เหตุการณ์ตึก สตง ทำให้เรารู้อะไรเพิ่มเกี่ยวกับทุนจีน
ตัวเลข 51% และ 49% กลายเป็นตัวเลขที่ผู้คนจับตามอง นี่คือตัวเลขสำหรับการจดทะเบียนธุรกิจภายใต้บริษัทสัญชาติไทย โดยกำหนดว่าจำเป็นต้องมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยเป็นสัดส่วนใหญ่ที่ 51% และอนุญาตให้ต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นได้จำนวนสูงสุดที่ 49%
ประเด็นเดิม ๆ ที่ร้อนแรงมากขึ้นคือ ธุรกิจนอมินี และ ธุรกิจจีนศูนย์เหรียญ ธุรกิจนอมีนี้ คือการที่คนไทยถือหุ้นในเพียงแค่ในนาม แต่ไม่มีอำนาจต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ ส่วนธุรกิจจีนศูนย์เหรียญหมายถึงการที่ทุนจีนเข้ามาสร้างธุรกิจแบบครบวงจร ทำให้การซื้อของ การใช้จ่ายไม่หมุนเวียนไปถึงเศรษฐกิจไทย
รายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ระบุผู้ถือหุ้นชาวไทยของบริษัท China Railway No. 10 หรือ CREC 10 นั้นไม่อยู่ในฐานะที่สอดคล้องกับผู้ถือหุ้นตัวจริง ซึ่งการสอบสวนยังแสดงให้เห็นว่าผู้ถือหุ้นคนไทย 3 คนนี้ยังถือหุ้นบริษัทในเครือทุนจีนอื่น ๆ อีกหลายแห่ง และการจากเหตุการณ์ตึกถล่มแสดงให้เห็นว่ามีการใช้เหล็กจากโรงงานจีนซิงเคอหยวนที่ตั้งอยู่ในไทย และชี้ให้เห็นว่าอาจเป็นการดำเนินธุรกิจก่อสร้างแบบธุรกิจจีนศูนย์เหรียญหรือไม่
ที่เราควรตั้งคำถามคือ ถ้าเป็นทุนจีนแบบธุรกิจผิดกฎหมายจริง ทำไมทุนจีนถึงเข้ามาในไทยได้มากมายขนาดนี้
ทำไมต้องทุนจีน (อะไรเป็นแรงจูงใจ แรงดึงดูด)
ปัจจัยผลักดัน (Push Factor) ที่ทำให้จีนหันมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นเพราะ
- เศรษฐกิจในจีนเกิดการชะลอตัว การลงทุนภาคเอกชนในประเทศน้อยลง ประชากรในประเทศไม่มีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย หรือ Consumer Confidence ที่ลดลง ซึ่งความเชื่อมั่นนั้นยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติตั้งแต่เหตุการณ์ Covid-19
- ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้างขนาดใหญ่โดนผลกระทบหนัก เนื่องจากราคาอสังหาริมทรัพย์ตกลงอย่างมากจากความนิยมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง เหตุนี้ส่งผลให้ผู้รับเหมาชาวจีนจึงหันมารับงานก่อสร้างต่างประเทศมากขึ้น ทั้งในรูปแบบกิจการร่วมการค้า (Joint Venture) และมาเป็น Sub-Contract ของบริษัทรายใหญ่อีกทีหนึ่ง เพื่อเป็นการสร้างชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในประเทศนั้นๆ โดยกลุ่มผู้รับเหมาอาจดำเนินธุรกิจในรูปแบบครบวงจรที่มีการใช้วัสดุก่อสร้างราคาต่ำจากจีนด้วยต้นทุนที่ถูกลง และอาจยังมีการใช้แรงงานจีนอีกด้วย
- ในส่วนของภาครัฐ จุดโฟกัสของการลงทุนรัฐบาลจีนตอนนี้มุ่งเน้นที่ไปอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง แต่ทว่าส่วนนี้ยังนับเป็นส่วนน้อยของ GDP ประเทศ จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศมีการลงทุนจากภาครัฐที่น้อยลง นอกจากนี้รัฐบาลท้องถิ่นมีข้อจำกัดทางการเงิน ส่งผลให้การสร้างสาธารณูปโภคชะลอตัวอีกด้วย
ในส่วนของ Pull Factor ประเทศไทยมีปัจจัยหลายอย่างที่ดึงดูดทุนจีนเข้ามา อาทิเช่น
- ทำเลของไทยที่อยู่ใจกลางประเทศเขตอาเซียน ASEAN ทำให้จีนสามารถเข้ามาอยู่ใกล้ตลาดอาเซียนได้มากขึ้น และทำการค้าขายกับประเทศอื่นๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ความตึงเครียดต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกกับฝั่งประเทศตะวันตกทำให้จีนต้องมองหาและพึ่งพาตลาดใหม่
- ระบบสาธารณูปโภคในภาคอุตสาหกรรมของไทยถือว่ามีความครบครัน โดยเฉพาะการตั้งเขตพัฒนาพิเศษ Eastern Economic Corridor (EEC) ใน 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย โดยรัฐบาลไทยเองมีความต้องการให้เขต EEC เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเชื่อมโยงกับจีนที่ต้องการปรับตัวเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงต่าง ๆ และจุดแข็งของสาธารณูปโภคในไทยอีกอย่างคือ Digital Infrastructure หรือการเข้าถึงและเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ตที่ทั่วถึง
