ เช่น ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม การสมยอมราคา การตรวจคุณสมบัติไม่เป็นไปตาม TOR การล็อกสเปก TOR เสนอราคาให้ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ต่ำกว่าราคาทุน
3. มาตรฐานวัสดุอุปกรณ์และแบบก่อสร้าง
นอกจากปัญหาการใช้นอมินี และการฮั้วประมูล ยังพบว่า ปัญหามาตรฐานวัสดุ อุปกรณ์ และแบบก่อสร้าง ที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจเป็นต้นตอของการถล่ม โดยตั้งข้อสังเกตว่า ปล่องลิฟต์ ซึ่งเป็นจุดแรกที่ถล่มขณะเกิดแผ่นดินไหว อาจจะเป็นปัญหาเรื่องของการออกแบบ เพราะการก่อสร้างปล่องลิฟท์เป็นเสมือนกระดูกสันหลัง ที่มีส่วนต่อการรับแรงแผ่นดินไหว จึงต้องมีความแข็งแรงอย่างมาก แต่ในระหว่างการก่อสร้างปล่องลิฟต์ได้ถูกแก้ไขผนังคอนกรีตเสริมเหล็กรับแรงเฉือน (Shear Wall) ให้บางลงเป็น 25 ซม. จาก 30 ซม. ซึ่งอาจกระทบโครงสร้างหลักทำให้ไม่สามารถรับแรงบิดจากการโยกตัวอาคาร นำไปสู่การถล่มของตึกสตง.
นอกจากนี้ยังพบปัญหาเหล็กไม่ได้มาตรฐาน โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร่วมกับหัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย, และนักวิชาการตรวจสอบคุณภาพเหล็กเส้น 22 ท่อนจากซากอาคาร พบว่า ร้อยละ 10 ไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม มากไปกว่านั้นบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ผู้จัดหาเหล็ก กรมสรรพากรพบว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายรัษฎากร เรื่องการใช้ใบกำกับภาษีปลอมด้วย และจากเอกสารที่รองผู้ว่าฯ ชี้แจงต่อ กมธ. เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2568 ที่อาคารรัฐสภา มีเอกสารแก้ไขแบบก่อสร้าง อาคารที่ถล่ม ทั้งเหล็ก,เหล็กข้ออ้อย,คอนกรีต,ปล่องลิฟต์,ผนังลิฟต์,พื้น,เสา ขอแก้ไขโครงสร้างหลักทั้งตึก
4. การปกปิดข้อมูล
การปกปิดข้อมูล และเอกสารการก่อสร้างกลายเป็นปัญหาที่น่าสงสัย โดยในวันที่ 29 มี.ค.หลังตึกถล่ม 1 วัน ได้มีชายชาวจีน 4 คนเป็นพนักงานรายย่อยของผู้รับเหมาในเครือบริษัทอิตาเลียนไทย เข้าไปลักลอบขนเอกสาร ออกจากด้านหลังของอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งๆที่พื้นที่เกิดเหตุนั้นเป็นเขตพื้นที่สาธารณภัยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเป็นพื้นที่หวงห้าม บุคคลผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ได้รับอนุญาต ไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่ได้
จากการจับควบคุมตัวชายชาวจีน 4 คนพบว่า ได้มีการลักลอบนำเอกสาร เช่น เอกสารผู้รับเหมาก่อสร้าง , สำเนาอาร์เอฟไอ , เอกสารที่เกี่ยวข้องกับคำชี้แจงหนังสือแจ้งให้ตรวจสอบงานทั่วไป , เอกสารขอความคิดเห็นและทำการชี้แจงเอกสารผู้รับเหมา , เอกสารผู้รับเหมาเช่าช่วงและเอกสารเกี่ยวกับผู้รับเหมา , เอกสารงานวิศวกรรมระบบไฟฟ้าและขนส่ง
นอกจากนี้ข้อมูลทั้งหมดที่ CREC เคยเผยแพร่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง ทั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ภาพการดำเนินการก่อสร้าง หรือข้อความแสดงความชื่นชมในผลงานบริษัทจีนบนหน้าสื่อจีน ได้ถูกลบออกจากแพลตฟอร์มออนไลน์ของบริษัททันที ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ ในโซเชียลมีเดียของบริษัทได้ประกาศว่า โครงการก่อสร้างนี้ เป็นผลงานที่บริษัทภาคภูมิใจ เป็นผลงานแสดงศักยภาพของวิศวกรรมจีนในตลาดต่างประเทศสากล และเรียกโครงการนี้ว่า “นามบัตรใบแรกของ CREC ในประเทศไทย
และเฟซบุ๊กของสตง. ที่เคยเผยแพร่คลิป ผู้บริหารของ สตง. ขณะนั้น ร่วมแสดงความยินดีและลงนามการก่อสร้างอาคารสตง. ซึ่งมีบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ร่วมอยู่ด้วย ก็ถูกลบออกไปเช่นกัน
5. ออกแบบหรูหราฟุ่มเฟือย-ราคาแพง
ส่วนการจัดซื้ออุปกรณ์และตกแต่งภายในอาคารยังพบปัญหาทั้งความหรูหราฟุ่มเฟื่อย และมีราคาแพงง โดย จัดซื้อโทรศัพท์แบบอะนาล็อกจำนวน 2,000 เครื่อง ด้วยงบประมาณกว่า 13.6 ล้านบาท เนื่องจากซื้อในราคาเครื่องละ 6,800 บาท ขณะที่ตามท้องตลาดราคาเครื่องละ 1,000 กว่าบาท และส่วนราชการเองก็จัดซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่และสมาร์ทโฟนใช้เป็นเรื่องปกติกันแล้ว ในพ.ศ.ที่มีการจัดซื้อ (พ.ศ. 2563)