- รัฐบาลไทยมีมาตราการชัดเจนในการสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนของรถยนต์ EV ที่มี BOI ช่วยส่งเสริมด้านใบอนุญาต และเพราะประเทศไทยมีความต้องการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตราการการสนับสนุนการผลิตและใช้รถยนต์ EV จึงเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน
กฎหมายเอื้อให้จีนเข้ามา
สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น การยกเว้นด้านภาษี เช่นการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักร การยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก เป็นต้น นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้น 100% อนุญาติให้ต่างชาติครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน และอนุญาติให้แรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงาน เพราะฉะนั้นโรงงานจีนสามารถเข้ามาตั้งฐานได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
ข้อตกลง Visa Free ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวจีนเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้คนจีนลักลอบมาเป็นแรงงานผิดกฎหมายเนื่องจากมีการตรวจสอบที่น้อยลง หน่วยงานภาครัฐระบุว่าเจอแรงงานจีนผิดกฎหมายอย่างต่อเนื้อง กรมจัดหางานรายงานว่าแรงงานจีนผิดกฎหมายนั้นมักจะอยู่ในธุรกิจงานบริการ ร้านอาหาร ก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นการเข้าข่ายแย่งอาชีพคนไทย
ตัวอย่างทุนจีนที่เข้ามา
ธุรกิจยานยนต์ EV เป็น หนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ EV ไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ณ ปัจจุบันมีโรงงานรถยนต์ EV จากจีนมาผลิตในไทย ยกตัวอย่างเช่น GMW, BYD, GAC AION, ChangAn และ Neta รัฐบาลไทยมีความคาดหวังว่าการเข้ามาของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV จะช่วยยกระดับทักษะความรู้ให้แรงงานไทยและเสริมสร้างการจ้างงานที่มากขึ้น รวมไปถึงกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยหลาย ๆ บริษัทแสดงถึงแนวทางที่จะใช้และพัฒนาชิ้นส่วนในไทยจาก local supplier
BOI ระบุไว้ในเงื่อนไขการผลิตรถ BEV ว่าต้องมีการร่างแผนพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ โดยบริษัทที่ผลิตต้องมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นเป็นส่วนมาก (51%) และต้องมีการให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและเทคนิค นอกจากนี้มีข้อเสนอเขียนไว้ว่าถ้าบริษัทมีแผนพัฒนาบุคลากร เช่นการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาให้นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้งานจะสามารถได้สิทธิประโยชน์ที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามนี่เป็นแรงจูงใจแต่ไม่ใช้การบังคับใช้
ทั้งนี้เราควรเฝ้าจับตาดูอุตสาหกรรม EV ว่าโรงงาน EV จะเป็นธุรกิจศูนย์เหรียญหรือไม่ และจะมีการใช้และสนับสนุน local supplier แค่ไหน เพราะมีข้อมูลว่ามีการใช้แรงงานจีนที่มากผิดปกติในเขตพื้นที่ EEC
จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 25 มีนาคม ส.ส. สิทธิพล พรรคประชาชน รายงานว่าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ EEC มีโรงงานจีนและแรงงานจีนเยอะในปริมาณที่ผิดปกติ จึงตั้งข้อสงสัยว่าเป็นแรงงานผิดกฎหมายหรือปล่าว การมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานนั้นไม่ผิด แต่แรงงานที่เข้ามาต้องเป็นแรงงานทักษะสูง
ข้อกำหนดของ EEC Visa จะอนุญาตให้วีซ่าแรงงานต่างชาติแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.) Specialist ผู้เชี่ยวชาญจบ ป.โท และมีประสบการณ์ 3 ปี 2.) Executive ผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจ และ 3.) Professional หรือผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยแรงงานที่เข้ามาต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะที่แรงงานไทยไม่มี เพื่อให้นำความรู้และทักษะเข้ามาสอนแรงงานไทย เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ เช่นอุตสาหกรรม AI หุ่นยนต์ หรือ EV
BOI ให้ข้อมูลว่ามีผู้ชำนาญการต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยขอใช้สิทธิไม่มาก คือประมาณ 3.6% ในบริษัทหรือเทียบเท่าประมาณ 3-4 คน ในบริษัทที่มีพนักงาน 100 คน นอกจากนี้กระทรวงแรงงานแจ้งว่ามีจำนวนแรงงานจีนในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด ทั้งหมดประมาณ 9,000 คน ซึ่งไม่คล้องจองกับสิ่งที่คนพื้นที่พบเจอ
ส.ส. สิทธิพล แสดงให้เห็นว่าในบริเวณพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมยังมีการสร้างธุรกิจแบบครบวงจร เช่นซุปเปอร์มาเก็ตจีน ร้านอาหารจีน และอพาทเม้นท์ที่พักสำหรับคนจีน เป็นต้น โดนที่พักนั้นมีหลายโครงการและในแต่ละโครงการมีหลายพันคนอาศัยอยู่ ซึ่งถ้าดูจากจำนวนห้องพักจากการลงสำรวจตึกที่พักใน 4 ที่แล้ว จะสามารถประเมินได้ว่ามีคนจีนอาศัยอยู่รวมทั้งสิ้น 23,973 คน ซึ่งตัวเลขนี้ไม่สอดคล้องกับตัวเลขที่ทางกระทรวงแรงงานรายงานไว้
ด้วยเหตุนี้เองจึงเชื่อมโยงต่อรายงานจากคนไทยในพื้นที่ที่แจ้งว่ามีแรงงานจีนทักษะธรรมดาทำงานอยู่ในโรงงานอีกจำนวนเยอะ ซึ่งเป็นการแย่งอาชีพคนไทย หากเป็นอย่างนี้จริงแสดงว่าพื้นที่ที่รัฐแต่งตั้งให้ต่างชาติมาลงทุนนั้น เกิดความไม่รัดกุมในเชิงกฎหมายและบังคับใช้หรือปล่าว
ช่องโหว่ของกฎหมายไทย
เราควรตั้งข้อสงสัยต่อรัฐบาลและการควบคุมกฎหมายเหตุการณ์ต่าง ๆ
China Railway No. 10 ทำให้เห็นการกระทำผิดกฎหมายและข้อบกพร่องของหน่วยงานรัฐหลายอย่าง เช่น มีการจดทะเบียนบริษัทอย่างผิดกฎหมาย เราควรย้อนถามถึงขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทว่ามีการตรวจสอบหุ้นส่วนแต่ละรายเพื่อความโปร่งใสและถูกต้องหรือไม่ และทำไมเราถึงมีบริษัทที่มีการจดทะเบียนผิดกฎหมายสามารถเข้าร่วมการประมูลและดำเนินสร้างโครงการรัฐได้อย่างมากมาย
อีกทั้งยังมีเคสที่บริษัทในเครือของ China Railway มีการทำทุจริตและดำเนินการไม่เหมาะสมจนโดนแบนจากธนาคารโลกเป็นเวลา 2 ปี เคสรุนแรงแบบนี้ควรจะอยู่ในขั้นตอนตรวจประวัติและพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทที่จะประมูลและรับโครงการรัฐไหม
BOI และ EEC Visa ต่างอำนวยความสะดวกและเป็นประตูให้ต่างชาติทักษะสูงเข้ามาทำงานได้ แต่ทว่าการเข้ามาของแรงงานผิดกฎหมายผ่านช่องทางวีซ่าฟรีนั้นยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ และมีแนวโน้มที่จะมีมากขึ้นหากรัฐไม่ลงมือบังคับการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
ทั้ง BOI, EEC และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรมีมาตราการตรวจที่เข้มข้นขึ้น เช่นมีการตรวจสอบเชิงลึกว่าบริษัทต่าง ๆ นั้นมีการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ สัดส่วนแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติเป็นอย่างไร และถ้าเจอการกระทำผิดกฎหมายควรดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด รัฐบาลเองท้องถิ่นต้องให้ความร่วมมือคอยจับตามองพฤติกรรมของทุนต่างชาติที่เข้ามาว่ามีแนวโน้มจะดำเนินการเป็นธุรกิจจีนศูนย์เหรียญหรือไม่ สิ่งสำคัญคือข้อมูลเหล่านี้ควรเป็นชุดข้อมูลที่โปร่งใสและประชาชนต้องเข้าถึงได้
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ผลกระทบเชิงบวกที่ทุนจีนเข้ามาอย่างถูกกฎหมายคือควรจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้เชิงลึก เช่นการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากนี้การเข้ามาจัดตั้งบริษัทจากต่างประเทศควรนำพามาสู่การจ้างงานแรงงานไทยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับแรงงานไทยให้เป็นแรงงานขั้นสูงขึ้น และควรจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นในบริเวณพื้นที่โดยรอบอีกด้วย
ในทางกลับกันถ้าเป็นการลงทุนแบบผิดกฎหมาย เศรษฐกิจไทยอาจจะไม่ได้รับอะไรเลย เพราะเม็ดเงินจะหมุนเวียนแต่ในทุนจีน นอกจากนี้หากไม่มีการจ้างงานคนไทยหรือถ่ายทอดความรู้เท่าที่ควรจะเป็น ก็จะไม่ส่งผลดีให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะสุดท้ายแล้วแรงงานไทยคือแรงงานหลักของชาติและไม่ควรพึ่งพาต่างชาติเสมอไป
รัฐบาลต้องช่วยดูแลความสมดุลของการเข้ามาของทุนจีนและการสนับสนุนธุรกิจภายในประเทศ เพื่อไม่ให้ธุรกิจไทยโดนเอาเปรียบและป้องกันการเข้ามาของแรงงานผิดกฎหมาย รัฐควรมีการตรวจสอบที่รัดกุมมากขึ้นและบังคับการใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
ภาครัฐตามไม่ทันทุนจีน กระทบหนักคนไทย