ขณะที่เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งภายใน มีราคาสูงเกินจริง รวมถึงทั้งห้องผู้บริหาร “หรูหรา” เกินไป เช่น เก้าอี้หนังจากอิตาลีสำหรับห้องประชุมพิธีการ ในราคาตัวละ 97,900 บาท พรมไนลอนสำหรับห้องรับรองชั้น 3 มีราคา 165,000 บาท กล้อง CCTV ที่แพงเกินจริงในราคาตัวละ 28,050 บาท ขณะที่กล้อง CCTV ตามท้องตลาด ตัวละ 2,450 บาท ฝักบัวที่สั่งซื้อ มีราคาหน่วยละ 11,214 บาท หากแต่ว่าราคาจริงตามร้านค้าอยู่ที่ 1,713 บาท เท่านั้น เท่ากับว่าฝักบัว 1 หัวมีส่วนต่างหัวละเกือบ 9,500 บาท
นอกจากนี้ตามแบบแปลน อาคารแห่งนี้จะมีห้องบอลรูมขนาดใหญ่ หรูหรา มีห้องที่เป็นลักษณะคล้ายโรงภาพยนตร์ มีจุดสำหรับอาบน้ำมากกว่า 40 จุด และมีชั้น 1 ทั้งชั้นของอาคาร เป็นพื้นที่ขอวประธานกรรมการสตง.และผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง 7 คน ที่มีห้องน้ำส่วนตัว ห้องแต่งตัว ห้องกินข้าว ห้องรับรอง
6. ปลอมแปลงเอกสาร ลายมือลงนาม
จากเอกสารรายงานของสตง. ที่ชี้แจงต่อ กมธ. เกี่ยวกับขั้นตอนการก่อสร้าง ประกอบไปด้วยวิศวกรทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ วิศวกรบริษัทผู้รับเหมา วิศวกรบริษัทผู้ออกแบบ และ วิศวกรบริษัทควบคุมงาน ซึ่งมีชื่อและลายเซ็นรับรองร่วมกันของทั้ง 3 ส่วน ทว่าหนึ่งในผู้ควบคุมงานได้แจ้งความกับตำรวจ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ลงนามในเอกสารให้ปรับแก้การออกแบบอาคาร หากแต่เป็นการแอบอ้างชื่อในเอกสารแก้ไขแบบ ปลอมลายมือลงนาม
อย่างไรก็ตามผู้ที่อนุมัติแก้แบบไม่ใช่วิศวกรคุมงาน เพราะเป็นผู้เสนอความเห็นเท่านั้น ผู้ที่มีอำนาจอนุมัติคือคณะกรรมการตรวจรับงานพัสดุในงานจ้างก่อสร้าง ซึ่งมีรองผู้ว่าฯ เป็นประธานกรรมการ
ขณะเดียวกัน DSI เปิดเผยว่า ในเอกสารของ สตง. มีรายชื่อวิศวกรผู้ควบคุมงาน 51 คน ในจำนวนรายชื่อนี้เป็นการแอบอ้างนำชื่อไปใช้ในโครงการเท่านั้น และมีการเกณฑ์วิศวกรจำนวนหนึ่งไปถ่ายรูปกับตึกเพื่อให้ดูเหมือนว่ามีการควบคุมงานจริง
รศ.เอนก ศิริพานิชกร กรรมการสภาวิศวกร และประธานคณะอนุกรรมการ สาขาวิศวกรรมโยธา สภาวิศวกร และในฐานะผู้เชี่ยวชาญร่วมตรวจสอบตึก สตง. ถล่ม กล่าวว่า ในช่วง 3 -4 ปีที่ผ่านมา มีวิศวกรออกแบบโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ รับงานลงนามรับรองออกแบบก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 5 คน ส่วนค่าจ้างที่จะได้รับตั้งแต่ 30,000-50,000 บาทต่อโครงการ ปีเดียวมีรายชื่อวิศวกรคนเดียวเซ็นรับรอง 30-40 โครงการ พอสอบข้อเท็จจริงก็อ้างว่าเป็นวิธีการยังชีพ ส่วนโทษของวิศวกร คือถอนใบอนุญาตวิชาชีพ
7. ขาดความมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม
โครงการนี้ไม่ได้ให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มีส่วนร่วมแต่แรก เพราะไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐให้เข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรม เพียงเเต่ได้รับเชิญภายหลัง ซึ่งตามปกติโครงการจะเปิดให้ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่การเขียนข้อกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) หลังจากลงนามสัญญาจ้างก่อสร้าง เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 จึงได้ลงนามข้อตกลงคุณธรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภายหลังเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564
จากหลายพิรุธและการตรวจสอบอาจได้คำตอบสาเหตุตึกถล่มครั้งนี้ว่า ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยแผ่นดินไหว แต่อาจมาจากความผิดพลาดและทุจริตในการก่อสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดขึ้นกับตึกสตง. ที่มีภารกิจตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้มั่นใจว่างบประมาณแผ่นดินถูกนำไปใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย